“นายช่างศิลปกรรมอาวุโส”สำนักช่างสิบหมู่เผยภาพร่างพระพิฆเนศประดับพระเมรุมาศ ยึดคติโบราณ“พระพิเนก-พระพินาย”ปั้น2องค์ประทับยืนแบบนาฏยลักษณ์โขนพนมกรรับเสด็จสู่สรวงสวรรค์ เมื่อวันที่ 28 พ.ค. 60 นายสมชาย ศุภลักษณ์อำไพพร นายช่างศิลปกรรมอาวุโส กลุ่มงานศิลปประยุกต์และเครื่องเคลือบดินเผา สำนักช่างสิบหมู่ กรมศิลปากร เปิดเผยความคืบหน้าการดำเนินงานจัดสร้างประติมากรรมพระพิฆเนศประดับพระเมรุมาศในพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช เพิ่มจำนวน 2 องค์ว่า ขณะนี้ได้ประสานขอแบบภาพร่างพระพิฆเนศจากอาจารย์สุดสาคร ชายเสม เป็นผู้ออกแบบไว้ นำรูปแบบส่วนหนึ่งมาจากตราพระพิฆเนศ สัญลักษณ์กรมศิลปากร แต่เปลี่ยนจากลักษณะประทับนั่งเป็นประทับยืน เพื่อมาจัดทำต้นแบบงานประติมากรรมพระพิฆเนศติดตั้งชั้นที่ 2 บริเวณสะพานเกริน ชั้นเดียวกับที่มีประติมากรรมครุฑ โดยตนจะขยายแบบพระพิฆเนศจากนั้นจะส่งให้ช่างปั้น พร้อมกับควบคุมผลงานให้เป็นไปตามแบบของอาจารย์สุดสาคร นายสมชาย กล่าวอีกว่า พระพิฆเนศออกแบบโดยยึดถือตามคติความเชื่อโบราณที่พระพิฆเนศมี 2 องค์ คือ พระพิเนกและพระพินาย ดังบทพระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช รัชกาลที่ 1ที่ว่า 'พระพิเนกนั้นเป็นนิลเอก พระพินายนั้นเป็นนิลขัน' ซึ่งอวตารมาอุบัติเป็นเสนาของพระราม เพื่อช่วยทำสงครามปราบทศกัณฐ์ โดยจะปั้นพระพิฆเนศในลักษณะประทับยืนแบบนาฏยลักษณ์ของโขน พระวรกายใหญ่ สง่างาม มี 4 กร พระหัตถ์แต่ละด้านไม่ได้ถือศาสตราวุธครบ อาจจะพนมกรเพื่อรับเสด็จสู่สรวงสวรรค์ เหมือนประติมากรรมมหาเทพที่ออกแบบพระอิศวรมี 4 กร โดย 2 กรพนมมือ เช่นเดียวกับพระพรหมจะพนมกร อีก 2 กรถืออาวุธ นอกจากนี้ จะต้องมีการออกแบบปั้นเครื่องแต่งกายและเครื่องประดับพระพิฆเนศทั้ง 2 องค์ ให้งดงามลงตัว “คนโบราณเชื่อว่า ลูกพระอิศวรที่มีศรีษะเป็นช้าง มี 2 องค์ คือ พระพิเนกและพินาย ไม่ใช่พระพิฆเนศปางต่างๆ งานพระเมรุมาศครั้งนี้เป็นการออกแบบพิเศษโดยเฉพาะสำหรับพระพิฆเนศเพื่อให้สง่างามยิ่งขึ้น โดย 2 องค์ประทับยืน มี 4 กร แต่ละองค์ถืออาวุธหรือสิ่งของต่างกัน เพราะต้นแบบพระพิฆเนศโบราณ มีทั้งถือขวาน ถือถ้วยทำด้วยกะโหลก ถือลูกประคำ ถือถ้วยขนมโมทกะ พระวรกายก็มีสีต่างกัน เช่น สีแดง อย่างไรก็ตาม การทำงานปั้นพระพิฆเนศจะต้องประชุมหารือกับกลุ่มงานประติมากรรมต่อไปเพื่อความชัดเจน” นายสมชาย กล่าว