ทรงสร้างประโยชน์สุขสู่ปวงประชา เสกสรร สิทธาคม [email protected] เกษตรทฤษฎีใหม่อันเนื่องมาจากพระราชดำริ แม่แบบการพึ่งตนเองขยายผลสู่ชาวจ.ระยอง พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทรงศึกษาและวิจัยเชิงปฏิบัติ เกี่ยวกับทฤษฎีใหม่มาเป็นเวลานานตั้งแต่ปี พ.ศ. 2523 ในพื้นที่ส่วนพระองค์ขนาด 16 ไร่ 2 งาน 23 ตารางวาใกล้วัดมงคล ตำบลห้วยบง อำเภอเมือง จังหวัดสระบุรี และประสบความสำเร็จให้คำตอบต่อแนวทางในการพัฒนาส่งเสริมให้ราษฎรนำไปปฎิบัติใช้ได้จริง พระราชดำริ "ทฤษฎีใหม่" เป็นแนวทางหรือหลักการในการจัดการทรัพยากรระดับไร่นาคือที่ดินและน้ำ เพื่อการเกษตรในที่ดินขนาดเล็กให้เกิดประโยชน์สูงสุด สามารถช่วยเหลือเกษตรกรที่มีพื้นที่น้อย ค่อนข้างยากจน อยู่ในเขตเกษตรน้ำฝนเป็นหลัก ให้มีเสถียรภาพของการผลิต ด้านอาหารประจำวัน ความมั่นคงของรายได้ ของชีวิต และของชุมชนชนบท นับเป็นสร้างระบบเศรษฐกิจตามวิถีพึ่งตนเองมากขึ้น อันเกิดจากการจัดสรรพื้นที่ทำกินและที่อยู่อาศัยตามที่มีอยู่ โดยแนวพระราชดำริเกษตรทฤษฎีใหม่นั้นแบ่งออกเป็น 4 ส่วน ตามอัตราส่วน 30:30:30:10 ซึ่งหมายถึง พื้นที่ 30% ให้ขุดสระหรืออ่างเก็บน้ำ เพื่อใช้เก็บกักน้ำฝนในฤดูฝนและ ใช้เสริมการปลูกพืชในฤดูแล้ง ตลอดจนการเลี้ยงสัตว์น้ำและพืชน้ำต่างๆ สามารถเลี้ยงปลา ปลูกพืชน้ำ เช่น ผักบุ้ง ผักกะเฉด ฯ ได้ด้วย ส่วนที่สอง 30% ให้ปลูกข้าวในฤดูฝนหรือที่เรียกข้าวนาปี เพื่อเก็บไว้กินประจำวันในครัวเรือนให้เพียงพอตลอดปี เพื่อตัดค่าใช้จ่ายและสามารถพึ่งตนเองได้ ส่วนที่สาม 30% ปลูกไม้ผล ไม้ยืนต้น พืชผัก พืชไร่ พืชสมุนไพร ฯลฯ เพื่อใช้เป็นอาหารประจำวัน หากเหลือบริโภคก็นำไปจำหน่ายจ่ายแจกเพื่อนบ้าน แล้วก็ส่วนเหลือ 10% ใช้เป็นที่อยู่อาศัย เลี้ยงสัตว์ และโรงเรือนอื่นๆ เช่น กองฟาง ลานตาก กองปุ๋ยหมัก โรงเพาะเห็ด คอกสัตว์ ไม้ดอกไม้ประดับ พืชผักสวนครัวหลังบ้าน เป็นต้น ทั้งนี้สัดส่วนดังกล่าวปรับเปลี่ยนได้ตามความเหมาะสมและความจำเป็นของพื้นที่และแนวทางดังกล่าวส่วนงานที่เกี่ยวข้องได้น้อมนำมาส่งเสริมสนับสนุนให้มีการปฎิบัติในหมู่ราษฎรและเกษตรกรอย่างต่อเนื่องซึ่งต่างประสบความสำเร็จเป็นอย่างดียิ่งเช่นที่จังหวัดระยองดินแดนชายทะเลที่เกษตรกรได้รับการส่งเสริมสนับสนุนให้นำแนวทางการทำเกษตรทฤษฎีใหม่มาปฎิบัติใช้จนทำให้ชีวิตในปัจจุบันมีความมั่นคงและสามารถขยายผลการน้อมนำไปปฎิบัติใช้ในกลุ่มเกษตรกรรายอื่นๆ อย่างต่อเนื่องในปัจจุบัน นายชาตรี บุญนาค ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมและพัฒนาการเกษตร ที่ 3 จังหวัดระยอง เปิดเผยว่า ตามที่ พลเอกฉัตรชัย สาริกัลยะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้มีนโยบายที่จะให้ขยายผล เกษตรทฤษฎีใหม่ สู่การปฎิบัติใช้ของเกษตรกร และทางกรมส่งเสริมการเกษตร นายสมชาย ชาญณรงค์กุล อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตรได้นำมาเป็นนโยบายและกำหนดให้ส่วนงานภายใต้สังกัดนำไปดำเนินการอย่างเป็นรูปธรรมนั้น ทางสำนักงานส่งเสริมและพัฒนาการเกษตร ที่ 3 จังหวัดระยอง ได้รับนโยบายมาดำเนินการภายในเขต โดยกระจายไปตามจังหวัดต่าง ๆ โดยเฉพาะจังหวัดระยองปัจจุบันมี 600 กว่าราย และกรมส่งเสริมการเกษตรได้ให้ทุกอำเภอขยายผลเพิ่มอีกอำเภอละ10รายและจะทำการขยายผลให้มากขึ้น