นายอนันต์ มหัจฉริยพันธุ์ สหกรณ์จังหวัดนครราชสีมา เปิดเผยว่า มันสำปะหลัง เป็นพืชเศรษฐกิจที่สร้างรายได้ให้กับเกษตรกรไทยเป็นอันดับ 3 รองจากข้าว และยางพารา รวมทั้งยังเป็นพืชที่สามารถแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์และสามารถส่งออกได้เป็นอันดับ 1 ของโลก ติดต่อกันมาเป็นระยะเวลานาน และประเทศไทยได้วางยุทธศาสตร์มันสำปะหลังและผลิตภัณฑ์ โดยจะเป็นผู้นำด้านการผลิตและค้าผลิตภัณฑ์มันสำปะหลังของโลก และมีเป้าหมายจะสามารถเพิ่มผลผลิตเฉลี่ย 5 ตัน/ไร่ในปี 2562 และ 7 ตัน/ไร่ ในปี 2569 โดยให้มีการบริหารจัดการพื้นที่ปลูกมันสำปะหลังในพื้นที่ 8.5 ล้านไร่ ที่จะดำเนินการในด้านการผลิต และที่เกี่ยวข้องกับสถาบันเกษตรกร คือ การเพิ่มประสิทธิภาพและลดต้นทุนการผลิต ด้วยการพัฒนาและสร้างความเข้มแข็ง เพื่อเพิ่มศักยภาพในบทบาทที่จะช่วยเหลือเกษตรกรและใช้ระบบสหกรณ์เป็นกลไกสำคัญในการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ กรมส่งเสริมสหกรณ์ จึงได้อนุมัติโครงการสร้างเครือข่ายพัฒนาการตลาดสินค้าเกษตรมันสำปะหลัง โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างความเข้มแข็งให้กับสหกรณ์และกลุ่มเกษตรกรในการดำเนินธุรกิจมันสำปะหลัง และลดต้นทุนการผลิตให้กับสมาชิกสหกรณ์ที่ปลูกมันสำปะหลังให้ได้ นายอนันต์ มหัจฉริยพันธุ์ สหกรณ์จังหวัดนครราชสีมา สหกรณ์จังหวัดนครราชสีมา กล่าวว่า สำนักงานสหกรณ์จังหวัดนครราชสีมา จึงได้จัดโครงการถ่ายทอดความรู้แก่บุคลากรของสหกรณ์ในการวางแผนการผลิตมันสำปะหลัง โดยมีสหกรณ์เข้าร่วมโครงการ จำนวน 7 สหกรณ์ ได้แก่ 1.สหกรณ์การเกษตรขามสะแกแสง จำกัด 2.สหกรณ์การเกษตรบ้านเหลื่อม จำกัด 3.สหกรณ์การเกษตรปากช่อง จำกัด 4.สหกรณ์การเกษตรนิคมฯลำตะคอง จำกัด 5.สหกรณ์การเกษตรด่านขุนทด จำกัด 6.สหกรณ์การเกษตรเทพารักษ์ จำกัด และ7.สหกรณ์การเกษตรสารภีโชคชัย จำกัด เพื่อสร้างกลุ่มผู้ผลิตและเครือข่ายมันสำปะหลังของจังหวัดนครราชสีมา และให้สหกรณ์วางแผนการผลิตมันสำปะหลัง เพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์การผลิตและการตลาดในประเทศ นายอนันต์ กล่าวอีกว่า จังหวัดนครราชสีมามีพื้นที่ปลูกมันสำปะหลัง ประมาณ 1.9 ล้านไร่ เกษตรกรประมาณ 7.3 หมื่นราย กระจายไปเกือบจะทุกอำเภอในจังหวัดนครราชสีมา ผลผลิตที่ได้เฉลี่ย 4 ตัน/ไร่ แต่อำเภอที่มีพื้นที่ในการปลูกมันสำปะหลังกันมาก คือ อำเภอครบุรี อำเภอด่านขุนทด อำเภอเสิงสาง อำเภอหนองบุนมาก และอำเภอสีคิ้ว ซึ่งมีพื้นที่ปลูกในแต่ละอำเภอเกินกว่าแสนไร่ ในจำนวนนี้เป็นสหกรณ์ที่มีสมาชิกเป็นเกษตรกรผู้ปลูกมันสำปะหลังกันเป็นจำนวนมากๆประมาณ 15 สหกรณ์ ซึ่งแม้ในห้วงเวลา ณ ปัจจุบัน สถานการณ์ทางด้านเศรษฐกิจจะอยู่ในช่วงชะลอตัว ส่งผลกระทบต่อราคาพืชผลทางการเกษตรโดยเฉพาะราคามันสำปะหลัง จะมีราคาตกต่ำ แต่การถ่ายทอดองค์ความรู้ การบริหารจัดการพื้นที่ เพื่อให้สามารถลดต้นทุนการผลิต และเพิ่มผลผลิต ด้วยการสร้างความเข้มแข็งให้กับสหกรณ์ผู้ผลิตมันสำปะหลัง ภายใต้ยุทธศาสตร์และแนวทางการพัฒนาความเข้มแข็งของสหกรณ์ ตามนโยบายของกรมส่งเสริมสหกรณ์ยังคงต้องดำเนินการต่อไป ด้วยการสร้างกลุ่มผู้ผลิตและเครือข่ายมันสำปะหลัง เพื่อสร้างความเข้มแข็งให้กับสหกรณ์ผู้ผลิตมันสำปะหลัง และสามารถสร้างเครือข่ายเพื่อพัฒนาการผลิตและการตลาดสินค้าเกษตรมันสำปะหลังต่อไป