กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข ได้ทำการเฝ้าระวังคุณภาพน้ำประปาที่ใช้ในเขตพื้นที่กรุงเทพฯ นนทบุรี และสมุทรปราการ โดยเก็บตัวอย่างน้ำประปาจากบ้านเรือนที่อยู่ในพื้นที่โรงผลิตน้ำ 4 แห่งของการประปานครหลวง ได้แก่ โรงผลิตน้ำบางเขน มหาสวัสดิ์ สามเสน และธนบุรี มาตรวจวิเคราะห์ทางห้องปฏิบัติการ พบว่า มีคุณภาพและผ่านเกณฑ์มาตรฐาน ประชาชนสามารถใช้เพื่อการอุปโภคและบริโภคได้อย่างปลอดภัย นายแพทย์สุขุม กาญจนพิมาย อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ เปิดเผยว่า ในภาวะที่มีภัยแล้งประชาชนมักจะกังวลต่อคุณภาพน้ำประปา จากข้อมูลขอกรมชลประทาน พบว่า ในช่วงสถานการณ์ภัยแล้ง พ.ศ.2559 เป็นปีที่มีภาวะภัยแล้งรุนแรงที่สุดในรอบ 20 ปี ของประเทศไทยได้ส่งผลกระทบต่อแหล่งน้ำดิบที่ใช้ผลิตน้ำประปาที่ประชาชนใช้เพื่อการอุปโภคและบริโภคมีปริมาณน้อยลง รวมทั้งได้รับอิทธิพลน้ำทะเลหนุนจากปากแม่น้ำเจ้าพระยา เพราะแม่น้ำเจ้าพระยาและแม่น้ำแม่กลอง เป็นแหล่งน้ำดิบสำคัญสำหรับการผลิตน้ำประปาในเขตพื้นที่ภาคกลาง โดยการประปานครหลวงมีโรงผลิตน้ำ 4 แห่ง สำหรับผลิตน้ำประปา ได้แก่โรงผลิตน้ำบางเขน โรงผลิตน้ำมหาสวัสดิ์ โรงผลิตน้ำสามเสน และโรงผลิตน้ำธนบุรี นายแพทย์สุขุม กาญจนพิมาย อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ สำนักคุณภาพและความปลอดภัยอาหาร กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ มีภารกิจหลักในการคุ้มครองผู้บริโภคป้องกันปัญหาสาธารณสุข และสร้างความมั่นใจให้แก่ประชาชน จึงได้ดำเนินการตรวจเฝ้าระวังคุณภาพน้ำประปาและค่าความเค็มในเขตพื้นที่กรุงเทพฯ สมุทรปราการ และนนทบุรี โดยเก็บตัวอย่างจากบ้านเรือนที่ตั้งอยู่ในกรุงเทพมหานคร รวม 16 เขตจาก 50 เขต จังหวัดนนทบุรี 4 อำเภอจาก 6 อำเภอ จังหวัดสมุทรปราการ 1 อำเภอจาก 6 อำเภอ (มีพื้นที่จ่ายน้ำ เพียงอำเภอเดียว) เก็บ 1 ตัวอย่าง ต่อเขตหรืออำเภอ รวม 2 ครั้ง ในเดือนกุมภาพันธ์และพฤษภาคม พ.ศ. 2559 รวมทั้งสิ้น 44 ตัวอย่าง ดังนี้ โรงผลิตน้ำบางเขน ได้แก่เขตบางเขน สวนหลวง ลาดพร้าว ราษฎร์บูรณะ มีนบุรี สาทร บางกะปิ บึงกุ่ม ลาดกระบัง พระโขนง ดอนเมือง จังหวัดนนทบุรี ได้แก่ อำเภอปากเกร็ด จังหวัดสมุทรปราการ ได้แก่ อำเภอพระประแดง โรงผลิตน้ำธนบุรี ได้แก่ เขตบางกอกน้อย โรงผลิตน้ำสามเสน ได้แก่ เขตพญาไท พระนคร โรงผลิตน้ำมหาสวัสดิ์ ได้แก่ เขตตลิ่งชัน บางขุนเทียน จังหวัดนนทบุรี ได้แก่ อำเภอเมือง บางบัวทอง และ บางใหญ่ นำตัวอย่างมาตรวจหาค่าความเค็ม ความเป็นกรด-ด่าง คลอไรด์ ปริมาณสารที่ละลายได้ทั้งหมด ปริมาณสารทั้งหมด คลอรีนตกค้าง โลหะ และจุลินทรีย์ ผลการตรวจวิเคราะห์ทั้ง 2 ช่วง พบทุกตัวอย่างผ่านมาตรฐานคุณภาพของการประปานครหลวง รวมทั้งผ่านเกณฑ์คุณภาพน้ำประปาดื่มได้ของกรมอนามัย สำหรับผลวิเคราะห์ เพื่อเฝ้าระวังระดับความเค็ม พบว่า ความเค็มมีค่าสูงสุดเท่ากับ 0.07 และ 0.21 กรัมต่อลิตร ในช่วงที่ 1 และ 2 ตามลำดับ ซึ่งน้อยกว่าเกณฑ์มาตรฐานค่าความเค็มของน้ำดิบ สำหรับผลิตน้ำประปาตามองค์การอนามัยโลกที่กำหนดไม่เกิน 0.25 กรัมต่อลิตร แม้ว่าผู้บริโภคจะรู้สึกว่าน้ำมีความเค็มในเดือนพฤษภาคม เนื่องจากเป็นช่วงที่ น้ำทะเลหนุนจึงมีค่าความเค็มสูงกว่าเดือนกุมภาพันธ์ประมาณ 3 เท่า นายแพทย์สุขุม กล่าวเพิ่มเติมว่า ถึงแม้สถานการณ์ภัยแล้งที่เกิดขึ้น ทำให้น้ำประปาในบางพื้นที่มีความเค็มสูงขึ้นในบางช่วงเวลา แต่ผลตรวจวิเคราะห์แสดงว่าน้ำประปายังมีคุณภาพตรงตามมาตรฐานน้ำประปาทั้งของการประปานครหลวงและกรมอนามัย อย่างไรก็ตามกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์จะทำการเฝ้าระวังคุณภาพน้ำประปาอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะช่วงที่เกิดปัญหาภัยแล้ง สำหรับกรณีที่น้ำประปาจากก๊อกตามบ้านเรือนอาจมีกลิ่นคลอรีนหลงเหลืออยู่ ประชาชนสามารถลดกลิ่นคลอรีน โดยการรองน้ำประปาใส่ภาชนะเปิดฝาและตั้งทิ้งไว้ ประมาณ 30 นาที หรืออาจนำไปต้มหรือกรองก่อนดื่มก็จะช่วยเพิ่มความมั่นใจในการบริโภคได้ และควรหมั่นตรวจสอบท่อน้ำประปาในบ้านเรือนอยู่เสมอว่ามีปัญหาการรั่วซึมหรือไม่ เพราะอาจทำให้ปนเปื้อนจากสิ่งสกปรกหรือเชื้อโรคปะปนมากับน้ำประปาและทำให้ไม่ปลอดภัยต่อสุขภาพของผู้บริโภคได้ 29 พฤษภาคม 2560