เพื่อให้เกษตรกรได้เข้าถึงช่องทางในการลดความเสี่ยงในการประกอบอาชีพ มีรายได้เป็นรายวันรายเดือน และรายปี ช่วยลดค่าใช้จ่ายภายในครัวเรือน ทำให้เกษตรกรมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น “จากการดำเนินงานที่ผ่านมาพบว่าเกษตรกรให้ความสนใจมาก เพราะได้รับผลประโยชน์จริง จากที่เมื่อก่อนนั้นลำบากมีรายได้น้อย ไม่พอกิน แต่เมื่อหันมาทำเกษตรทฤษฎีใหม่ตามที่ได้เข้าไปส่งเสริม ปรากฎว่าได้ผลดีมาก ขณะนี้มีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น หมดหนี้หมดสิน แล้วก็ขยายกิจการทำงานมีรายได้เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง และลดความเสี่ยงในการดำเนินชีวิต” นายชาตรี บุญนาค ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมและพัฒนาการเกษตร ที่ 3 จังหวัดระยอง กล่าว ทางด้านนายอ๋า พรมไธสง เจ้าของศูนย์เรียนรู้ตามแนวพระราชดำริและประธานกลุ่มทำนาท่ากะพัก ตำบลทุ่งควายกิน อำเภอแกลง จังหวัดระยอง ที่ได้ทำเกษตรทฤษฎีใหม่ฯ นำสู่ความสำเร็จเปิดเผยว่า ในพื้นที่ราษฎรได้มีการรวมกลุ่มกันทำเกษตรทฤษฎีใหม่ ฯปลูกไม้ให้ผล ขุดสระเลี้ยงปลา เลี้ยงไก่ เลี้ยงหมู และทุกคนจะทำนาด้วยมีสมาชิกกลุ่มประมาณ 15 ครัวเรือนจาก 4 ตำบล ประกอบด้วย ตำบลคลองปูน ตำบลกระแสบน ตำบลน้ำเป็น และตำบลทางเกวียน เมื่อเก็บเกี่ยวข้าวแล้วจะเอามารวมกันเพื่อแปรรูปและจำหน่าย “ในการทำนาทุกคนจะทำแบบปลอดสารพิษ โดยปลูกข้าวพันธุ์หอมมะลิแดง มันปู ไรซ์เบอร์รี่ หอมมะลิ 105 เป็นหลัก เดิมทุกคนมีปัญหาในการทำนาตามสุภาษิตที่ว่า “ทำนาปรังมีแต่ซังกับหนี้ ทำนาปีมีแต่หนี้กับซัง” ทุกคนจึงเห็นด้วยว่าต้องรวมกันผลิตและมารวมกันขายตามแนวทฤษฎีใหม่อันเนื่องมาจากพระราชดำริ ประธานกลุ่มทำนาท่ากะพักเล่าด้วยว่าในการจำหน่ายนั้นทางกลุ่มจะกำหนดราคาเอง โดยปลูกข้าวพันธุ์มะลิแดง มันปู และหอมมะลิ 105 ถ้าเป็นหอมมะลิขาย 15,000 บาทต่อเกวียน ถ้าเป็นหอมมะลิแดงและมันปูขาย 20,000 บาท ไรซ์เบอรี่ขาย 70,000 บาท เมื่อนำมาสีเป็นข้าวสารเกวียนหนึ่งก็จะอยู่ประมาณ 600 กิโล ก็จะได้ 30,000 บาท บวกจมูกข้าวอีก 10,000 บาท เป็น 40,000 บาท บวกแกลบ บวกรำอีก ประมาณ 5,000 บาท เกวียนหนึ่งก็จะได้ 45,000 บาท ถ้าเป็นไรซ์เบอรี่ ขายกิโลละ 70 บาท ก็จะได้ 42,000 บาท บวกจมูกข้าวอีก 10,000 บาท ได้ 52,000 บาท แกลบรำก็จะได้อีกต่างหาก “ปัจจุบันข้าวสารที่สีออกมาไม่พอขาย เพราะที่โรงพยาบาลแกลง และรอบโรงพยาบาลแกลงทั้งหมดจะซื้อข้าวที่นี่ไปรับประทานเพราะเป็นข้าวปลอดสารเคมี รับประทานแล้วดีต่อสุขภาพ การดำเนินชีวิตด้วยการนำหลักเกษตรทฤษฎีใหม่มาปฎิบัติใช้ ทำให้เรามีรายได้ มีความสุข มีข้าวปลอดสารกิน มีพืชผักของตนเอง มีปลา มีไก่ มีทุกอย่างที่เป็นอาหารประจำวันที่เหลือจึงจะนำออกขาย คือไม่ได้เน้นที่รายได้ที่ทำอยู่ แต่เน้นที่ความสุขที่ได้รับ เพราะไม่ต้องออกไปหางานทำ ได้อยู่พร้อมหน้ากันทั้งครอบครัวทุกวัน เพื่อนบ้านก็มีกันครบทั้งครอบครัว ชุมชนมีความสุข” นายอ๋า พรมไธสง กล่าว สำหรับความสำเร็จในการนำหลักทฤษฎีใหม่ฯมาปฎิบัติใช้ของราษฎรในพื้นที่แห่งนี้และประสบความสำเร็จอย่างเห็นเป็นรูปธรรม ทางสำนักงานส่งเสริมและพัฒนาการเกษตร ที่ 3 จังหวัดระยอง จึงนำมาเป็นแม่แบบเพื่อขยายผลสู่การปฎิบัติใช้ของราษฎรในพื้นที่อื่นๆ ต่อไป และจะส่งเสริมสนับสนุนให้ก้าวสู่ทฤษฎีใหม่ขั้นก้าวหน้าต่อไป