แม้จะเป็นธนาคารของรัฐ แต่ด้วยภารกิจที่หลากหลาย ไม่ว่าการต้องปฏิบัติตามนโยบายรัฐ และต้องแข่งขันกับเอกชน เพื่อรักษาฐานลูกค้า ทำให้ธนาคารออมสินต้องทำหน้าที่อย่างหนัก ที่จะยืนหยัดและทำหน้าที่ได้อย่างแข็งแกร่ง หากพิจารณาเข้าไปดูธนาคารออมสินทุกวันนี้ จะแตกต่างจากอดีตอย่างเห็นได้ชัด ไม่ว่าจะเป็นรูปแบบการะดมเงินที่หลากหลายมากขึ้น ผลิตภัณฑ์ที่ครอบคลุมความต้องการของลูกค้า ประชาชนมากมาย ทว่าการปรับเปลี่ยนของธนาคารออมสินอย่างค่อยๆ เป็น ค่อยๆ ไป และดำเนินการมาอย่างต่อเนื่อง จนอาจจะไม่รู้สึก แม้ว่าเธอจะเปลี่ยนไป มาในยุคปัจจุบันที่อยู่ภายใต้การกุมบังเหียนของ “ชาติชาย พยุหนาวีชัย” ผู้อำนวยการออมสิน ก็พยายามสร้างการเปลี่ยนแปลงให้ออมสินก้าวขึ้นมาอยู่ในระดับหัวแถวของธนาคารรัฐและแข่งขันกับธนาคารพาณิชย์ได้อย่างไม่เกรงกลัวใคร ที่สำคัญยังอยู่ในระดับหัวแถวอีกด้วย ถ้าดูผลงานของออมสินจนถึงเมยายน 2560 มีสินทรัพย์กว่า 2.5 ล้านล้านบาท เป็นอันดับ 4 ของแบงก์ทั้งระบบ คิดด้านเงินฝาก อยู่สูงถึงอันดับ 2 ประมาณ 2 ล้านล้านบาท ขนาดยังไม่เร่งระดมเงินฝากในช่วงนี้ เพราะสภาพคล่องยังมีเหลืออีกมาก แต่สินเชื่อกลับสูงเป็นอันดับ 1 ปล่อยไปแล้ว 1.9 ล้านล้านบาท ขณะที่เอ็นพีแอลอยู่ที่ระดับร้อยละ 2.17 ต่ำกว่าแบงก์พาณิชย์ระดับท๊อปไฟร์มาก หากไปเปรียบเทียบระหว่างรัฐวิสาหกิจด้วยกัน ปรากฎว่าออมสินนำส่งรายได้แผ่นดินสูงเป็นอันดับ 2 แซง บมจ.ปตท.ขึ้นมา เป็นรองแค่ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) อย่างเดียว แต่ถ้าดูรายละเอียดก็นับว่ายอดเยี่ยม เพราะกฟฝ. ไม่ต้องไปแข่งกับใคร แต่ออมสินต้องต่อสู้กับคู่แข่งมากมาย ในปี 2560ออมสินตั้งเป้าหมายขยายสินเชื่อไว้ที่ร้อยละ 3 หรือเพิ่มขึ้นสุทธิ 58,000 ล้านบาท คาดว่าจะมีกำไรสุทธิประมาณ 21,000 ล้านบาท ผ่านมา 4 เดือน (ม.ค.-เม.ย.60) ทำกำไรแล้ว 8,656 ล้านบาท เหลืออีก 8 เดือน หากไม่มีปัจจัยลบรุนแรง มั่นใจว่าจะทำได้ตามเป้าหมายสบายๆ บอสใหญ่ ออมสิน บอกว่า ตั้งแต่ปีนี้เป็นต้นไปจะนำพาออมสินสู่ยุคใหม่ เป็น GSB New Century หลังจากระดมสมองและกลั่นกรองออกมาเป็น 6 กลยุทธ์สำคัญ 1. การบริหารแบบเศรษฐกิจพอเพียง ด้วยการนำหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ของพระบาทสมเด็จ พระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ได้แก่ รู้ตัวตน พอประมาณ เหลือเก็บ แบ่งปัน และยั่งยืน มาใช้เป็นแนวทาง ในการบริหารจัดการพัฒนาผลิตภัณฑ์ โดยที่ทำไปแล้วคือ บัตรเครดิต ที่กำหนดวงเงินที่เหมาะสมกับวิธีการใช้ด้วยแนวคิด “สุขแบบไทย ใช้แบบพอเพียง” และกำลังจะดำเนินการต่อในประเภทสินเชื่อเคหะ ภายใต้แนวคิด “รู้จักประมาณตน กู้ตามฐานะ” โดยไม่สนับสนุนการกู้เงินมากถึงแม้จะมีความสามารถที่จะกู้ได้มากก็ตาม 2.