เมื่อเร็วๆนี้ศูนย์ศึกษาการพัฒนาอ่าวคุ้งกระเบนอันเนื่องมาจากพระราชดำริ จังหวัดจันทบุรี ได้จัดโครงการค่ายวิทยาศาสตร์ทางทะเล เยาวชนรักษ์คุ้งกระเบน เฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช สมเด็จพระนางเจ้าฯพระบรมราชินีนาถรัชกาลที่9รุ่นที่ 9 ขึ้น โดยมีเป้าหมายเพื่อบ่มเพาะเยาวชนในจังหวัดจันทบุรี และจังหวัดใกล้เคียงให้เป็นแกนนำในการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมทางทะเล เกิดความรัก ความหวงแหน และความภูมิใจ ในทรัพยากรที่มีอยู่ในท้องถิ่นตามรอยพระยุคลบาทสืบสานพระราชปณิธาน ตลอดถึงสร้างความเข้าใจ รู้ถึงสาเหตุ และผลกระทบที่เกิดขึ้นหากมีการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติอย่างผิดวิธีอันจะนำไปสู่การแก้ไขปัญหาที่ตรงประเด็นมากขึ้นโดยร่วมศึกษาเรียนรู้ซึมซับพระราชปณิธานในการอนุรักษ์สืบสานทรัพยากรธรรมชาติ และเพื่อการจัดตั้งเครือข่ายเยาวชนอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมทางทะเลชายฝั่งในเขตพื้นที่จังหวัดจันทบุรีต่อไปในอนาคต โดยมีเยาวชนเป็นนักเรียนในระดับมัธยมศึกษาตอนต้นและตอนปลาย จากจังหวัดจันทบุรีและจังหวัดใกล้เคียง เข้าร่วมโครงการจำนวน 50 คน ในระหว่างการจัดกิจกรรมเยาวชนได้เรียนรู้เกี่ยวกับความเป็นมาและสาเหตุของการเกิดภาวะโลกร้อนที่มีผลต่อปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งในหลายพื้นที่ ทั้งชายฝั่งอ่าวไทยและอันดามันต้องประสบกับเหตุการณ์นี้มาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งวิทยากรได้มีตัวอย่างพื้นที่เกิดภาวะดังกล่าวเช่น บริเวณพื้นที่อำเภอปากพนัง จังหวัดนครศรีธรรมราช ที่เกิดเหตุการณ์คลื่นทะเลกัดเซาะชายฝั่ง ซึ่งสำนักงานคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ (สำนักงาน กปร.) ได้ร่วมกับ โครงการพัฒนาพื้นที่ลุ่มน้ำปากพนังอันเนื่องมาจากพระราชดำริ จังหวัดนครศรีธรรมราช และทางจังหวัดนครศรีธรรมราช แก้ไขปัญหาอย่างต่อเนื่องตลอดมาจวบจนทุกวันนี้ เพื่อลดผลกระทบต่อพื้นที่ทำกินของราษฎรในพื้นที่บริเวณชายฝั่งดังกล่าว ตลอดถึงการเรียนรู้สมุทรศาสตร์เกี่ยวกับการเกิด ซึนามิ (Tsunami) และ ริปเคอร์เร้นท์ (Rip current ) โดยเฉพาะริปเคอร์เร้นท์ มักเกิดขึ้นในพื้นที่ชายฝั่งทะเลอ่าวไทย ในแถบภาคตะวันออกเกือบทุกปี จนเกิดความเสียหายมากมาย โดยเฉพาะผู้ที่อยู่อาศัยและประกอบอาชีพบริเวณชายฝั่ง และนักท่องเที่ยวที่รู้เท่าไม่ถึงการณ์ลงเล่นน้ำทะเลในช่วงที่เกิดริปเคอร์เร้นท์ ยังผลให้ถึงแก่ชีวิตดังปรากฏเป็นข่าวมาอย่างต่อเนื่อง ริปเคอร์เร้นท์ คือ กระแสน้ำที่พัดในแนวตั้งฉากกับชายฝั่งออกสู่ทะเล ซึ่งเป็นผลจากแนวสันทรายหรืออุปสรรคใต้น้ำในพื้นที่นั้นๆ ปิดกั้นไม่ให้น้ำไหลกลับคืนท้องทะเลได้สะดวกนอกจากบางช่องทางเท่านั้น หรือเกิดจากการที่น้ำไหลพัดสอบมาปะทะแล้วไหลย้อนกลับออกไปในทะเล เจอสิ่งกีดขวางของกระแสน้ำ เช่น แนวหิน แนวปะการัง หรือสันทรายที่อยู่ใต้น้ำซึ่งหากเป็นแนวหินหรือแนวปะการังที่อยู่คงที่ เจ้าหน้าที่จะสามารถบอกเตือนภัยได้ แต่ในแนวสันทรายที่มีการเคลื่อนตัวหรือพังแล้วก่อตัวขึ้นใหม่ ยากแก่การระวังป้องกัน ดังนั้น หลังฝนตกหนัก หรือ หลังจากวันที่ทะเลปั่นป่วน จึงต้องงดลงเล่นน้ำทะเล หรือออกทะเลเพื่อประกอบอาชีพ และรอเวลาประมาณ 2-3 วัน ซึ่งความรู้เหล่านี้จะเกิดประโยชน์แก่เยาวชนที่เข้ามาเรียนโครงการค่ายวิทยาศาสตร์ทางทะเล เยาวชนรักษ์คุ้งกระเบน รุ่นที่ 9 ครั้งนี้เป็นอย่างยิ่ง นอกจากนี้ คณะเยาวชนยังได้มีโอการเรียนรู้และฝึกปฏิบัติในอีกหลายกิจกรรม อาทิ การเก็บรักษาสภาพตัวอย่างสัตว์น้ำและพันธุ์พืช การบริหารจัดการขยะพื้นที่ชายฝั่ง การอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติป่าบกบริเวณชายฝั่งตามแนวพระราชดำริ เช่น กิจกรรมคืนเห็ดสู่ป่า เป็นต้น หลังจบโครงการ เยาวชนที่เข้าร่วมโครงการฯ ทุกคน ได้รับมอบใบเกียรติบัตรจาก นายประจวบ ลีรักษาเกียรติ ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาการพัฒนาอ่าวคุ้งกระเบนอันเนื่องมาจากพระราชดำริ จังหวัดจันทบุรี เพื่อเป็นการแสดงว่าเยาวชนทั้ง 50 คน ได้รับความรู้จากการเรียนรู้ในโครงการค่ายวิทยาศาสตร์ทางทะเล เยาวชนรักษ์คุ้งกระเบน เทิดพระเกียรติรุ่นที่ 9 นี้