ทรงสร้างประโยชน์สุข ศูนย์เรียนรู้เกษตรทฤษฎีใหม่ฯ วิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีร้อยเอ็ด(2) เสกสรร สิทธาคม [email protected] วิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีร้อยเอ็ด เป็นหนึ่งในสถานศึกษาสังกัดกรมอาชีวศึกษาที่นับแต่จัดตั้งเป็นวิทยาลัยได้น้อมนำหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงตามแนวพระราชดำริในพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชมาเป็นหลักในการ จัดการเรียนการสอนสายอาชีพเกษตรกรรมตามแนวทฤษฎีใหม่อันเนื่องมาจากพระราชดำริลงสู่การปฏิบัติให้นักเรียนนักศึกษาสายเกษตรได้ซึมซับโดยการบริหารจัดการการศึกษา แก่นักเรียนนักศึกษาจัดกระบวนการเรียนรู้แบบบูรณาการพัฒนากิจกรรมต่างๆปลูกฝังรากฐานแห่งการก้าวไปสู่ความสำเร็จในวิชาชีพเกษตรกรรมที่ได้รับการอบรมบ่มนิสัยความไม่โลภ ความขยัน การรู้จักอดทน การรู้จักทำงานร่วมกับผู้อื่นด้วยความรักเมตตาให้อภัย ให้รู้จักความกตัญญูเป็นที่ตั้งอย่างเข้มข้นจนเกิดพัฒนาการเพิ่มทักษะความเชี่ยวชาญในอาชีพที่เรียนและลงมือทำได้อย่างแท้จริงเยาวชนสามารถจะนำไปเป็นเครื่องมือสร้างงาน สร้างอาชีพ สร้างรายได้ ช่วยเหลือเกื้อกูลคนอื่นได้ ทำประโยชน์ให้คนอื่นได้ เป็นกำลังสร้างชาติได้ เพิ่มคนดีให้กับสังคมได้ พัฒนาผู้เรียนบุคลากรวิทยาลัยในสถานศึกษาตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงฯมาอย่างจริงจังต่อเนื่องโดยลำดับ ทั้งในกระบวนการจัดการเรียนการสอน การพัฒนาแหล่งเรียนรู้ และการประสานสัมพันธ์ที่ดีกับชุมชน มีกระบวนการติดตามประเมินผลการพัฒนา ด้วยความร่วมมือร่วมใจของทุกฝ่าย ทั้งผู้บริหาร ครูและบุคลากรทางการศึกษา นักเรียน นักศึกษา และภาคประชาชน จนเกิดผลสำเร็จเป็นรูปธรรมในหลายด้าน โดยเฉพาะการอบรมบ่มนิสัยนักเรียนนักศึกษาตั้งแต่อดีตรุ่นแล้วรุ่นเล่าเติบโตเป็นพลเมืองที่เกื้อกูลครอบครัวเกื้อกูลสังคมเพาะต้นกล้าความรู้และความเป็นคนดีในเยาวชนทุกรุ่นมาจนปัจจุบัน ผ่านแหล่งเรียนรู้ ในรั้ววิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีร้อยเอ็ด ที่มีความพร้อมในการคัดกรองจัดตั้งเป็นศูนย์เรียนรู้ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงฯด้านการศึกษา ที่ชุมชนสามารถเข้าไปร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ได้และพร้อมที่จะขับเคลื่อนหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงฯสู่ความยั่งยืนให้เป็นเสาหลักของสังคมและประเทศชาติสืบไป ดังวิสัยทัศน์ของวิทยาลัย ที่ว่า “มุ่งพัฒนาทักษะวิชาชีพเป็นเลิศ เปิดสู่สากล บริการชุมชนดีเยี่ยม เปี่ยมคุณธรรม น้อมนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงฯ” ในฐานะสถานศึกษาสายวิชาชีพด้านการเกษตร วิทยาลัยน้อมนำหลักการเกษตรทฤษฎีใหม่ตามแนวพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช เป็นแสงประทีปนำทางเป็นเครื่องมือหล่อหลอมจัดการเรียนการสอนทั้งภาคทฤษฎีและปฏิบัติมาอย่างต่อเนื่อง สามารถผลิตเยาวชนจนมีทักษะเชี่ยวชาญด้านการเกษตรทั้งตามวิถีแห่งภูมิปัญญาไทยและวิถีโลกาภิวัตน์คือเทคโนโลยีสมัยใหม่มาประยุกต์เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพมากยิ่งในทุกด้าน หากแต่ยังคงดำเนินไปตามหลักแห่งความเป็นเกษตรอินทรีย์เพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นทั้งกายและใจของทุกคน ศูนย์เรียนรู้การเกษตรปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงฯวิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีร้อยเอ็ด ตั้งขึ้นเเมื่อวันที่ 13 เดือน พฤษภาคม พ.