รูปเงาแห่งเสียง / อติภพ ภัทรเดชไพศาล La La Land นครดารากับอาการโหยหาอดีต ภาพยนตร์เรื่อง La La Land หรือ นครดารา เป็นภาพยนตร์เพลง กำกับโดย Damian Chazelle เข้าฉายเมื่อปลายปี 2559 และประสบความสำเร็จเป็นอย่างสูง ได้รางวัลภาพยนตร์ยอดเยี่ยมจากงานมอบรางวัลภาพยนตร์ขวัญใจนักวิจารณ์ รางวัลลูกโลกทองคำสาขาภาพยนตร์ยอดเยี่ยม ผู้กำกับยอดเยี่ยม นักแสดงนำชายยอดเยี่ยม นักแสดงนำหญิงยอดเยี่ยม ฯลฯ เนื้อเรื่องคร่าวๆ เป็นไปตามสูตรสำเร็จของหนังเพลงหลายเรื่อง คือว่าด้วยการตามล่าความฝันของตัวละครเอกหญิงชาย โดยฝ่ายชายเป็นนักดนตรีแจ๊ซ ที่ฝันอยากจะเป็นคลับแจ๊ซเป็นของตนเอง ซึ่งจะบรรเลงเฉพาะดนตรีแจ๊ซเท่านั้น ส่วนฝ่ายหญิงอยากเป็นนักแสดง และพยายามเข้าทดสอบคัดเลือกตัวครั้งแล้วครั้งเล่า แต่ยังไม่ประสบความสำเร็จ ฝ่ายชายจึงออกความเห็นให้นางเอกเขียนบทละครเอง และนำออกแสดงคนเดียว เช่าโรงละครเองโดยไม่ต้องสนใจใคร และในขณะเดียวกันเขาก็ได้งานทำเป็นนักเปียโนในวงดนตรีป๊อป ประเภทที่เน้นผู้ฟังเป็นกลุ่มวัยรุ่น หนังแสดงให้เราเห็นอย่างชัดเจนตั้งแต่แรก ว่าพระเอกไม่ถูกใจกับการร่วมวงดนตรีวัยรุ่นนี้ และมีท่าทีเหยียดหยามต่องานที่ตนเองทำ แต่ก็จำเป็นต้องทำเพื่อหารายได้ ละครของนางเอกประสบความล้มเหลวโดยสิ้นเชิง และในวันนั้นเองทั้งสองก็ทะเลาะกัน โดยนางเอกต่อว่าว่าฝ่ายชายละทิ้งความฝัน ด้วยการไปร่วมวงดนตรีป๊อป หลงลืมเป้าหมายที่แท้จริงคือการเปิดคลับแจ๊ซไปแล้ว ขณะที่ฝ่ายชายก็โต้เถียงว่านั่นไม่ใช่เรื่องง่ายๆ และเขาเองก็กลัวว่าถ้าเปิดมันขึ้นมาจริงๆ จะมีคนมาฟังหรือไม่ ต่อมานางเอกได้รับการเรียกตัวจากผู้กำกับชื่อดัง ที่บังเอิญมาชมละครของเธอ และได้เข้าสู่วงการบันเทิงสมใจ ผ่านไปอีกหลายปี ทั้งสองคนกลับมาพบกันอีกครั้ง นางเอกแต่งงาน และมาพบว่าฝ่ายชายได้เปิดคลับแจ๊ซแล้ว สมดังที่ตั้งใจไว้ หนังเหมือนจะสรุปเรื่องตามสไตล์เดิมๆ ว่า “ความฝัน” กับ “ความรัก” นั้นไปด้วยกันไม่ได้ แต่อย่างไรก็ตาม มันก็เป็นเรื่องน่าอบอุ่น ที่สุดท้ายแล้วเราต่างไปถึงฝันของกันและกัน และได้เฝ้าดูฝ่ายตรงข้ามอย่างภาคภูมิใจ ประเด็นที่น่าสนใจสำหรับผมในที่นี้ คือการที่หนังพยายามโปรโมทดนตรีแจ๊ซแบบเก่าว่าสูงส่ง