ทรงสร้างประโยชน์สุขสู่ปวงประชา เสกสรร สิทธาคม [email protected] สนองพระราชปณิธาน พัฒนาตนเองด้วยหลักศีลธรรม พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชทรงบำเพ็ญพระราชกรณียกิจด้วยพระวิริยะและพระเมตตา เพื่อความอยู่เย็นเป็นสุขของราษฎรอย่างแท้จริง โดยทรงยึดหลักธรรมะเป็นแนวทางในการบำเพ็ญพระราชกรณียกิจเพื่อประโยชน์สุขของประชาชนนับแต่เสด็จขึ้นครองราชย์ตราบจนเสด็จสู่สวรรคาลัย สมดังพระปฐมบรมราชโองการในพระราชพิธีบรมราชาภิเษก เมื่อวันที่ ๕ พฤษภาคม ๒๔๙๓ ณ พระที่นั่งไพศาลทักษิณพระบรมมหาราชวัง ความว่า “เราจะครองแผ่นดินโดยธรรม เพื่อประโยชน์สุขแห่งมหาชนชาวสยาม” ตลอดเวลาที่ทรงครองราชย์ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชทรงเปรียบเหมือนดวงพระประทีปที่คอยส่องชี้ทางให้พสกนิกรให้ได้เห็นแสงสว่างในการดำเนินชีวิต จากการพระราชทานพระราชดำรัส และพระบรมราโชวาทแก่พสกนิกรเนื่องในโอกาสต่างๆ ตลอดจนทรงดำเนินพระองค์ให้เป็นแบบอย่างแห่งการยึดมั่นในหลักคุณธรรมอันรวมถึงการพัฒนาจิตใจและพัฒนาร่างกายให้แข็งแรงและพร้อมต่อการพัฒนาตนเองให้เป็นคนดีของสังคมไทยต่อไป ด้วยสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณอย่างหาที่เปรียบมิได้ ขออัญเชิญพระบรมราโชวาทและพระราชดำรัส ที่ขอเชิญชวนทุกท่านให้ศึกษาและน้อมนำมาใช้เป็นแนวทางในการพัฒนาตนเองโดยครอบคลุมเรื่อง การมีความบริสุทธิ์ใจในการดำเนินชีวิต การใช้ศีลธรรมและคุณธรรมเป็นแนวทางเมื่อต้องเผชิญกับปัญหาความยุ่งยากในสังคม การใช้ความรู้คู่คุณธรรมเพื่อสร้างความเจริญก้าวหน้าให้แก่ตนเองและประเทศชาติ การฝึกตนให้เป็นคนกล้าเพื่อความถูกต้อง และการประพฤติชอบ ปฏิบัติชอบเพื่อความสุขความเจริญ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่9พระราชทานพระราชดำรัสเกี่ยวกับการมีความรู้น้อย แต่มีความบริสุทธิ์ใจ แก่คณาจารย์โรงเรียนต่างๆ ณ พระตำหนักจิตรลดารโหฐาน เมื่อวันที่ ๑๘ มีนาคม ๒๕๒๓ ความตอนหนึ่งว่า “...ผู้ที่มีความสุจริตและบริสุทธิ์ใจ แม้ว่าจะมีความรู้น้อย ย่อมทำประโยชน์ได้มากกว่าผู้ที่มีความรู้มาก แต่ไม่มีความสุจริต ไม่มีความบริสุทธิ์ใจ...” พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่9พระราชทานพระบรมราโชวาทในพิธีพระราชทานปริญญาบัตรของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เมื่อวันที่ ๑๘ กันยายน ๒๕๐๔ ความตอนหนึ่งว่า “...