บรรณาลัย / โชติช่วง นาดอน เข้าจ้ำ ผอกผี “เข้า” ในที่นี้หมายถึงข้าว “เข้าจ้ำ” มีสองความหมาย คือ 1. “ข้าวผอกผี” หรือ “เข้าควดผีเข้า” 2. เป็นชื่อการละเล่นชนิดหนึ่งของเด็กๆ “สารานุกรมภาษาอีสาน-ไทย-อังกฤษ” ของ ดร.ปรีชา พิณทอง อธิบายว่า “เข้าจ้ำ 1 น. การละเล่นชนิดหนึ่ง เป็นการเล่นของเด็กๆ เด็กจำนวนตั้งแต่สิบคนขึ้นไป ปั้นข้าวเหนียวหนึ่งปั้น ยืนเป็นแถว ส่งข้าวเหนียวต่อกันไป จะส่งให้ใครก็ได้ การส่งก็ส่งโดยเร็วจนไม่สามารถตดตำได้ว่าข้าวเหนียวไปอยู่กับใคร เมื่อเห็นเป็นเวลาสมควรแล้วก็ถามว่าข้าวเหนียวอยู่กับใคร ถ้าใครตอบถูกก็ถือว่าชนะ แล้วตั้งต้นเล่นใหม่ การเล่นชนิดนี้เด็กๆ ชอบมาก เพราะเป็นการสนุกดี การเล่นชนิดนี้เรียก การเล่นเข้าจ้ำ” “เข้าจ้ำ 2 น. ข้าวผอกผี มีข้าวเหนียวหนึ่งปั้น กล้วยหนึ่งใบ ถ้ากล้วยไม่มี เอาน้ำอ้อยหนึ่งก้อนแทน เช่นเมื่อภูตผีปีศาจเข้าสิงใคร เถ้าจ้ำหรือหมอผีจะมาทำพิธีเชิญผีออก เถ้าจ้ำจะเอามือขวาจับเครื่องผอก แล้วเชิญผีออก คำเชิญว่า ‘ผีไฮ่ผีนาผีป่าผีดงผีโพงผีพรายผีเสนียดจังไฮ มึงมาฝังอยู่ในเนื้อ มึงมาเฮื้ออยู่ในคีง เชิญมึงมากินเข้ากับกล้วย กินแล้วให้มึงหยับออก บอกหนีให้มึงหนีไปก้ำตาวันตกนกเขาเขียว ผีเหลียวมาให้ตามึงแตก ไม้ค้อนเท้ากูซิเดกหัวผี’ พอพูดจบก็เอาเครื่องผอกจ้ำลงไปที่ตัวคนไข้ แล้วโยนของผอกไปทางทิศตะวันตก” ในอำเภอเวียงสา จังหวัดน่าน พบคำว่า “ข้าวจ้ำ” ข้าวจ้ำเป็นชื่อเรียกผู้คนซึ่งมีหน้าที่รับใช้และจัดการเกี่ยวกับการเลี้ยงดูปู่จา(บูชา)สังเวยผีบ้านผีเมืองของคนอำเภอเวียงสา (ดูเรื่อง – ภูมิปัญญาท้องถิ่นเวียงสา - ด้านการปกครอง เรื่อง ข้าวจ้ำหม้อหง้อน www.openbase.in.th/node/6052) น่าสังเกตว่า คำ “หมอจ้ำ” ภาษาลาวอีสาน อาจจะเกี่ยวพันกับคำ “ข้าวจ้ำ” (เข้าจ้ำ) ส่วน “วัดจะนานุกมพาสาลาว” ของสะถาบันวิดทะยาสาดสังคมแห่งชาด อธิบายว่า “เข้าจ้ำ 2 น. เข้าผอกผี , เข้าควดผีเข้า ซึ่งหมอผีปั้นเอาไปจ้ำคนผู้ที่คิดว่าถูกผีเข้า เพื่อดูว่าเป็นผีชนิดใดเข้า (ตามความเชื่อถือของคนลาวคราวโบราณ)” เข้าผอกผี ก็หมายถึงข้าวเลี้ยงผี “สารานุกรมภาษาอีสาน-ไทย-อังกฤษ” ของ ดร.