รับน้ำฝนได้เพิ่มขึ้น 80 มม. และยังมากกว่านั้น ส่งน้ำผ่านเกาะกลาง ระบุจะทำให้ระบายได้เร็วกว่าเดิม ขณะการก่อสร้างรับปากจะไม่ให้กระทบการเดินทางของประชาชนเพราะจะทำในช่วงกลางคืนเท่านั้น ประเดิมสร้างก่อน 8 จุดส.ค.นี้ คาดใช้เวลาเป็นปี ก.ย.ต่ออีก 3 จุด เผยเป็นวิธีเหมาะสมที่สุดเท่าที่ทำได้ เพราะไม่สามารถขยายท่อเดิม พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าฯกทม.เปิดเผยว่า กทม.กำลังก่อสร้างท่อขนส่งน้ำในผิวจราจรบริเวณเกาะกลางด้วยวิธีดันท่อ หรือPIPE JACKING ตามโครงการก่อสร้างระบบระบายน้ำในถนนสายหลัก ระยะที่ 1 ในพื้นที่ลุ่มต่ำและเป็นจุดเฝ้าระวังปัญหาน้ำท่วม 11 จุด ซึ่งมักเกิดปัญหาน้ำท่วมขังเป็นเวลานานอยู่เสมอ แม้มีปริมาณฝนตกสะสมที่ไม่เกิน 80 มม. ต่อวัน โดย PIPE JACKINGคือการสร้างบ่อใต้ดินสำหรับรองรับน้ำเวลาฝนตก และระบายน้ำออกจากพื้นที่ผ่านแนวท่อใต้ดินจากจุดหนึ่งไปยังอีกจุดหนึ่ง ทั้งนี้ การก่อสร้างจะขุดเปิดผิวจราจรเฉพาะจุดก่อสร้างบ่อรับน้ำโดยจะดำเนินการในเวลากลางคืน ตั้งแต่ 22.00 –04.00 น. ของวันใหม่ และจะคืนผิวจราจรชั่วคราวให้สามารถสัญจรผ่านได้ในเวลากลางวัน เพื่อให้ส่งกระทบต่อการเดินทางของประชาชนน้อยที่สุด อนึ่ง คาดว่าจะสามารถเริ่มก่อสร้างโครงการดังกล่าวภายในเดือนส.ค.ปีนี้ ได้ 8 จุด ได้แก่ 1. ถนนสุขุมวิท 21 (อโศกมนตรี) 2. ซอยสุขุมวิท 31 และซอยสวัสดี 3. ถนนทรงสวัสดิ์ ถนนเยาวราช และถนนเจริญกรุง 4. ซอยสุขุมวิท 4 (นานาใต้) 5.ซอยสุขุมวิท14 6.ถนนนราธิวาสราชนครินทร์ 17 และถนนสวนพลู 7. ถนนพหลโยธินบริเวณแยกเกษตรศาสตร์ และ 8. ซอยสุขุมวิท 107 ถึงคลองบางนา และ ภายในเดือนก.ย.3 จุด ได้แก่ ถนนศรีอยุธยาและถนนพระรามที่ 6 ถนนสุขุมวิท 63 (เอกมัย) และซอยสุขุมวิท 39 แต่ละจุดใช้ระยะเวลาก่อสร้างประมาณ 10-13 เดือน ขึ้นอยู่กับปริมาณงาน ทั้งนี้ คาดว่าเมื่อโครงการแล้วเสร็จจะช่วยแก้ไขปัญหาน้ำท่วมในพื้นที่เฝ้าระวัง 11 จุดดังกล่าวได้ โดยมีขีดความสามารถรองรับปริมาณฝนตกสะสมได้อย่างน้อย 80 มม./วัน และแม้ว่าจะเกิดกรณีฝนตกหนักจนมีปริมาณฝนสะสมเกินกว่านั้น ก็จะสามารถช่วยระบายน้ำออกจากพื้นที่ได้เร็วขึ้นกว่าเดิม สำหรับเหตุผลที่ กทม. เลือกวิธี PIPE JACKINGมาใช้ในการระบายน้ำนั้น เนื่องจากท่อระบายน้ำในถนน ตรอก ซอย มีสภาพเก่าและมีขนาดเล็ก ไม่สามารถระบายน้ำได้ทันต่อปริมาณน้ำทิ้งและน้ำฝน ประกอบกับการเปลี่ยนแปลงของเมืองในปัจจุบันทำให้พื้นที่น้ำบางจุดมีระดับต่ำ เมื่อเกิดฝนตกหนักจึงทำให้เกิดน้ำท่วมขังฉับพลัน อีกทั้งมีสิ่งปลูกสร้างกีดขวางFLOODWAY ทำให้น้ำที่ท่วมขังไม่มีทางระบายออกตามธรรมชาติ ต้องใช้เวลาในการระบายน้ำนาน ในขณะที่การขยายท่อขนส่งน้ำ (Transport Pipe) ให้มีขนาดใหญ่ขึ้นไม่สามารถทำได้ เนื่องจากมีแนวท่อระบายน้ำเดิมอยู่เต็มพื้นที่ อีกทั้งยังมีระบบสาธารณูปโภคใต้ดินดินจำนวนมาก นอกจากนั้นการขุดเปิดหน้าดินเพื่อวางท่อระบายน้ำดังกล่าวยังส่งผลกระทบต่อการจราจรเป็นอย่างมากอีกด้วย