สำนึกในพระมหากรุณาธิคุณ พระอัฐมรามาธิบดินทร ทรงยาตรามาหว่านข้าว ณ เกษตรกลางบางเขน ประเทศไทย มีภูมิปัญญาอันเนื่องมาจากการปลูกข้าวและมีข้าวเป็นอาหารหลัก สืบมาเป็นเวลายาวนานแล้ว และยังนับเป็นความโชคดีของคนไทยอย่างยิ่งที่มีพระมหากษัตริย์และพระบรมวงศานุวงศ์ ที่ทรงสนพระราชหฤทัยในการพัฒนาปรับปรุงระบบเกษตรกรรมและพืชพรรณทางการเกษตรมาทุกรัชสมัย วันที่ 5 มิถุนายน ของทุกปี คือ วันข้าวและชาวนาแห่งชาติ ตามมติคณะรัฐมนตรี วันที่ 23 มิถุนายน พ.ศ. 2552 เนื่องจากวันที่ 5 มิถุนายน พ.ศ. 2489 พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล พระอัฐมรามาธิบดินทร รัชกาลที่ 8 เสด็จพระราชดำเนินพร้อมด้วย สมเด็จพระอนุชา ทอดพระเนตรการทำนาและกิจการของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ทั้งได้ทรงหว่านข้าวด้วยพระองค์เองในแปลงนาหลังตึกขาว (ปัจจุบันคือตึกพืชพรรณของกรมวิชาการเกษตร) ณ เกษตรกลางบางเขน นับเป็นพระมหากรุณาธิคุณที่ได้พระราชทานต่อพสกนิกรชาวไทยและข้าวไทย ดังนั้นวันที่ 5 มิถุนายน ของทุกปี จึงเป็นวาระสำคัญแห่งประวัติศาสตร์ของกิจกรรมข้าวไทย ซึ่งปวงชนชาวไทยขอน้อมเกล้าฯรำลึกถึง อีกทั้งยังเป็นพระราชกรณียกิจสุดท้ายในแผ่นดินของพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล พระอัฐมรามาธิบดินทร รัชกาลที่ 8 ต่อมา เมื่อวันที่ 12 พฤษภาคม พ.ศ. 2558 คณะรัฐมนตรีได้มีมติเห็นชอบให้วันที่ 9 มิถุนายนของทุกปี ซึ่งเป็นวันคล้ายวันสวรรคตของรัชกาลที่ 8 เป็นวันรัฐพิธี โดยไม่ถือเป็นวันหยุดราชการ ทั้งนี้ เพื่อเป็นการรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณและเทิดพระเกียรติ โดยจะมีพิธีถวายราชสักการะพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล พระอัฐมรามาธิบดินทร บริเวณพระบรมราชานุสาวรีย์ รัชกาลที่ 8 อนึ่ง เมื่อวันที่ 18 ตุลาคม พ.ศ. 2559 คณะรัฐมนตรีได้มีมติเห็นชอบให้เฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 เป็น “พระบิดาแห่งการปฏิรูปข้าวไทย” และเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ 9 เป็น “พระบิดาแห่งการวิจัยและพัฒนาข้าวไทย” ด้วยสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณและน้อมเกล้าฯรำลึกในพระปรีชาสามารถและพระอัจฉริยภาพ รวมทั้งเพื่อเป็นการเฉลิมพระเกียรติทั้ง 2 พระองค์ ในโอกาสครบรอบ 100 ปี งานวิจัยข้าวไทย ในปี 2559 พระราชประวัติและพระราชกรณียกิจ พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล พระอัฐมรามาธิบดินทร พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล พระอัฐมรามาธิบดินทร รัชกาลที่ 8 แห่งราชวงศ์จักรี เสด็จพระราชสมภพเมื่อวันอาทิตย์ ขึ้น 3 ค่ำ เดือน 11 ปีฉลู ตรงกับวันที่ 20 กันยายน พ.