ปรีชา พิณทอง อธิบายว่า “ผอก ก. เลี้ยงผีเรียกผอก เครื่องผอกผีจะเอาอะไรแล้วแต่ผีชอบ จะเป็นของคาวของหวานก็ได้ ผีที่ให้โทษให้คุณ ถ้าเราไม่ผอกมันก็จะให้โทษ ถ้าผอกเราก็ได้คุณ เด็กที่เกิดใหม่ พอล้างเสร็จ คนโบรารก็ผอกผีพรายผายผีป่า พร้อมทั้งกล่าวคำผอกว่า กูหุกกูหุก กุกกุกุกกู แม่นลูกสูเอาสามื้อนี้ กลายมื้อนี้มื้อหน้าลูกกู” “วัดจะนานุกมพาสาลาว” ของสะถาบันวิดทะยาสาดสังคมแห่งชาด อธิบายว่า “ผอก ก. ทำการเลี้ยงผี ทำการบะ(บ๋า) ไหว้วอนผีเฉพาะให้เด็กน้อยเกิดใหม่ ล้างแล้วคนโบราณก็ผอกผีพาย ผีป่า พร้อมทั้งกล่าวคำผอกว่า กูหุกกูหุก กุกกู่กุกกู่ ผีพรายเถ้า ผีเป้าตาแมว คันว่าแม่นลูกสูให้เอาไปมื้อนี้ยามนี้ กลายมื้อหน้าแม่นลูกกู” ประเพณี “ผอกผีเป้า ผีพายเด็กแรกเกิด” "ผอกผีเปา ผีพายเด็กแรกเกิด" เป็นประเพณีเกี่ยวกับความเชื่อของคนพื้นถิ่นอีสาน โดยเชื่อกันว่าเมื่อมีการให้กำเนิดเด็กจะต้องประกอบพิธี "ผอกผีเป้า ผีพายเด็กแรกเกิด" หรือเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า สิงห์เด็ก หรืออาจเรียกว่า การต้อนรับสมาชิกใหม่ของครอบครัว ซึ่งเป็นความเชื่อที่ชุมชนบ้านหัวบึง ตำบลทรายมูล อำเภอน้ำพอง จังหวัดขอนแก่น ได้ให้ความสำคัญและเชื่อว่าเมื่อได้ประกอบพิธีดังกล่าวแล้วจะทำให้เด็กคนนั้นเลียงดูง่าย ไม่งอแง เชื่อฟังพ่อแม่ สุขภาพร่างกายแข็งแรง ผู้เป็นพ่อแม่ก็สบายใจเมื่อลูกได้ผ่านพิธี "ผอกผีเป้า ผีพายเด็กแรกเกิด" ประเพณีนี้เดิมเมื่อหมอตำแยทำคลอดเด็กเสร็จก็จะทำพิธี "ผอกผีเป้า ผีพายเด็กแรกเกิด (ข้อมูลโดย : สำนักงานปลัดกระทรวงวัฒนธรรม) กลุ่มไทโย้ยเรียกพิธีกรรมข้างต้นว่า “ผอกลุกน้อย” การผอกลูกน้อย เมื่อทารกน้อยได้รับการทำความสะอาดเรียบร้อยและห่มผ้าอ้อมอย่างดีแล้ว ก็ส่งทารกให้ผู้มีอายุมากจะเป็นย่าหรือยายก็ได้ ผู้ที่ถนัดการผอกที่สุด คือ หมอตำแย ซึ่งหมอตำแย ส่วนใหญ่จะเป็นผู้ที่มีอายุมาก