บรรดาผู้สำเร็จการศึกษาตามหลักสูตรของมหาวิทยาลัยก็เปรียบเหมือนได้กุญแจที่จะไขไปสู่ชีวิตที่เจริญต่อไปในวันข้างหน้า แต่ขอเตือนว่า การดำเนินชีวิตโดยใช้วิชาการอย่างเดียวยังไม่เพียงพอ จะต้องอาศัยความรู้รอบตัว และหลักศีลธรรมประกอบด้วย ผู้ที่มีความรู้ดี แต่ขาดความยั้งคิด นำความรู้ไปใช้ในทางมิชอบ ก็เท่ากับเป็นบุคคลที่เป็นภัยแก่สังคมของมนุษย์ ฉะนั้นขอให้ทุกคนจงดำรงชีวิตและประกอบอาชีพโดยอาศัยวิชาความรู้ที่ได้รับมาประกอบด้วยความยั้งคิดชั่งใจ และศีลธรรมอันดีงาม เพื่อความเจริญก้าวหน้าของตนเองและของประเทศชาติ...” พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่9พระราชทานพระบรมราโชวาทแก่ผู้สำเร็จการศึกษาของสำนักอบรมศึกษากฎหมายแห่งเนติบัณฑิตยสภา เมื่อวันที่ ๒๗ ตุลาคม ๒๕๒๒ ความตอนหนึ่งว่า “...ข้าพเจ้าปรารถนาเป็นอย่างยิ่งที่จะเห็นท่านทั้งหลายฝึกหัดตนให้เป็นคนกล้า คือกล้าที่จะปฏิบัติให้เป็นไปตามความถูกต้อง เที่ยงตรงทั้งตามกฎหมายและศีลธรรม โดยไม่หวั่นไหวต่ออิทธิพลหรือคติใดๆ ทั้งหมดให้เป็นคนมั่งคงในสัตย์สุจริตและความถูกต้องตามครรลองคลองธรรม ไม่ปล่อยให้ความสุจริตยุติธรรมถูกข่มขี่ให้มัวหมองได้ ทั้งนี้ เพื่อท่านจักได้สามารถกำจัดสิ่งที่เรียกว่าช่องโหว่ในกฎหมาย ให้บรรเทาเบาบางและหมดสิ้นไป และทำให้กฎหมายเป็นไปตามวัตถุประสงค์อันสูงส่งตามที่มุ่งหมายไว้...” พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชพระราชทานพระราชดำรัสเรื่องการประพฤติชอบ ปฏิบัติชอบเพื่อนำความเจริญมาสู่ตนแก่โต๊ะครูและนักเรียน โรงเรียนราษฎร์สอนศาสนาอิสลามจากภาคใต้ เมื่อวันที่ ๒๔ สิงหาคม ๒๕๑๙ ความตอนหนึ่งว่า “...ความเจริญของคนทั้งหลายย่อมเกิดมาจากการประพฤติชอบและการหาเลี้ยงชีพชอบเป็นหลักสำคัญ ผู้ที่จะประพฤติชอบและหาเลี้ยงชีพชอบได้ด้วยนั้น ย่อมจะต้องมีทั้งความรู้ทั้งหลักธรรมทางศาสนา เพราะสิ่งแรกเป็นปัจจัยสำหรับส่งเสริมความประพฤติ และการปฏิบัติการงานให้ชอบ คือ ให้ถูกต้องและเป็นธรรม วิชาการกับหลักธรรมนี้มีประกอบกันพร้อมอยู่ในผู้ใด ผู้นั้นจะได้ประสบความสุขและความสำเร็จในชีวิตโดยสมบูรณ์...” เพื่อน้อมสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณและร่วมทำความดีสนองพระราชปณิธานขอให้ทุกท่านได้มีความสุขและความปีติใจจากการน้อมนำพระบรมราโชวาทและพระราชดำรัสพร้อมทั้งหลักการทรงงานในพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชไปใช้เป็นแนวทางในการดำเนินชีวิตเพื่อพัฒนาและปรับปรุงตนให้นำสู่ความเจริญยิ่งๆ ขึ้นไป ด้วยสำนึกและจิตใจที่เมตตาธรรม จากการให้ช่วยเหลือเกื้อกูลระหว่างกัน ซึ่งเป็นคุณธรรมพื้นฐานสำคัญที่อยู่ในส่วนลึกของสังคมไทย ดังพระราชดำรัสที่ได้พระราชทานไว้ในโอกาสวันขึ้นปีใหม่ เมื่อวันที่ ๓๑ ธันวาคม ๒๕๔๕ ความตอนหนึ่งว่า “...คุณธรรมข้อหนึ่งที่ยังมีอยู่อย่างสมบูรณ์ในจิตใจของคนไทยก็คือ การให้ การให้ ไม่ว่าจะให้สิ่งใด แก่ผู้อื่นโดยสถานใดก็ตาม เป็นสิ่งที่พึงประสงค์อย่างยิ่ง เพราะเป็นเครื่องประสานไมตรีอย่างสำคัญระหว่างบุคคลกับบุคคล และทำให้สังคมมีความมั่นคงเป็นปึกแผ่น ด้วยสามัคคีธรรม...”