“ ความตั้งใจในการกลับมาเดินหน้าทางการเมืองของผม คือการที่ผมได้ทำตามแนวทางที่พูดไว้ คือทำการเมืองให้ไปสู่การเลือกตั้งที่สุจริต เที่ยงธรรม ทำนักการเมืองให้เดินอยู่บนเส้นทางของผลประโยชน์ชาติ และประชาชนมากกว่าผลประโยชน์ส่วนตัว” หมายเหตุ : “สยามรัฐ” ได้มีโอกาสสนทนา กับ “วิทยา แก้วภราดัย” ที่วันนี้ได้ตัดสินใจลาออกจากการทำหน้าที่สมาชิกสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) พร้อมประกาศว่าจะหวนกลับไปเล่นการเมือง โดยจะสวมเสื้อพรรคประชาธิปัตย์ วันนี้ “สยามรัฐ” มีคำตอบเปิดใจ วิทยาต่อประเด็นการเมืองที่กำลังมีความเข้มข้น ทั้งในและนอกพรรคประชาธิปัตย์ รวมถึงการทำหน้าที่สปท.ในโควต้าของกปปส.ที่ลุล่วงลงไปเรียบร้อยแล้ว - การตัดสินใจลาออกจากสปท.ของคุณวิทยา แน่นอนต้องมีคำถามตามมาถึงอนาคตทางการเมืองจากนี้ไป จะเป็นอย่างไร ผมคิดมาตลอดว่าผมเป็นนักการเมือง และการที่ได้เข้าไปเป็น สปท. เพราะรัฐบาลคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ได้เสนอไปยัง คณะกรรมการประชาชนเพื่อการเปลี่ยนแปลงประเทศไทยให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (กปปส.) ให้ส่งตัวแทนมา ทางกปปส.ได้ส่งผมเข้ามาเป็นตัวแทน ซึ่งพอได้เข้าไปเราก็ได้เสนอความคิดเรื่องการปฏิรูปก่อนการเลือกตั้ง ที่กปปส.ได้เคยหารือกับมวลมหาประชาชนไว้ในช่วงที่มีการชุมนุม และถือเป็นครั้งแรกที่ได้รับการแต่งตั้งเข้าไปอยู่ในสภา เพราะในชีวิตเรามาจากการเลือกตั้งตลอด อาจมีนักการเมืองอยู่บ้างตามแต่ละพรรค แต่ส่วนใหญ่จะเป็นข้าราชการประจำ และข้าราชการที่เกษียณ ซึ่งเราค่อนข้างที่จะไม่คุ้นเคยกับสภารูปแบบนี้เท่าไหร่ แต่ก็พยายามทำตามแนวทางของกปปส.ที่ทำไว้ - เหตุผลที่ตัดสินใจลาออกจากการเป็นสปท. เรื่องการเมืองที่ผมทำ ส่วนใหญ่ก็สำเร็จแล้ว เพราะเรื่องการเมืองจะเกี่ยวข้องกับรัฐธรรมนูญ และพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ เรื่องสุดท้ายที่ได้เสนอคือเรื่องการทุจริตการเลือกตั้ง โดยเฉพาะการเลือกตั้งกำนัน ผมได้เสนอให้ตัดวาระกำนันจาก 60 ปี เหลือ 5 ปี และให้มาจากการเลือกตั้งโดยตรงของประชาชน เพราะจากการเลือกตั้งกำนันผู้ใหญ่บ้านที่เกษียณอายุ 60 ปี ทำให้การซื้อสิทธิ์ขายเสียงค่อนข้างที่จะรุนแรงมากในพื้นที่ภาคใต้ ซึ่งอาจเป็นเชื้อที่ไม่ดีสำหรับประชาธิปไตย และผมตั้งใจแล้วว่าถ้าเสนอเรื่องดังกล่าวจบ ผ่านทุกขั้นตอน ผมก็ตั้งใจลาออก ซึ่งเรื่องนี้ถือว่าสำเร็จแล้ว ผมจึงลาออกเมื่อวันที่ 2 พ.ค.ที่ผ่านมา - ก่อนตัดสินใจลาออกจากสปท.ได้ปรึกษาใครหรือไม่ ผมได้แจ้งกับทางเพื่อนๆ กปปส.