ชาวบ้านหนองตรุดตรัง ร้องเดือดร้อนหลังชลประทานดำเนินโครงการขุดลอกแม่น้ำตรัง งบประมาณกว่า 600 ล้าน โวยค่าเวนคืนล่าช้า ขณะที่ผู้ว่าฯแจง ครม.อนุมัติงบ 99 ล้าน คาด 2 เดือนชาวบ้านได้รับ เมื่อเวลา 09.30 น. วันที่ 30 พฤษภาคม นายศิริพัฒ พัฒกุล ผู้ว่าราชการจังหวัดตรัง นายพิน ปานแดง หน.ฝ่ายโครงการก่อสร้างขนาดใหญ่ ชลประทานตรัง และคณะได้เดินทางไปยังพื้นที่ ต.หนองตรุด อ.เมือง จ.ตรัง เพื่อรับทราบปัญหาความเดือดร้อนอย่างจากโครงการขุดลอกแม่น้ำตรังระยะทางยาว 7.55 กิโลเมตรกว้าง 102 เมตร ใช้งบประมาณจำนวน 601 ล้านบาท ดำเนินการมาตั้งแต่วันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2559 ถึงวันที่ 16 สิงหาคม 2561 จนถึงขณะนี้ชาวบ้านที่ต้องเวนคืนที่ดินบางส่วนให้กับสำนักงานชลประทานจังหวัดมีทั้งหมดจำนวน 233 แปลงเนื้อที่ 747 ไร่ ได้รับค่าเวนคืน107 แปลงเป็นเงิน 142 ล้านบาท ส่วนที่เหลือยังไม่ได้เงินเวนคืน โดยมีชาวบ้านรวม 5 หมู่บ้านกว่า 100 คน ร้องขอความช่วยเหลือ รายงานข่าวแจ้งว่า สำหรับโครงการดังกล่าวชาวบ้านได้ตัดโค่นสวนยางพาราและสวนปาล์มน้ำมันเพื่อให้ผู้รับเหมาก่อสร้าง เข้าดำเนินการขุดลอกได้อย่างสะดวก แต่การก่อสร้างก็เป็นไปอย่างล่าช้า ทำให้ชาวบ้านหวั่นว่าหากเกิดฝนตกหนักติดต่อกันหลายวันจะมีน้ำท่วมซ้ำในพื้นที่และจะทำให้พนังกั้นแม่น้ำตรังที่กำลังก่อสร้างพังทลายลงมา จนน้ำไหลเข้าท่วมบ้านเรือนและพื้นที่ทางการเกษตรได้รับความเสียหาย อีกทั้งชาวบ้านส่วนใหญ่ยังไม่ได้รับค่าเวนคืนที่ดิน หรือบางส่วนที่ได้มาแต่ได้รับไร่ละ 1.8 แสนบาท ซึ่งน้อยกว่าราคาซื้อขายจริงไร่ละ 3 – 4 แสนบาท โดยเฉพาะจุดสูบระบายน้ำทำให้น้ำเข้าท่วมสวนยางพาราของชาวบ้านสร้างความเดือดร้อนเพิ่มมากขึ้นชาวบ้านจึงขอคำตอบรมต.เกษตรและสหกรณ์โดยด่วน ยังไม่อนุมัติงบประมาณ ร้องเรียนไปยัง คสช.และฟ้องศาลปกครอง นางวัลลี พริกหอม อายุ 50 ปี ตัวแทนชาวบ้านตำบลหนองตรุด อ.เมือง จ.ตรัง กล่าวว่า ที่ดินของตนเองมีทั้งหมด 30 ไร่ เป็นตัวบ้าน โรงจอดรถ และสวนยางพารา 27 ไร่ที่ต้องเวรคืนให้กรมชลประทาน เพื่อนำไปก่อสร้างโครงการดังกล่าว ตกลงเวรคืนในราคาไร่ละ 1.8 แสนบาท ทั้งที่ราคาซื้อขายจริงไร่ละ 3 -4 แสนบาท ทำให้ตนและครอบครัวได้รับความเดือดร้อนเป็นอย่างมาก เดิมชลประทานประชุมชาวบ้านเสนอราคาค่าเวนคืนที่ดินให้ไร่ละ 2.5 แสนบาท แต่ชาวบ้านต่อรองขอไร่ละ 3.5 แสนบาท ท้ายสุดให้เพียงไร่ละ 1.8 แสนบาท ชาวบ้าน 14 รายร้องอุทธรณ์ค่าเวนคืนดังกล่าวไปที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ แต่ยังไม่ทราบคำตอบ ทำให้ได้รับความเดือดร้อนอย่างมาก นายวิศาล เพชรคง ตัวแทนชาวบ้าน กล่าวว่า ชาวบ้านที่ประสบปัญหาอย่างเรียกร้องให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งปัญหาอย่างเร่งด่วน คือ พนังกั้นน้ำชั่วคราวที่สร้างขึ้นมา ชาวบ้านกังวลมากว่าถ้าน้ำเหนือไหลหลากมา จะพังทลายลงมา ชาวบ้านบริเวณริมฝั่งแม่น้ำตรังทั้ง ใน ต.