ศ. 2468 ณ เมืองไฮเดลเบอร์ก ประเทศเยอรมนี เป็นพระราชโอรสพระองค์แรก ในสมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก และสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี ทรงมีสมเด็จพระเชษฐภคินี 1 พระองค์ และสมเด็จพระอนุชา 1 พระองค์ คือ สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ และ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล พระอัฐมรามาธิบดินทร ได้ทรงประกอบพระราชกรณียกิจนานัปการ ทั้งงานพระราชพิธี งานรัฐพิธี งานด้านการศาสนาและการศึกษา เสด็จพระราชดำเนินพระราชทานปริญญาบัตรที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เสด็จฯไปทรงเยี่ยมโรงพยาบาล หน่วยทหาร สถานที่สำคัญต่างๆ และทรงริเริ่มประเพณีการเสด็จพระราชดำเนินเยี่ยมราษฎรในชนบท โดยเริ่มในจังหวัดและอำเภอใกล้ๆ กรุงเทพฯ เช่น จังหวัดสมุทรปราการ สมุทรสาคร ปทุมธานี นครปฐม ปากเกร็ด พระราชกรณียกิจที่สำคัญยิ่งและมีผลระยะยาว คือ การเสด็จฯไปทรงเยี่ยมชาวจีนในย่านสำเพ็ง พระนคร ซึ่งถือเป็นการเสด็จฯทรงเยี่ยมราษฎรครั้งแรก โดยเสด็จพระราชดำเนินพร้อมด้วยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช เมื่อวันที่ 3 มิถุนายน พ.ศ. 2489 การเสด็จฯทรงเยี่ยมชาวจีนที่สำเพ็งครั้งนั้น นับเป็นพระมหากรุณาธิคุณยิ่ง เพราะทำให้ความขัดแย้งที่เกิดขึ้นระหว่างชาวจีนและชาวไทยที่มีมาก่อนหน้านั้นหายไป พระราชกรณียกิจที่สำคัญอีกประการหนึ่งคือ การเสด็จพระราชดำเนินทรงเป็นประธานในการตรวจพลสวนสนามของกองทัพสัมพันธมิตรพร้อมด้วย ลอร์ด หลุยส์ เมาน์ตแบตตัน ณ ท้องสนามหลวงและถนนราชดำเนิน ซึ่งเป็นการแสดงให้เห็นว่าประเทศไทย ยังเป็นเอกราชมิได้ถูกยึดครองโดยฝ่ายสัมพันธมิตร พระราชกรณียกิจสุดท้ายของพระองค์ที่มีความสำคัญต่อมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์คือ การเสด็จพระราชดำเนินเยี่ยมพสกนิกรที่บางเขน และได้ทรงหว่านข้าว ณ แปลงสาธิตที่สถานีเกษตรกลางบางเขน เมื่อวันที่ 5 มิถุนายน พ.ศ. 2489 พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล พระอัฐมรามาธิบดินทร มีกำหนดจะเสด็จฯกลับไปมหาวิทยาลัยโลซานน์ ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ในวันที่ 13 มิถุนายน พ.ศ. 2489 เพื่อทรงทำปริญญาเอก สาขานิติศาสตร์ที่ยังค้างอยู่ให้สำเร็จ แต่ได้เสด็จสวรรคตเสียก่อน เมื่อวันที่ 9 มิถุนายน พ.ศ. 2489 ศาสตราจารย์กิตติคุณ คุณชวนชม จันทระเปารยะ อดีตหัวหน้าภาควิชาคหกรรมศาสตร์ ให้สัมภาษณ์ เมื่อวันที่ 12 มกราคม พ.ศ. 2540 สรุปได้ว่า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล เสด็จฯพร้อมด้วยสมเด็จพระอนุชาเพื่อทอดพระเนตรกิจการของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ในวันที่ 5 มิถุนายน พ.ศ. 2489 โดยเสด็จฯเยี่ยมตึกเคมี (ตึกสัตวบาล ปัจจุบันคือตึกหอประวัติ มก.) เพื่อพระราชทานพระบรมราชวโรกาสให้อาจารย์ ข้าราชการ และนิสิตเฝ้าฯ และพระราชทานพระบรมราโชวาท แล้วเสด็จฯต่อไปยังสโมสรข้าราชการ จากนั้นประทับรถยนต์พระที่นั่งไปยังตึกขาว(ตึกพืชพรรณ)และเสวยพระกระยาหารที่นั่น..