“ธรรมะข้อที่ช่วยให้ผ่านเรื่องนี้มาได้ หลักๆ คือ อุเบกขา และเมตตา อุเบกขาคือการวางเฉย เมตตาคือการอโหสิกรรม สองข้อนี้ทำให้ผมรู้เลยว่าธรรมะที่ปฏิบัติมาตลอด 6 ปีได้ผล เพราะผมไม่เคยโกรธบุคคลที่กล่าวร้ายผมเลยแม้แต่นิดเดียวจากใจ และอโหสิกรรมให้ เมื่อไหร่ที่เรารู้จักให้อภัย ชีวิตเราก็จะไม่ทุกข์” “สืบศักดิ์  เอี่ยมวิจารณ์” ผู้ว่าราชการจังหวัดแม่ฮ่องสอน “สยามรัฐสัปดาหวิจารณ์” มีโอกาสได้สนทนา เพื่อเปิดใจ “สืบศักดิ์ เอี่ยมวิจารณ์” ผู้ว่าราชการจังหวัดแม่ฮ่องสอน หลังผ่านพ้นมรสุมครั้งสำคัญของชีวิต มาได้ โดยเขาเองเป็นผู้บริสุทธิ์ พ้นจากข้อครหาที่มีชื่อเข้าไปเกี่ยวพันกับคดีซื้อบริการเด็ก ที่จังหวัดแม่ฮ่องสอน สืบเนื่องจากถูกนำชื่อไปแอบอ้างในการกระทำความผิด แต่กว่าที่ “ความจริง” จะปรากฎ ปฏิเสธไม่ได้ว่าสืบศักดิ์ และครอบครัวต่างต้องเผชิญหน้ากับมรสุมชีวิตครั้งใหญ่ ทั้งนี้มีแต่ “สติ” และ “ธรรมะ” เท่านั้นที่เป็นเครื่องยึดเหนี่ยว จนมาสู่วัน “ฟ้าหลังฝน” ได้ในที่สุด - ช่วยเล่าย้อนตั้งแต่เกิดเหตุการณ์ว่าทั้งตัวเองและครอบครัวต้องเจอกับอะไรบ้าง และผ่านจุดนั้นมาได้อย่างไร เรื่องที่เกิดขึ้น แรกๆ ผมก็ขำ แต่คนรอบข้างไม่ขำ เขาก็บอกว่ามันเป็นเรื่องเป็นเรื่องตายขำได้อย่างไร ผมก็บอกเขาไปว่าก็ผมไม่ได้ทำ แต่คนเราคิดไม่เหมือนกัน เราต้องมีสติ ถึงเราอาจจะไม่ได้ทำ แต่เราอาจผิดก็ได้ เพราะปัจจุบันคนที่ไม่ได้ทำ แต่กลายเป็นคนผิดก็มีอยู่มาก เมื่อคิดได้หลังจากนั้นก็เริ่มไม่ขำ แล้วก็ดึงสติกลับมา ต้องหาข้อมูล หาหลักฐาน ถ้าถามว่าทุกข์ไหม เราก็ทุกข์ เพราะทุกคนมีเรื่องให้ทุกข์ คนไม่ทุกข์ไม่มี แต่เราสามารถจัดการกับความทุกข์ได้ระดับหนึ่งตามหลักที่เราได้ศึกษาธรรมะมา ส่วนถ้าถามว่าโกรธเกลียดคนที่เข้ามาว่า มาวิจารณ์เราหรือไม่นั้น คำตอบคือเราจะไปโกรธเขาทำไม เพราะเขาก็ฟังสื่อ สื่อก็ชี้นำไปบอกเขาว่าเราผิด เขาก็เชื่อ ดังนั้นเขาจะมาเชื่อเราทำไม เขาไม่ได้เป็นญาติเรา ไม่รู้จักเรา แต่เขามาด่าเราก็แสดงว่าเขาต้องมีเหตุในการด่า เขาไปฟังคนนั้นมา คนนี้มา เราไม่มีสิทธิไปด่าเขา สื่อนี่แหละสำคัญ จะต้องแก้ไขก่อน ทุกคนต้องปรับตัวตามหลักธรรมะ คือเวรย่อมระงับด้วยการไม่จองเวร ผลเกิดจากเหตุ ทุกอย่างที่เกิดขึ้นต้องมีเหตุ ดังนั้นทุกหน่วยงานต้องไปแก้ที่เหตุ องค์กรเอกชน สื่อมวลชน องค์กรสืบสวนสอบสวน ต้องไปดูว่าเหตุคืออะไร ทำไมผู้ว่าฯ เขาถึงโดนขนาดนี้ แล้วก็แก้ไข จะไปล้างแค้นกันทำไม ถามว่าเรื่องที่เกิดขึ้นจริงหรือไม่ มันก็จริง เพราะเขาอ้างตัวเป็นผู้ว่าฯ ตั้งแต่ต้นเรื่องยันจบเรื่องผมเป็นตัวร้ายมาตลอด แต่พอผลออกมา ผมก็ได้เป็นพระเอกอย่างไรก็ดี หลังจากผลสอบออกมาว่าผมไม่ผิด แต่ก็มีบางคนที่ยังไม่เชื่อว่าผมบริสุทธิ์ แสดงว่าคนเราตรรกะการคิดสื่อมวลชนทำให้สังคมไทยเราพังไปแล้ว เพราะชี้นำเกินไป เรื่องเวลาเกิดขึ้นแล้วมันไม่ขำ มันเครียด แต่พอจบแล้วมันขำ แต่ก่อนจะขำมันเครียด ครอบครัว ลูก ภรรยาก็เครียด ทุกคนเครียดหมด แต่ทุกคนในครอบครัวเชื่อใจเรา และทุกคนในบ้านผมปฏิบัติธรรมกันทั้งหมด ดังนั้นเราจึงเครียดอย่างมีสติ เรามานั่งคุยกัน แก้ไขอย่างไร โทรคุยให้กำลังใจกันทุกวัน ผมก็ถามว่าลูกไหวไหม ถ้าลูกไหว พ่อก็ไหว ไม่ต้องห่วงพ่อ - มีการใช้ธรรมะข้อไหนในการปฏิบัติ เพื่อให้ผ่านเรื่องดังกล่าวมาได้ ธรรมะข้อที่ช่วยให้ผ่านเรื่องนี้มาได้ หลักๆ คือ อุเบกขา และเมตตา อุเบกขาคือการวางเฉย เมตตาคือการอโหสิกรรม สองข้อนี้ทำให้ผมรู้เลยว่าธรรมะที่ปฏิบัติมาตลอด 6 ปีได้ผล เพราะผมไม่เคยโกรธบุคคลที่กล่าวร้ายผมเลยแม้แต่นิดเดียวจากใจ และอโหสิกรรมให้ เมื่อไหร่ที่เรารู้จักให้อภัย ชีวิตเราก็จะไม่ทุกข์ การทำบุญทำทาน ไม่จำเป็นที่จะต้องเอาเงินไปทำอะไรกับใคร เพียงแต่การทำทานที่มีกุศลสูง สุดคือการให้อภัยทาน และอภัยทานที่มีบุญมากสุดคือการให้อภัยกับคนที่เราเกลียดมากสุด - การที่มีคำสั่งย้ายให้เข้ามาช่วยราชการชั่วคราวในกระทรวงมหาดไทยนั้น มองว่าเป็นเหตุผลหนึ่งที่อาจทำให้สังคมเข้าใจว่าเราคือผู้ที่กระทำความผิดจริงหรือไม่ การที่เราได้รับคำสั่งให้เข้ามาช่วยราชการชั่วคราวที่กระทรวงมหาดไทย เพราะขณะนั้นมันเป็นกระแสสังคม และเราเองต้องเป็นกลาง เมื่อมีคนบอกว่าเราผิด เราก็ต้องออกมาจากพื้นที่ ผมไม่โทษใคร และไม่น้อยใจ เพราะหากเราเป็นผู้บังคับบัญชา เราก็ต้องทำแบบนั้น เพื่อให้ลูกน้องเราสบายใจ เพื่อให้เขาทำงานสะดวก - ปกติปฏิบัติธรรมที่วัดไหน สถานที่ผมไปปฏิบัติธรรมบ่อยที่สุดคือมูลนิธิส่งเสริมวิปัสสนากรรมฐานในพระสังฆราชูปถัมภ์ หรือ ไทยธรรมะดอทเน็ต (thaidhamma.net) ผมไปมาทั้งหมด 9 ครั้ง ที่ผมชอบที่นี่เพราะปฏิบัติธรรม 10 วัน เขาไม่ให้ใช้เครื่องมือสื่อสารเลย มันสงบจริง ๆ อย่างไรก็ตามพระพุทธศาสนานั้นดีทุกวัด ขอเพียงแค่ให้ปฏิบัติ ธรรมะของพระพุทธเจ้า 84,000 พระธรรมขันธ์ บางคนท่องได้หมด แต่ไม่ปฏิบัติก็ไม่ได้อะไร ขณะที่เราไปปฏิบัติธรรมที่วัด เราก็ต้องนำกลับมาปฏิบัติที่บ้านด้วย เพราะการปฏิบัติธรรม ก็เหมือนแบตเตอรี่ ใช้แล้วมีหมด การฝึกจิตต้องฝึกอย่างต่อเนื่อง เหมือนการเล่นกีฬา ถ้าซ้อมปีละสองครั้งเราก็เป็นแชมป์ไม่ได้ ดังนั้นการฝึกธรรมะก็ต้องฝึกทุกวัน ผมไม่ใช่พระ ไม่ใช่ฤๅษี ผมคือคนธรรมดา ธรรมะคือศิลปะในการดำเนินชีวิต ให้อยู่ในโลกอย่างมีสติ ทำให้เราโกรธน้อยลง เกลียดน้อยลง คนชอบมองว่าเวลาเรามีธรรมะแล้วเป็นเรื่องตลก ซึ่งความจริงแล้วมันไม่ใช่ ที่โลกสับสนวุ่นวายอยู่ในปัจจุบัน เพราะคนไม่มีธรรมะ ไม่มีศีลธรรม ไม่ใช้สติ เหมือนดังที่ท่านพุทธทาสภิกขุ กล่าวว่า ศีลธรรมไม่กลับมา โลกาจะวินาศ - จุดเปลี่ยนที่หันมาศึกษาธรรมะ มีอยู่ช่วงหนึ่งผมจิตตก จึงอยากหาที่สงบ จนมาเจอกับไทยธรรมะดอทเน็ต ผมได้ไปนั่งสมาธิ 10 วัน พอ กลับมารู้สึกว่า สังคมเหมือนเดิม แต่เรากลับมีความสุขในการอยู่กับครอบครัว อยู่กับสังคมมากขึ้น เราจึงทำมาอย่างต่อเนื่อง มันทำให้จิตใจสงบ อยู่ในโลกอย่างแท้จริง - ในฐานะที่ท่านเป็นนักปกครอง หัวใจหลักของการปกครองคืออะไร หัวใจหลักในการปกครองของกระทรวงมหาดไทยคือการบำบัดทุกข์ บำรุงสุข ทำอย่างไรให้ราษฎรมีทุกข์น้อยลง ผู้ว่าราชการจังหวัดคือตัวแทนรัฐบาลกลาง ดังนั้นเราทำทุกเรื่องอยู่แล้ว อย่างเรื่องการค้ามนุษย์เราก็ทำ โดยร่วมกับหน่วยงานอื่นๆ ทั้งฝ่ายปกครอง ทหาร ตำรวจ เอ็นจีโอ องค์กรเอกชน ทุกคนร่วมมือกัน - ปกติในพื้นที่มีงานด้านไหนที่ต้องขับเคลื่อนเป็นพิเศษ ในพื้นที่เราต้องขับเคลื่อนงานทุกๆ ด้าน แต่ที่ต้องเร่งขับเคลื่อนคือ 1.งานด้านบุคคลไร้สัญชาติ ปัจจุบันในพื้นที่จ.แม่ฮ่องสอน ยังมีบุคคลไร้สัญชาติที่รอดำเนินการอีกกว่า 40,000 คน เราใช้องค์ด้านสิทธิมนุษยชนกว่า 32 องค์กรเข้ามาช่วย 2.จังหวัดแม่ฮ่องสอนมีปัญหาเรื่องที่ดินทำกิน โดยได้ร่วมมือกับทางกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อม (ทส.) ในการทำโครงการจัดที่ดินทำกินตามนโยบายรัฐบาล (คทช.) ให้ทุกอำเภอในจ.