หนองตรุด ,ต.นาตาล่วง ต.บางรัก และต.นาโต๊ะหมิง พื้นที่ที่เกิดน้ำท่วมใหญ่ครั้งที่ผ่านมา จะได้รับความเดือดร้อน เร่งดำเนินการแก้ไขอย่างเร่งด่วน 2. เรื่องค่าเวนคืนที่ดิน ที่จ่ายให้แก่ชาวบ้านในมีที่ดินพื้นราบในราคาที่เป็นไปตามที่ชลประทานมารับปากกับชาวบ้านไว้ ในอัตราไร่ละ 3.5 แสนบาท ขณะนี้ชาวบ้านจำนวนมาก ยังไม่ได้ค่าเวนคืนที่ดิน ซึ่งปัญหาดังกล่าวนี้ ชาวบ้านได้ร้องเรียนไปที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ไปแต่ยังไม่ได้รับคำตอบ โดยทางเจ้าหน้าที่อ้างว่า ต้องรอครม.อนุมัติ ซึ่งไม่ทราบว่าเมื่อไร ส่วนราคาที่ดินที่น้อยเกินไป ชาวบ้านที่รับเงินมาแล้วก็ทำเรื่องอุทธรณ์ไปภาย 60 วัน ที่กระทรวงเกษตรฯ ซี่งตามระเบียบรัฐมนตรีจะต้องตอบกลับมาภายใน 60 วันเช่นกัน จึงขอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งแก้ปัญหา นายศิริพัฒ พัฒกุล ผู้ว่าราชการจังหวัดตรัง กล่าวว่า หลังตรวจสอบสภาพพื้นที่บริเวณก่อสร้างติดริ่มฝั่งแม่น้ำตรัง ได้สั่งการให้เจ้าหน้าที่ฝ่ายรับเหมาก่อสร้าง เร่งทำการเสริมพนังกั้นน้ำให้มีความแข็งแรง เพื่อรองรับน้ำที่เกิดจากฝนตกหนักและน้ำเหนือไหลหลากในทันที เพื่อให้ประชาชนได้คลายความหวาดวิตก เนื่องจากในพื้นที่ยังเกิดฝนตกหนักเป็นระยะๆ นอกจากนี้ทราบว่า ครม.ได้อนุมัติงบประมาณมาเพิ่มเติมอีกจำนวน 99 ล้านบาท เพื่อจ่ายค่าเวนคืนที่ดินให้แก่ประชาชน ซึ่งอยู่ระหว่างการนำเสนอต่อสำนักงบประมาณ คาดว่าเงินค่าเวนคืนที่ดินจำนวนดังกล่าวจะถึงมือประชาชนภายใน 2 เดือนนับจากนี้ “ส่วนที่เหลือเชื่อว่า ครม.จะอนุมัติในปีงบประมาณต่อๆไป ส่วนกรณีที่ประชาชนที่ได้รับค่าเวนคืนที่ดินในอัตราไร่ละ 1.8 แสนบาท ซึ่งหลายรายมองว่าต่ำเกินไป เมื่อเปรียบเทียบกับราคาซื้อจริง เชื่อว่าคณะกรรมการพิจารณาอัตราค่าเวนคืนที่ดิน คงจะพิจารณาโดยเอาเกณฑ์การประเมินราคาที่ดินของสำนักงานที่ดินที่มีการซื้อขายที่ดิน เพื่อจ่ายภาษีที่ดินมาเป็นเกณฑ์มาตรฐานในการพิจารณา ซึ่งไม่สามารถจะประเมินให้สูงกว่าราคาประเมินของกรมที่ดินได้ ทำให้ได้มาในอัตราที่มองว่าน้อยเกินไป ซึ่งชาวบ้านสามารถร้องอุทธรณ์ เพื่อขอเพิ่มได้ ส่วนตัวจะพยายามติดตามเร่งรัดให้มีการแต่งตั้งคณะกรรมการพิจารณาคำอุทธรณ์ดังกล่าวโดยเร็วที่สุด เพื่อช่วยเหลือชาวบ้าน” นายศิริพัฒ กล่าว