เลขาธิการ กช.เผย3แนวทางดูสวัสดิการค่ารักษาพยาบาล ผอ.+ครู+บุคลากรโรงเรียนเอกชน นายพะโยม ชิณวงศ์ เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน (กช.) เปิดเผยว่า ในการประชุมคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน ที่มี นพ.ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ รมว.ศึกษาธิการ เป็นประธานเมื่อเร็ว ๆ นี้ มีมติเห็นชอบแนวทางการจ่ายเงินสวัสดิการสงเคราะห์ เป็นค่ารักษาพยาบาล ผู้อำนวยการ ครู และบุคลากรทางการศึกษาของโรงเรียนเอกชน ใน 3 แนวทาง ดังนี้ 1.กองทุนสงเคราะห์ยกเลิกการจัดสวัสดิการค่ารักษาพยาบาล และให้สมาชิกกองทุนฯ ทุกคนใช้สิทธิประกันสุขภาพถ้วยหน้า หรือบัตรทอง โดยจะต้องปรับแก้กฎหมายและระเบียบที่เกี่ยวข้องกับการจัดสวัสดิการค่ารักษาพยาบาลของกองทุนฯ 2.กองทุนฯ ทำความร่วมมือกับสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ(สปสช.) เพื่อขอใช้สิทธิบริการสาธารณสุข ตามมาตรา 9 แห่ง พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ฯ และส่งเงินสมทบกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ตามมาตรา 39 และ 3.สมาชิกกองทุนฯ สามารถเลือกรับเงินสมทบเข้ากองทุนฯ ตามอัตราเดิม คือ สมาชิกส่ง 3% โรงเรียนสมทบ 3% และรัฐบาลสมทบ 6% และรับสวัสดิการค่ารักษาพยาบาลจากกองทุนฯ ไม่เกิน 100,000 บาทต่อปี หรือเลือกรับสวัสดิการบัตรทอง โดยอาจนำเงินสมบทที่รัฐจ่าย 6% มาจ่ายให้กับ สปสช.แทน อย่างไรก็ตาม ที่ประชุมได้มอบให้สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน (สช.) นำแนวทางดังกล่าวไปหารือกับกฤษฎีกา ว่าหากให้บุคลากรของโรงเรียนเอกชน เลือกใช้สิทธิค่ารักษาพยาบาลตามแนวทางใด แนวทางหนึ่ง จะขัดต่อกฎหมายหรือไม่ ซึ่งหากไม่ขัดกฎหมาย สช.จะเร่งดำเนินการจัดทำระเบียบต่าง ๆ เพื่อประกาศใช้ต่อไป เลขาธิการ กช. กล่าวต่อว่า นอกจากนี้ที่ประชุมยังมีมติ เห็นชอบให้โรงเรียนนอกระบบสามารถเปิดสอนเป็นภาษาต่างประเทศได้ เนื่องจากพบว่ามีชาวต่างชาติสนใจเรียนหลักสูตรต่าง ๆ ที่โรงเรียนนอกระบบเปิดสอนอยู่จำนวนมาก ไม่ว่าจะเป็นโรงเรียนสอนนวดแผนไทย สอนมวยไทย สอนหลักสูตรทำอาหาร เป็นต้น โดยจากนี้ สช.จะไปกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการสอนเป็นภาษาต่างประเทศของโรงเรียนนอกระบบ เพื่อให้การจัดการเรียนการสอนเป็นภาษาต่างประเทศเป็นไปในทิศทางเดียวกันอย่างมีคุณภาพ สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน อย่างไรก็ตาม ที่ประชุมยังรับทราบมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) ในการปรับเพิ่มเงินอุดหนุนค่าใช้จ่ายในการจัดการศึกษาขั้นพื้นฐานสำหรับนักเรียน เพื่อสมทบเป็นเงินเดือนครู ใช้งบประมาณเพิ่มปีละ 781 ล้านบาท เพื่อเป็นการประกันรายได้ครูโรงเรียนเอกชน ให้ได้รับเงินเดือนเท่ากับฐานเงินเดือนขั้นต่ำของรัฐ