แม่ฮ่องสอน ซึ่งขณะนี้ของบประมาณได้แล้ว 3.การลงนามข้อตกลงบ้านพี่เมืองน้องกับสาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมาร์ และ4.การส่งเสริมการปลูกพืชบุก ส่วนเรื่องการค้ามนุษย์ ยาเสพติด การท่องเที่ยว เราก็ดำเนินการอยู่แล้ว - ปัญหาและอุปสรรคการทำงานในพื้นที่ ปัญหาและอุปสรรคเป็นเรื่องปกติของการทำงาน ถ้าไม่มีปัญหา เขาคงไม่ตั้งผู้ว่าฯ หรือรองผู้ว่าฯ ทหาร ตำรวจ มาทำงาน เพราะมันมีปัญหาจึงต้องตั้งให้ไปแก้ปัญหา ส่วนการกระทบกระทั่งกันก็มี แต่ก็เป็นเรื่องปกติ การทำงานอะไรที่ไม่เห็นด้วยก็ต้องพูดคุยกัน อะไรทำได้หรือไม่ได้ต้องปรึกษากัน และต้องประสานงานร่วมมือกัน เพื่อให้สังคมอยู่ได้ ซึ่งถ้าเมื่อไหร่คนมีธรรมะ ไม่เห็นแก่ตัว ทุกอย่างก็จบ แต่ปัจจุบันนี้เพราะคนไม่มีธรรมะ เห็นแก่ตัว ทำอะไรก็ไม่จบ เพราะเห็นแก่ตัว ถ้าเมื่อไหร่ที่คนเราทำงานโดยใช้ธรรมะ สังคมก็สงบ ถ้าทุกคนมีธรรมะก็ไม่ต้องปรองดองอะไรเลย - หลังจากเสร็จสิ้นภารกิจที่กระทรวงมหาดไทย จะกลับไปขับเคลื่อนงานต่อไปอย่างไร งานที่ต้องขับเคลื่อนหลังจากนี้คงต้องดูว่าปัญหาเรื่องการค้ามนุษย์มันมีข้อบกพร่อง หรือรอยรั่วตรงไหน จากเดิมเราทำอยู่แล้ว แต่เมื่อมันมีปัญหาเกิดขึ้นก็ต้องกลับไปดู เราต้องดูและแก้ไขระบบ ซึ่งถ้าเราทำดีอยู่แล้วแต่มันเกิดรอยรั่ว เปรียบเหมือนใบไม้หนึ่งใบ ทั้งใบมันจะสังเคราะห์แสงจากพระอาทิตย์ แต่เมื่อพบว่าใบไม้นั้นมีหนอนเจาะรูอยู่ การแก้ปัญหา เราก็เอาหนอนนั้นออก ใบไม้ก็ยังสามารถสังเคราะห์แสงได้ไม่ใช่ไปเด็ดใบไม้ทิ้ง หรือตัดต้นไม้ทิ้ง - สุดท้ายอยากฝากข้อคิด หรือให้กรณีนี้ เป็นตัวอย่างอะไรกับสังคม ขอให้สังคมไทยมีสติมากขึ้นกว่านี้ สติคือเวลาที่รับอะไรใส่สมอง อย่าใช้อารมณ์ หรือความรู้สึกที่ท่านมีมาตัดสิน ให้ใช้สติตัดสิน สติคือการไตร่ตรองข้อมูลทั้งหมด แล้วจึงตัดสิน ถ้าเมื่อไหร่เราใช้อารมณ์หรือความรู้สึกตัดสิน มันจะมีปัญหาทุกเรื่อง แต่ถ้าเราใช้สติ แล้วไตร่ตรองข้อมูลเราจะไม่มีปัญหา สุดท้ายนี้ผมขออโหสิกรรมให้กับทุกคนจากก้นบึ้งของหัวใจ ไม่ใช่อโหสิกรรมแต่ปาก ผมไม่มีเคลือบแคลงใดๆ ทั้งสิ้น ! เรื่อง : พัชรพรรณ โอภาสพินิจ ภาพ : สิริภูมิ ชูวงศ์ตระกูล