ทุกคนว่าผมได้ลาออกแล้ว เพราะประเด็นการเมืองน่าจะจบแล้ว และส่วนใหญ่ก็จะเป็นประเด็นการปฏิรูปในด้านอื่นๆ ซึ่งเราไม่มีความเชี่ยวชาญเฉพาะ และผมตั้งใจว่าเมื่อลาออกแล้วจะกลับมาอยู่พรรคประชาธิปัตย์ เพราะเป็นความตั้งใจของทุกคนที่ไปเป็น กปปส. ว่ากปปส.สู้ไปทั้งหมดเพื่อประโยชน์ของประเทศชาติ และประชาชน เสร็จจากการต่อสู้ ทุกๆ คนก็กลับบ้าน ประชาชนที่มาร่วมต่อสู้ก็กลับบ้านกัน พวกผมไปบวชมาแล้ว เสร็จจากภารกิจทุกอย่างก็จะกลับมาบ้านคือพรรคประชาธิปัตย์ - หลังจากลาออก มีแรงกระเพื่อมอะไรจากทั้งคนในพรรค และนอกพรรคหรือไม่ ก็มีบ้าง แต่ผมเข้าใจว่าเขาคงไม่ได้พูดถึงผม ผมอยู่พรรคนี้มา 20 กว่าปี เป็นรองหัวหน้าพรรคมาสองสมัย และผมเป็นรัฐมนตรีคนแรกที่เขาบอกว่าผมบกพร่องในหน้าที่และผมลาออก ผมอยู่มาไม่เคยทำให้พรรคเสียหาย ถ้าใครทำให้พรรคเสียหายคงต้องพิจารณาตัวเองบ้าง แต่เมื่อผมพิจารณาตัวเองแล้วผมไม่ได้ทำให้พรรคเสียหาย ความตั้งใจในการกลับมาเดินหน้าทางการเมืองของผม คือการที่ผมได้ทำตามแนวทางที่พูดไว้ คือทำการเมืองให้ไปสู่การเลือกตั้งที่สุจริต เที่ยงธรรม ทำนักการเมืองให้เดินอยู่บนเส้นทางของผลประโยชน์ชาติ และประชาชนมากกว่าผลประโยชน์ส่วนตัว เมื่อมาอยู่ที่พรรคผมก็จะทำอย่างนั้น ผมจะไม่ยอมให้พรรคสนับสนุนคนออกไปทุจริตการเลือกตั้งเด็ดขาด บ้านเมืองเป็นของทุกคน พรรคประชาธิปัตย์ก็อยากเป็นพรรคของประชาชน ดังนั้นประชาชนทุกคนมีส่วนร่วม มีความคิดเห็นก็เสนอแนะเข้ามา พรรคต้องฟังประชาชน พรรคไม่ใช่องค์กรที่จะสืบทอดมรดก ทายาทอะไรกันได้ -มีการพูดคุยกับหัวหน้าพรรคว่าอย่างไรบ้าง ทางหัวหน้าพรรคยินดีกับทุกคน ไม่เคยคิดไล่ใคร มีแต่จะหาคนเข้าพรรคเพิ่ม ส่วนคนในพรรคแต่ละคนผมก็ไม่ทราบ อาจจะมีบ้างคนที่หมั่นไส้ผม เป็นธรรมดา ผมอาจไม่ถูกตา หรือพูดจาไม่เข้าหูคน - ตลอดการทำหน้าที่สปท.พอจะสะท้อนถึงภารกิจและเป้าหมายของแม่น้ำสายนี้ ได้อย่างไรบ้าง สปท. คือสภาที่ปรึกษา ทำข้อเสนอแนะขึ้นไป ส่วนคนที่จะตัดสินใจว่าเอาหรือไม่เอานั้นคือกระทรวงหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง หรือไม่ก็คสช. และสภานิติบัญญัติ (สนช.) ที่จะเป็นผู้บังคับใช้กฎหมาย สปท.ไม่มีอำนาจในทางบริหาร ทางนิติบัญญัติ และทางตุลาการ เพราะฉะนั้นข้อเสนอแนะจึงเป็นเพียงข้อให้คำแนะนำ ส่วนจะแปลงไปสู่การปฏิบัติได้หรือไม่นั้นอยู่ที่การตัดสินใจของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง - การเมืองหลังรัฐธรรมนูญ ฉบับ 2560 ที่ประกาศใช้อย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 6 เม.ย.