การส่งเสริมการออมที่มีมุมมองที่กว้างขึ้น จากรูปแบบเดิมที่ใช้สัญลักษณ์กระปุกออมสินเป็นหลัก ส่งเสริมให้ออมเงินในวัยเด็ก เป็น การออมเศรษฐกิจ ออมสังคม และออมสิ่งแวดล้อม ด้วยการใช้วิธีการสร้างวินัยทางการเงินในยุคดิจิตอล เช่น การทำบัญชีครัวเรือนผ่านแอพพลิเคชั่น ส่งเสริมให้ลูกค้าในระดับฐานรากทั้ง Micro SMEs และ SMEs ทำบัญชีระบบบัญชีเดียว 3.ธนาคารผู้สูงวัย รองรับการเปลี่ยนแปลงเข้าสู่สังคมผู้สูงวัย ที่ผ่านมาก็ได้ออกผลิตภัณฑ์มารองรับได้แก่ เงินฝากเผื่อเรียกประชารัฐผู้สูงวัย, เงินฝากเผื่อเรียกพิเศษผู้สูงวัย, สินเชื่อประชารัฐเพื่อผู้สูงวัย, สินเชื่อเคหะลูกกตัญญูดูแลบุพการี ซึ่งจะรองรับผู้สูงวัยได้ทุกกลุ่ม และที่จะโดดเด่นหน่อยก็คือสินเชื่อที่อยู่อาศัยสำหรับผู้สูงอายุ (Reverse Mortgage) สำหรับผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไป และมีบ้านปลอดจำนอง นำมาขอสินเชื่อได้สูงถึงร้อยละ 70 ของราคาประเมิน ธนาคารจ่ายเงินให้กับผู้สูงอายุเป็นรายเดือนจนถึงอายุ 85 ปี หากครบเงินกู้แล้วยังไม่เสียชีวิต สามารถนำบ้านมาประเมินราคาใหม่เพื่อให้สินเชื่อเพิ่มเติมได้ และระหว่างรับเงินก็จะไม่ถูกคิดดอกเบี้ยจนกว่านำสินทรัพย์ไปขายทอดตลาด หรือเมื่อมีลูกหลานมาไถ่ถอนสินทรัพย์ดังกล่าว 4. การแก้ไขหนี้นอกระบบ วงเงินดำเนินการ 5,000 ล้านบาทภายใต้โครงการสินเชื่อรายย่อยเพื่อใช้จ่ายฉุกเฉิน มีจำนวนผู้มาลงทะเบียนรวมแล้วกว่า 140,000 ราย วงเงินรวม 6,600 ล้านบาท ยื่นเอกสารพร้อม แล้วเกือบ 100,000 ราย ธนาคารฯ อนุมัติสินเชื่อไปแล้วกว่า 15,000 ราย คิดเป็นวงเงินสินเชื่อกว่า 600 ล้านบาท อีกทั้งยังมีช่องทางให้ยื่นกู้ได้ในรูปแบบอื่นทั้ง พิโกไฟแนนซ์ และสถาบันการเงินชุมชน อีกด้วย นอกจากนี้ยังได้ดำเนินโครงการสวัสดิการแห่งรัฐตามนโยบายรัฐที่ได้ดำเนินการลงทะเบียนผ่านธนาคารแล้วกว่า 3.7 ล้านคน ก่อนหน้านี้ได้โอนเงินตามมาตรการเพิ่มรายได้ผู้มีรายได้น้อยไปแล้ว 2.56 ล้านคน 5. SMEs Start up ธนาคารออมสินได้นำเสนอโครงการ SMEs Start up Thailand เพื่อเป็นแนวทางจุดประกายให้ SMEs และ Start up ให้สามารถเข้าถึงแหล่งทุน ดำเนินธุรกิจบนความรู้ ความคิดสร้างสรรค์ ใช้นวัตกรรมใหม่ๆ ซึ่งได้เปิดโอกาสให้ธุรกิจรายเล็ก รายย่อยได้เข้าถึงแหล่งทุน