ศ.2557 จากผลพวงความเข้มแข็งด้านองค์ความรู้การดำเนินตามวิถีทฤษฎีใหม่ฯที่เดินตามองค์ประกอบแห่งแนวพระราชดำริทั้งการพัฒนาแหล่งน้ำ พัฒนาทรัพยากรธรรมชาติเช่นต้นไม้ที่เป็นแหล่งดูดซับน้ำ พัฒนาดิน พัฒนาอาชีพหลักอาชีพเสริมด้านเกษตรกรรม อาชีพปศุสัตว์ เป็นต้นอย่างมีประสิทธิภาพ เป็นที่พึ่งของนักเรียนนักศึกษาและประชาชนในชุมชนและที่สนใจทั่วไป วิทยาลัยได้จัดตั้งเป็นศูนย์เรียนรู้ตามแนวพระราชดำริ ณ บริเวณบ่อตกปลา พระพุทธรูป โพธิ์งาม เพื่อเป็นที่รวมองค์ความรู้ทั้งแก่นักเรียนนักศึกษาเองที่จะได้มาศึกษาค้นคว้าโดยมีทั้งครูผู้เชี่ยวชาญ มีครูภูมิปัญญาที่เป็นปราชญ์ชาวบ้านด้านเกษตรกรรม ด้านดิน ด้านน้ำมาคอยให้ความรู้ความสามารถ ตลอดจนประชาชนทั่วไปที่สนใจก็สามารถเข้ามาศึกษาเรียนรู้ได้ศึกษาทดลองได้ โดยในบริเวณพื้นที่ ได้ขุดบ่อปลาเก่าและทำดินเป็นเกาะกลางน้ำ มีการปลูกต้นไม้ ปลูกพืชเพื่อดูดซับความชุ่มชื้นพัฒนาเป็นจุดพักผ่อนหย่อนใจมีร้านอาหารไว้รองรับผู้ไปเยือน ดร. ชาติชาย เกตุพรมผู้อำนวยการ ได้สนับสนุนส่งเสริมและได้ผลักดันศูนย์การเรียนรู้การเกษตร ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงตามแนวพระราชดำริขึ้นภายในวิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีร้อยเอ็ดเพื่อสนับสนุนให้สถานศึกษามีบทบาทในการขับเคลื่อนปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงฯเป็นแหล่งบ่มเพาะคนดีมีความเชี่ยวชาญด้านอาชีพเกษตรกรรมเพื่อเป็นทรัพยากรบุคคลที่มีความสามารถสู่สังคมไทยสืบสานพระราชปณิธานพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชซึ่งมีพระราชดำริชี้แนะให้มีการส่งเสริมให้คนไทยเกษตรกรชาวชุมชนพึ่งพาตนเอง ด้วยวิถีพอมี พอกิน พอใช้ มีเหตุผลมีภูมิคุ้มกัน สืบสานประเพณีวัฒนธรรมไทยที่ดีงามในท้องถิ่น เป็นแหล่งเรียนรู้ทางวิชาการ แหล่งท่องเที่ยวอนุรักษ์ชาวเกษตร และศูนย์การถ่ายทอดภูมปัญญาท้องถิ่นผ่านศูนย์การเรียนรู้ 27 ฐาน ณ บริเวณด้านหน้า ศูนย์การเรียนรู้ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงฯ วิทยาลัยยังได้เตรียมความพร้อมองค์ความรู้ทั้งทฤษฎีและปฏิบัติเพื่อนักเรียนนักศึกษาผู้สนใจทั่วไปได้เรียนรู้ฝึกฝนความชำนาญที่เป็นองค์ประกอบเช่นความรู้ธุรกิจการตลาดโดยสร้างร้านค้าจำหน่ายผลิตภัณฑ์การเกษตร ไร้สารพิษจากสารเคมีเป็นผลผลิตอินทรีย์จริงผลงานของนักเรียน นักศึกษาเป็นร้านมินิมาร์ท ขวัญเกษตรและยังมีร้านอาหารแซบนัวครัวเกษตร 101 เปิดบริการขาย สะเต๊ก สลัด และอาหารตามสั่งพอเพียงและประชาชนทั่วไป(อ่านต่อ) ข้อมูล : ชาญณรงค์ ช่างสลัก และสุทธิลักษณ์ ศิรินันติกุล วิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีร้อยเอ็ด