เป็นดนตรีในอุดมคติ และปฏิเสธดนตรีป๊อป (หรือกระทั่งแจ๊ซชนิดใหม่ๆ) ว่าเป็นของต่ำชั้นเป็นของสำหรับเด็กวัยรุ่นและทุนนิยม จนกระทั่งถูกเพื่อนนักดนตรีด้วยกันต่อว่า ว่าเหตุใดเขาจึงยึดติดอยู่กับดนตรีแจ๊ซแบบเก่านัก? ในเมื่อโลกมันต้องก้าวไปข้างหน้า นักดนตรีแจ๊ซที่แท้จริงต้องแผ้วถางทางเพื่อสร้างอนาคตต่างหาก ไม่ใช่ยึดติดอยู่กับอดีต แต่นั่นก็ดูเหมือนจะไม่ได้ช่วยให้พระเอกได้คิดอะไร เพราะเขาก็ยังคงยกย่องชื่นชนนักดนตรีแจ๊ซเก่งๆ และเหยีดวงการดนตรีป๊อป เขาจะยกย่องก็แต่นักดนตรีที่บรรเลงด้วยใจ ด้วยจิตวิญญาณอย่างเต็มที่โดยไม่สนใจใคร ไม่ใส่ใจว่าใครจะชอบหรือไม่ชอบเพลงของเขา ซึ่งนั่นเป็นทัศนคติแบบศิลปะบริสุทธิ์แน่ๆ ที่มองว่าศิลปะอยู่เหนือทุกสิ่งในโลกนี้ และเชื่อว่าดนตรีสามารถตัดขาดออกจากสภาพแวดล้อม แม้กระทั่งว่าตัดขาดออกจากตลาด โดยไม่สนใจผู้ฟังเลยก็ยังได้ - ถ้านั่นเป็นศิลปะที่แท้จริง ด้วยแนวคิดนี้เอง พระเอกจึงบอกให้นางเอกอย่าไปใส่ใจกับการคัดเลือกตัวแสดง แต่หันมา “สร้างงาน” ของตนเองขึ้น โดยไม่ต้องสนใจใคร (ซึ่งผลสุดท้ายคือความล้มเหลว) แต่บทหนังก็กลับยอกย้อนและอ่อนด้อย ตรงที่สุดท้ายแล้ว นางเอกก็ต้องอาศัยความชื่นชอบจากผู้กำกับอยู่ดี จึงจะสามารถเข้าวงการได้ ดังนั้น ความสำเร็จของเธอจึงไม่ได้ดำรงอยู่โดดๆ ด้วยความสามารถของเธอ แต่ยังต้อง “ถูกใจ” ยักษ์ใหญ่ในวงการด้วย ยิ่งกรณีของตัวละครเอกฝ่ายชาย ยิ่งเป็นอะไรที่ยอกย้อน ตรงที่สุดท้ายแล้วคลับแจ๊ซที่เขาฝันถึง ก็เป็นเพียงการหวนหาบรรยากาศเก่าๆ อันเป็นเครื่องหมายของการ “ไม่ยอมปรับตัว” ตามโลก แต่ดึงดันที่จะอนุรักษ์ของเก่าไว้อย่างสุดจิตสุดใจ ซึ่งข้อนี้เองกระมัง ที่เป็นจุดมุ่งหมายของหนัง เพราะหากเราพิเคราะห์บทหนัง ดนตรี และท่าเต้นในเรื่อง เราจะพบว่าเต็มไปด้วยรูปลักษณ์เก่าๆ เดิมๆ ดนตรีวนไปวนมาซ้ำๆ เนื้อหาของหนังก็เสมือนจงใจหยิบมาจากหนังเพลงเก่าๆ ที่ประสบความสำเร็จหลายเรื่องมาขยำรวมกันอย่างง่ายๆ หยาบๆ และมันย่อมลักลั่นไม่เข้ากันอย่างสุดขีด เมื่อเราพบว่านางเอกในเรื่องใช้สมาร์ตโฟน แต่ท่วงท่าเต้นรำของเธอนั้นยังคงเป็นรูปแบบเดียวกับนางเอกหนังในยุค 1960s อย่างแทบไม่ผิดเพี้ยน