ประสานเขตพื้นที่การศึกษา สำรวจความเป็นเลิศด้านต่าง ๆ ของนักเรียน พร้อมหาแนวทางสนับสนุน นายการุณ สกุลประดิษฐ์ เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) กล่าวว่า ตามที่นายกรัฐมนตรี ต้องการให้กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ต่อยอดผลงานนวัตกรรมของเด็ก ที่ได้รับรางวัลมาจากการประกวดเวทีระดับนานาชาติ นั้น นพ.ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ รมว.ศึกษาธิการ ได้ให้นโยบาย แก่หน่วยงานที่มีสถานศึกษา ให้ส่งงบประมาณเหลือจ่ายไปให้สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา (สพท.) ทำโครงการเพื่อต่อยอดองค์ความรู้ของเด็ก ส่งมายังส่วนกลาง ภายใต้การสร้างกระบวนการถ่ายทอดเทคโนโลยี สร้างเครือข่ายชุมชนการเรียนรู้วิชาชีพ (PLC) การพัฒนาในระดับโรงเรียน สร้างเครือข่ายระหว่างโรงเรียนตามคลัสเตอร์ และหน่วยงานความร่วมมือภายนอก พร้อมส่งเสริมให้นำผลงานนวัตกรรมของนักเรียนไปใช้ และสร้างมูลค่าเพิ่มทั้งในด้านทรัพย์สินทางปัญญา และการสร้างความเป็นผู้ประกอบการใหม่ รวมถึงส่งเสริมให้นักเรียนสร้างผลงานต่อยอดเพื่อพัฒนาศักยภาพของนักเรียนให้สูงมากขึ้นด้วย เลขาธิการ กพฐ.กล่าวต่อไปว่า ขณะนี้ สพฐ.ได้เริ่มดำเนินการตามนโยบายแล้ว โดยประสานไปยังเขตพื้นที่การศึกษา ทำการสำรวจความเป็นเลิศด้านต่าง ๆ ของนักเรียน แล้วให้นำเสนอโครงการส่งเสริมสนับสนุน โดยมุ่งเน้นให้เข้าถึงผู้เรียนเป็นหลักสำคัญ เพื่อให้เกิดผลสัมฤทธิ์ต่อคุณภาพของผู้เรียนอย่างแท้จริง เช่น หากพื้นที่ใดมีนักเรียนที่มีความสามารถด้านวิทยาศาสตร์-คณิตศาสตร์ สพฐ.ก็มีกลุ่มโรงเรียนจุฬาภรณราชวิทยาลัย ซึ่งเป็นโรงเรียนวิทยาศาสตร์ภูมิภาค ที่มีภารกิจในการจัดการศึกษา สำหรับผู้ที่มีความสามารถพิเศษด้านคณิตศาสตร์และวิทยาศาสตร์ ระดับมัธยมศึกษาในลักษณะโรงเรียนประจำ ที่จะดูแลในการเตรียมความพร้อมและพัฒนาศักยภาพของนักเรียนที่มีความสามารถพิเศษด้านวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์ เพื่อเข้าศึกษาในระดับอุดมศึกษาและพัฒนาไปสู่การเป็นนักวิจัย นักประดิษฐ์ นักคิดค้นด้านวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ และเทคโนโลยีที่มีความสามารถสูงเทียบเคียงกับนักวิจัยชั้นนำระดับนานาชาติ นอกจากนี้ สพฐ.ยังมีศูนย์การเรียนรู้สู่ความเป็นเลิศ ที่จะทำหน้าที่บ่มเพาะความสามารถพิเศษด้านต่าง ๆ ของนักเรียน ทั้งด้านวิชาการ เทคโนโลยี กีฬา ดนตรี นาฏศิลป์ และด้านอาชีพ โดย สพฐ.ได้จัดอบรมครูและบุคลากรทางการศึกษา ให้สามารถจัดกิจกรรมส่งเสริม กระตุ้นความสนใจของเด็กและเยาวชน เพื่อการเป็นนักคิด นักพัฒนาอย่างต่อเนื่องด้วย