ที่ผ่านมา ในฐานะนักการเมือง เรามองเห็นความเคลื่อนไหวเป็นอย่างไรบ้าง ผมคิดว่าการเคลื่อนไหวของพรรคการเมืองจริงๆ แล้วเกิดขึ้นไม่ได้ เพราะยังติดอยู่ภายใต้การควบคุมของคสช. พรรคการเมืองยังทำกิจกรรมไม่ได้ ข่าวคราวที่ออกมาจากปากนักการเมืองก็เป็นเพียงความเห็นของเขา ไม่ใช่ของพรรค เพราะทุกพรรคยังทำกิจกรรมไม่ได้ ดังนั้นประชาชนอย่าเพิ่งสับสน - ประเมินว่าสถานการณ์ทางการเมืองจากนี้จะเป็นอย่างไร เมื่อรัฐบาลประกาศโรดแมป สถานการณ์ทางการเมืองนับจากนี้ไปคงเริ่มดำเนินการไปตามกติกามากขึ้น เช่น เมื่อกฎหมายลูกที่เกี่ยวกับการเลือกตั้งเสร็จ ก็คงมีการผ่อนปรนให้พรรคการเมืองทำกิจกรรม การเมืองก็คงจะเข้ากรอบ เว้นแต่มีอุบัติเหตุต่างๆ ขึ้นมา ซึ่งเราก็ไม่สามารถคาดการณ์ได้ว่ามันจะเกิดอะไรขึ้น ถ้าไม่เกิดอะไรขึ้นก็คงเป็นไปตามที่รัฐบาลประกาศไว้ - กระแสเรื่องเทคโอเวอร์พรรคชาติไทยพัฒนา คิดว่ามาจากอะไร และประเมินว่าจากนี้ไปตามกติกาใหม่ของรัฐธรรมนูญ จะมีเรื่องการเทคโอเวอร์พรรคเล็กอีกหรือไม่ กระแสการเทคโอเวอร์พรรคชาติไทยพัฒนานั้น ผมไม่แน่ใจว่ามาจากอะไร แต่ทางนายวราวุธ ศิลปอาชา แกนนำพรรคชาติไทยพัฒนา ได้ปฏิเสธแล้ว และในฐานะที่จะสืบสานเจตนารมณ์ต่อจากนายบรรหาร ศิลปอาชา อดีตนายกรัฐมนตรี และอดีตหัวหน้าพรรคชาติไทย ได้ประกาศจุดยืนว่าจะไม่รับการเทคโอเวอร์ และพร้อมที่จะสร้างพรรคเอง ซึ่งถือเป็นเจตนารมณ์ของเขา เราต้องรับฟัง ทั้งนี้ทุกอย่างจะชัดเจนขึ้นก็ต่อเมื่อมีการปลดล็อคเรื่องการประชุมของพรรคการเมือง เราก็จะได้เห็นมติของพรรคชาติไทยพัฒนาจริงๆ ว่าเขาได้ตัดสินใจอย่างไร การตัดสินใจครั้งนี้ผมยังถือว่าเป็นความเห็นส่วนตัวของ นาย วราวุธ ไม่ใช่มติพรรค ส่วนเรื่องการตั้งนายวราวุธเป็นหัวหน้าพรรคนั้น เขาก็คงมีกระบวนการในการแต่งตั้งขึ้นมา การเลือกหัวหน้าพรรคเลือกกรรมการ คงไม่ใช่เป็นการเขียนพินัยกรรมจากหัวหน้าพรรคคนเก่า และให้ใครเป็น ส่วนเรื่องการเทคโอเวอร์พรรคเล็กนั้นคงยาก เพราะรัฐธรรมนูญมีการปิดล็อคเรื่องนี้ไว้ ปรากฎการณ์สุดท้ายก็คงเป็นปรากฏการณ์ระบอบทักษิณเท่านั้นเอง ส่วนการร่วมกันเป็นรัฐบาลเป็นเรื่องปกติ โดยไม่ต้องมีการควบรวมพรรค แต่การควบรวมพรรคคงเป็นเรื่องยากขึ้น - พรรคประชาธิปัตย์ และกปปส. ณ วันนี้มีความขัดแย้ง มีปัญหาหรือไม่ เพราะมีความเคลื่อนไหวจากผู้อาวุโส ของพรรคที่ออกมาเตือนคุณอภิสิทธิ์ ให้ระวังคนใกล้ตัว ไม่มีอะไร... อาจมีความคิดเห็นส่วนตัวของคนบางคนบ้างก็เป็นเรื่องปกติ แต่เรื่องของพรรค ผมคิดว่าทุกคนอยู่ในพรรคนี้มาก่อน ถ้าใครจะทำผิดอะไรก็ให้พรรคพิจารณาไป แต่ผมยืนยันว่าพวกผมไม่ได้ทำผิด ที่ออกไปทำทั้งหมด ถือเป็นการทำภารกิจในฐานะที่เป็นนักการเมือง และรู้ว่าการต่อสู้กับระบอบทักษิณมันลำบาก การจะลากพรรคเข้าไปร่วมต่อสู้ด้วย หากพรรคโดนยุบก็จะเป็นปัญหา ดังนั้นการตัดสินใจออกไปทั้งหมดก็เป็นการเดินตามแนวทางพรรคคือต่อสู้กับระบบที่ไม่เป็นธรรมในวันนั้น และพรรคได้ต่อสู้ในสภาจนถึงที่สุดแล้ว และพวกผมก็ได้สานต่อ ส่วนเรื่องที่ผู้อาวุโสของพรรคออกมาเตือนนายอภิสิทธิ์นั้น ก็เป็นธรรมดาที่ผู้ใหญ่ก็ต้องมีความเห็น แต่ท่านก็ไม่ได้ระบุชี้ชัดอะไร ผมจะไปกินปูนร้อนท้องก็คงไม่ใช่ - แกนนำกปปส.