พัฒนาศักยภาพและมีตลาดค้าขาย ซึ่งในปีนี้ธนาคารฯ ได้ปล่อยสินเชื่อไปแล้ว 508 ราย คิดเป็นวงเงิน 1,821 ล้านบาท แล้วยังสนับสนุนเงินลงทุนผ่านกองทุนร่วมลงทุน Venture Capital จัดตั้งเป็น SMEs Private Equity Trust Fund วงเงิน 2,000 ล้านบาท มีการร่วมลงทุนไปแล้ว 6 ราย คิดเป็นวงเงิน 165 ล้านบาท และจะพยายามเดินเครื่องอย่างเต็มที่ สุดท้าย Digi-Thai Banking ธนาคารฯ ได้พัฒนารูปแบบการให้บริการไม่ว่าจะเป็นสาขา จะเป็นสาขาดิจิตอล ที่ให้บริการ 24 ชั่วโมง บริการธนาคารชุมชน ในแนวคิดออมสินเพื่อชุมชน รวมถึง Mobile Banking ในชื่อ MyMo ที่ยังคงพัฒนาอย่างต่อเนื่องเช่นกัน ล่าสุดใช้ QR Code ถอนเงินสดได้ที่ตู้เอทีเอ็ม โดยไม่ต้องใช้บัตรอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งต่อไปจะมีบริการชำระเงินที่ร้านค้าด้วย QR Code รวมถึง “Chill Chill Finance” ยื่นขอสินเชื่อธนาคารประชาชนผ่าน MyMo และเงินฝาก No Book สามารถเลือกระยะเวลาฝากได้ ผอ.ออมสิน กล่าวอีกว่า ภารกิจ 6 ด้านที่ทำจะนำออมสินไปสู่ศตวรรษใหม่ รองรับยุค 4.0 ขณะที่การดำเนินการตามนโยบายรัฐก็ยังทำหน้าที่ต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็นสินเชื่อรายย่อยเพื่อใช้จ่ายฉุกเฉิน สินเชื่อประชารัฐเพื่อประชาชน มาตรการส่งเสริมความเป็นอยู่ในระดับหมู่บ้าน โครงการเพิ่มศักยภาพกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมือง สินเชื่อซอฟท์โลนสำหรับ SME บ้านประชารัฐ โครงการสวัสดิการแห่งรัฐ และ National e-Payment ล่าสุดมิ.ย.นี้เตรียมเปิดตัวสินเชื่อในกลุ่มค้าขายอาหารข้างทาง (สตรีทฟู้ด ) อาทิ ร้านขายอาหารตามสั่ง ร้านห้องแถว ร้านขายเครื่องดื่ม ไปจนถึงรถขายอาหารเคลื่อนที่ หรือ food truck ดอกเบี้ยต่ำเบื้องต้นคิดไว้ประมาณร้อยละ 0.4-0.5 ต่อเดือน ถ้าเป็นรถเข็นธรรมดากู้ได้ไม่เกิน 5 แสนบาทต่อราย หากมีรถ ห้องแถว สิทธิ์การเช่า มาค้ำประกัน กู้ได้ถึง 1 ล้านบาทต่อราย เตรียมวงเงินไว้ 3,000 ล้านบาท คาดว่ามีผู้กู้ 10,000ราย “ออมสินมุ่งมั่นที่จะพัฒนาผลิตภัณฑ์และบริการทางการเงิน เพื่อสร้างวินัยทางการเงิน เพิ่มโอกาสในการเข้าถึงแหล่งเงินทุนและบริการทางการเงิน การแก้ไขปัญหาหนี้สิน ครอบคลุมความต้องการทุกกลุ่ม ตั้งแต่วัยเด็ก จนถึงวัยชราเข้าถึงได้อย่างสะดวก รวดเร็ว ถูกต้อง พร้อมกับการการดำเนินโครงการตามนโยบายรัฐที่เกี่ยวข้อง โดยมีเป้าหมายที่ยกระดับคุณภาพชีวิตประชาชนในระดับฐานรากและชุมชนให้เข้มแข็งอย่างยั่งยืน”นายชาติชาย กล่าวทิ้งท้าย