ต่อมาพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 8 เสด็จลงยังชั้นล่างเพื่อทอดพระเนตรการแสดงเกี่ยวกับการเกษตร แล้วเสด็จฯไปนาทดลองซึ่งอยู่หลังตึก ทรงหว่านข้าวและพระราชทานพระบรมราชานุญาตให้ราษฎรทูลเกล้าฯถวายของแล้วเสด็จฯกลับ วันที่ 5 มิถุนายน จึงเป็นวันสำคัญของชาติ และของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เป็นสถาบันอุดมศึกษาที่มีการเรียนการสอนทางด้านการเกษตรแห่งแรกของประเทศไทย มีภารกิจสำคัญในงานสอน งานวิจัยพัฒนาปรับปรุงพันธุ์และการเพิ่มมูลค่า เกี่ยวกับข้าวมา โดยตลอด การจัดกิจกรรมอันเนื่องด้วยการส่งเสริมการเกษตร จึงนับเป็นสิ่งที่สอดคล้องกับความเป็นศาสตร์แห่งแผ่นดินของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์เป็นอย่างยิ่ง สำหรับในวันที่ 5 มิถุนายนของทุกปีนั้น เป็นวันสำคัญยิ่งของชาวมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ นิสิตมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ในอดีตได้ถือเอาวันที่ 5 มิถุนายนของทุกปีเป็นวันต้อนรับน้องใหม่ (เริ่มปีใดไม่ปรากฏหลักฐาน) เนื่องจากเป็นวันแห่งประวัติศาสตร์ที่พระมหากษัตริย์ไทย คือ พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล พระอัฐมรามาธิบดินทร และสมเด็จพระอนุชา ได้เสด็จ ฯ เยี่ยมชมกิจการของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เป็นครั้งแรก จึงถือว่าวันนี้เป็นวันสิริมงคลในการจัดงานต้อนรับน้องใหม่ ไม่ว่าวันที่ 5 มิถุนายนจะตรงกับวันใดก็ตาม ถ้าตรงกับวันธรรมดามหาวิทยาลัยต้องหยุดเรียน 3 วัน คือ วันที่ 4 มิถุนายน เป็นวันเตรียมงาน วันที่ 5 เป็นวันพิธี และวันที่ 6 เป็นวันเก็บงาน ถือเป็นประเพณีต้อนรับน้องใหม่ในยุคนั้นและได้ถือปฏิบัติกันสืบเนื่องต่อมาจนถึงปี พ.ศ. 2502 จึงได้เปลี่ยนเป็นวันใดก็ได้ที่เป็นวันเสาร์และวันอาทิตย์ เพราะเป็นการสะดวกสำหรับนิสิตที่ไม่ต้องหยุดเรียน ซึ่งปัจจุบันวันรับน้องใหม่ของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ก็ได้ปรับเปลี่ยนไปตามระบบการสอบคัดเลือกเข้ามหาวิทยาลัย และระบบเปิดปิดภาคการศึกษาใหม่ตามประชาคมอาเซียน เหตุการณ์ประวัติศาสตร์เมื่อวันที่ 5 มิถุนายน พ.ศ. 2489 ในครั้งนั้น มิได้เลือนหายไปจากความทรงจำของชาวมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ยังคงฝังแน่นไว้ด้วยความจงรักภักดีและรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณที่พระมหากษัตริย์ไทยทั้ง 2 พระองค์ ได้เสด็จ ฯทรง เยี่ยมชมกิจการของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และ ทรงหว่านข้าว ณ เกษตรกลาง บางเขน เพื่อเป็นการสืบทอดพระราชปณิธานของพระมหากษัตริย์ไทย ที่ทรงตระหนักถึงความสำคัญของการส่งเสริมอาชีพเกษตรกรรมซึ่งสะท้อนให้เห็นว่าประเทศไทยมีภูมิปัญญา อันเนื่องมาจากการปลูกข้าวและมีข้าวเป็นอาหารหลักสืบมาเป็นเวลาช้านานแล้ว มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ร่วมกับ ชมรม มก.อาวุโส และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจึงได้ร่วมกันจัดงานทำบุญถวายเป็นพระราชกุศล ในวันที่ 5 มิถุนายน ของทุกปี โดยใช้ชื่องานว่า “งานวันรำลึกพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล พระอัฐมรามาธิบดินทร ทรงหว่านข้าว ณ เกษตรกลางบางเขน เมื่อวันที่ 5 มิถุนายน พ.