จะนำกระด้งผัดข้าวที่ทำความสะอาดแล้วใบหนึ่งมาวางคว่ำที่โล่งกว้าง บนบ้าน นำผ้ามาปูกระด้งให้เรียบร้อยหมอตำแยหรือผู้มีอายุก็อุ้มขวางทารกมานั่งลงใกล้กระด้ง เสร็จแล้วนำทารกคลอดใหม่ลงนอนหันหัวไปทางทิศเหนือหรือทิศใต้ก็ได้ ส่วนคนอื่นๆ ก็นั่งล้อมกระด้ง คนผอกจะถือมีดหรือพร้า และก็จะพูดว่า “ผีนกเค้ามาฮ้องกู้กู้ คันแม่นลูกสูให้มาเอามื่อนี่ วันนีคัน กลายมือนี่ วันนี่ แม่นลูกกูเน้อ”ภาพและเรื่องจากเว็บกลุ่มชาติพันธุ์ไทโย้ย https://sites.google.com/site/thiyoy/kar-keid แต่ “ผอก” ในคำไทยภาคกลาง หมายถึง กลางวัน มีคำว่า “กินผอก” – กินมื้อกลางวัน ๐ ครั้นถึงเวลากินผอก แก้ห่อข้าวออกขมีขมัน ๐ (สังข์ทอง ร.2) “เข้าผอก” – ข้าวกลางวัน ๐ เสบียงบ้างมาไม่ทันตะวันสาย เปนเข้าผอกเลี้ยงพลที่คนพาย ๐ (คาวี กลอนอ่าน) (อ้างอิง : “รัตนมาลา” ศ.ดร.นิยะดา เหล่าสุนทร) อย่างไรก็ตาม “ข้าวผอก” ในไทยภาคกลาง น่าจะมีความหมายกว้างกว่า “ข้าวมื้อกลางวัน” คือหมายถึง การกินข้าว , ข้าวที่กิน , ข้าวเลี้ยงผี ด้วย “สมัยโบราณ ถึงเดือนสี่มีพิธีตรุษ พระสงฆ์สวดอาฏานานิย-สูตร คนเข้าใจว่าสวดไล่ผี ซ้ำยังมีการยิงปืนอาฏานา ว่าทำให้ผีตกใจวิ่งเตลิดเปิดเปิง คนเฒ่าคนแก่ต้องเอาขมิ้นกับปูนวางไว้ข้างที่นอนสำหรับผีเรือนและผีญาติพี่น้อง ที่ตกใจวิ่งหนีมาหกล้มหกลุกหัวร้างข้างแตก ใช้ทาบาดแผลแล้วตัดต้นไม้มาปักข้างบันไดต่างว่าต้นไม้ ผูกของกินกับกระบอกน้ำเล็กๆ ให้ทานพวกผีอนาถา ที่วิ่งหนีมาจนเหนื่อย ได้หยิบฉวยกินพลาง ของกินที่ผูกไว้ และกระบอกน้ำ เรียกว่า ข้าวผอก กระบอกน้ำ” (จาก “บ่ดุจบ้านเมืองเรา” โดย กิเลน ประลองเชิง ไทยรัฐ 2 ก.ค. 2553) ในภาษาไทอาหมมีคำใกล้เคียงกับ “ผอก” คือ “พอก” แปลว่า เลี้ยงอาหาร กินเลี้ยง ส่วน “ผอก” ในโคลงลิลิตพระลอว่า ๐ พระเอยอาบน้ำขุ่น เอาเย็น ปลาผอกหมกเหม็นยาม อยากเคี้ยว รุกรุยราคจำเป็น บ้างเมื่อ แคลนนา อดอยู่เยียวดิ้วเดี้ยว อยู่ได้ ฉันใด ๐ “ปลาผอก” คำนี้น่าจะเป็นคำเขมร อ่านว่า “ผะ-อก” แปลว่า ปลาร้าปลาสด ถ้าเป็นปลาร้าปลาเน่า เรียก “ผะหก”