จะกลับมาลงสมัครรับเลือกตั้งในนามพรรคประชาธิปัตย์มากขึ้นอีกหรือไม่ เท่าที่คุยเราทุกคนจะกลับมาพรรคประชาธิปัตย์ทั้งหมด ยกเว้นนายสุเทพ เทือกสุบรรณ ประธานมูลนิธิมวลมหาประชาชนเพื่อการปฏิรูปประเทศไทย (มปท.) คงยุติบทบาทด้านการเมือง ส่วนการจะทำกิจกรรมทางการเมืองก็เป็นเรื่องปกติ เพราะเอ็นจีโอก็สามารถทำได้ ตอนนี้ท่านก็เหมือนเป็นเอ็นจีโอคนหนึ่ง - การต่อสู้ของพรรคการเมืองในการเลือกตั้งรอบนี้ จะเข้มข้น ดุเดือดมากน้อยแค่ไหน ภายใต้กรอบกติกาที่เข้มงวด ผมคิดว่าเราจะโดนควบคุมโดยกรอบของรัฐธรรมนูญ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ผมเสนอในสปท.เข้าไปว่าการเลือกตั้งที่จะเกิดขึ้นต้องเป็นวาระแห่งชาติ คือทุกหน่วยงานในระบบราชการต้องมาช่วยงานเลือกตั้งให้เป็นไปโดยสุจริต และเที่ยงธรรม คสช.จะปฏิเสธ ลอยตัว ไม่รับรู้การทุจริตการเลือกตั้งในครั้งหน้าไม่ได้ เพราะคุณปฏิวัติมาจากเหตุผลของการเมืองที่ล้มเหลว การเมืองที่ซื้อสิทธิ์ขายเสียง และการเมืองที่ทุจริตคอร์รัปชั่น ดังนั้นการจะปฏิรูปก่อนการเลือกตั้งก็ต้องทำให้การเลือกตั้งครั้งหน้าสุจริต และเที่ยงธรรมให้ได้ การต่อสู้ฟาดฟันจะรุนแรงอย่างไรก็ตามอยู่ภายใต้กรอบกติกา และต้องป้องกันการทุจริตคอร์รัปชั่นให้ได้ มันถึงจะเป็นการปฏิรูปการเมือง ถ้ากลับรูปแบบเดิมก็เสียของ - ส่วนตัวมองว่าคสช.ปฏิรูปในเรื่องนี้ไปได้มากน้อยแค่ไหน ผมว่าภายในขอบเขตคสช.ก็ยังทำไปได้ส่วนหนึ่ง ส่วนปัญหาที่ยังถูกพูดถึงกันมากคือปัญหาเรื่องการทุจริตคอร์รัปชั่น วันนี้ไม่มีนักการเมือง และคนเชื่อมั่นว่าตัวนายกฯ เป็นคนซื่อสัตย์พอ แต่ยังมีข้อครหาเรื่องการทุจริต คือยังมีกลไกอีกตัวที่ยังเคลื่อนอยู่คู่กับการทุจริตของนักการเมืองคือข้าราชการประจำ เรายังไม่ได้ปฏิรูป ทิศทางนี้ต้องชัดเจน เพราะมันเหนืออำนาจของผมที่จะไปเสนอแล้ว คนในสภาส่วนใหญ่เป็นข้าราชการ และอดีตข้าราชการ ดังนั้นทางที่ดี คสช.ต้องคิดถึงการปฏิรูประบบราชการให้หลุดพ้นจากการทุจริตคอร์รัปชั่น - คิดว่ารัฐธรรมนูญฉบับใหม่ จะสร้างการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองให้เกิดขึ้นได้หรือไม่ เป็นความตั้งใจ แต่ว่าจะทำได้หรือไม่นั้นต้องอยู่ที่การเลือกตั้ง อยู่ที่เจตนารมณ์ของพรรคการเมืองทุกพรรค ต้องสละกิเลสในเรื่องการเอาคนมากโดยวิธีการไม่คำนึงถึง ต้องให้การเลือกตั้งสุจริตเที่ยงธรรม แม้จะฟังดูเหมือนแผ่นเสียงตกร่อง แต่ต้องทำให้ได้ และคนที่จะมีส่วนผลักดันมากที่สุดก็คือคสช. เรื่อง : พัชรพรรณ โอภาสพินิจ