ศ. 2489” โดยจัดกิจกรรมงานรำลึกครั้งแรกในปีพ.ศ. 2546 และจัดเรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน สำหรับปีพ.ศ. 2560 มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กำหนดจัด“งานวันรำลึกพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล พระอัฐมรามาธิบดินทร เสด็จพระราชดำเนินทรงหว่านข้าว ณ เกษตรกลางบางเขน เมื่อวันที่ 5 มิถุนายน พ.ศ. 2489” ในวันจันทร์ที่ 5 มิถุนายน พ.ศ. 2560 เวลา 9.00 - 10.30 น. ณ ห้องประชุมสุธรรม อารีกุล อาคารสารนิเทศ 50 ปี กิจกรรมประกอบด้วยพิธีทำบุญถวายพระราชกุศล พิธีกล่าวราชสดุดีรำลึกพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล พระอัฐมรามาธิบดินทร เสด็จพระราชดำเนินทรงหว่านข้าว ณ เกษตรกลางบางเขน โดย ดร.จงรัก วัชรินทร์รัตน์ รักษาการแทนอธิการบดีมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ การฉายวีดิทัศน์ 5 มิถุนารำลึก พระอัฐมรามาธิบดินทร ทรงยาตรามาหว่านข้าว และวีดิทัศน์ “ข้าวของพ่อ” การแสดงของนิสิตชมรมนาฏศิลป์ การแสดงดนตรีไทย นอกจากนี้ยังมีการจัดแสดงนิทรรศการพระราชประวัติและพระราชกรณียกิจ ของพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล พระอัฐมรามาธิบดินทร การเสด็จฯทอดพระเนตรกิจการของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เมื่อวันที่ 5 มิถุนายน พ.ศ. 2489 และเส้นทางเสด็จพระราชดำเนินทรงหว่านข้าว ณ เกษตรกลางบางเขน รวมถึงประวัติศาสตร์บอกเล่าจากบูรพาจารย์ อาทิ ศ.กิตติคุณ คุณชวนชม จันทระเปาระยะ ศ.ดร.ประเสริฐ ณ นคร ศ.ระพี สาคริก และนิทรรศการห้วงเวลาประวัติศาสตร์ของการปฏิรูปข้าวไทย จวบจนถึงการวิจัยและพัฒนาข้าวไทยในปัจจุบัน ตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5 จนถึงรัชกาลที่ 9 พร้อมกับแจกพันธุ์ข้าวพระราชทานเนื่องในงานพระราชพิธีพืชมงคลจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ เมื่อวันที่ 12 พฤษภาคม พ.ศ.2560 จากกรมการข้าว กระทรวงเกษตรและสหกรณ์แก่ผู้มาร่วมงานเพื่อเป็นสิริมงคลด้วย “งานวันรำลึกพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล พระอัฐมรามาธิบดินทร เสด็จพระราชดำเนินทรงหว่านข้าว ณ เกษตรกลางบางเขน เมื่อวันที่ 5 มิถุนายน พ.ศ. 2489” มิใช่ของใครโดยเฉพาะ แต่เป็นของคนไทยทั้งชาติในฐานะข้าพระบาทของแผ่นดิน มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ จึงขอเชิญชวนหน่วยงานที่เกี่ยวกับการเกษตรทั้งภาครัฐ กลุ่มเกษตรกรและชาวนาไทย และประชาชนชาวไทย ร่วมแสดงความจงรักภักดีและน้อมเกล้า ฯรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณ พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล พระอัฐมรามาธิบดินทร รัชกาลที่ 8 ที่ได้พระราชทานความสำคัญต่อภาคการเกษตรและข้าว ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญของความกินดีอยู่ดีและความยั่งยืนของประเทศไทยจวบจนปัจจุบัน นางผกามาศ ธนพัฒนพงศ์ /ประชาสัมพันธ์ มก.