สัปดาห์นี้ 'กนก กนธี' จะพาทุกคนผจญภัยบนเส้นทางสายไหมในดินแดนอันไกลโพ้น แบบเน้นๆ ด้วยการพาไปสัมผัสเขตปกครองตนเองซินเจียงอุยกูร์ ในประเทศจีนทางภาคตะวันตกเฉียงเหนือของประเทศ ซึ่งเป็นเขตปกครองใหญ่ที่สุดของจีน โดยทางตัวแทนของรัฐบาลจีนในเมืองซินเจียง พาไปสัมผัสทุกซอกทุกมุม ทั้งแหล่งท่องเที่ยว และเส้นทางเศรษฐกิจกิจที่เป็นกำลังหลักของเมืองนี้ จะสนุกเข้มข้นเพียงใด คงต้องติดตามหาอ่านกันที่นี่ทีเดียวเท่านั้น บินลัดฟ้าสู่จุดหมายใหม่ เพียงเริ่มต้นเดินทางจากกรุงเทพฯ ด้วย สายการบินซานตง ในเที่ยวบินช่วงเวลา 03.05 น. ก็อดจะหวั่นๆใจนิดๆ กับจุดหมายปลายที่ทั้งใหม่ และสดมากๆ สำหรับ 'กนก กนธี' ดังนั้นการเตรียมพร้อมทุกสถานการณ์ ทั้งหาข้อมูลคร่าวๆ ของเมืองที่จะไป รวมถึงการเดินทางข้ามประเทศด้วยตัวคนเดียว ที่จะต้องไปเปลี่ยนเครื่อง ณ สนามบินคุนหมิง เพื่อบินต่อไปยังสนามบินอุรุมชี ในเมืองซินเจียง ประเทศจีน ดูจะท้าทายนักเดินทางสายย่อ (ย่อโลกทั้งใบมาไว้ในคอลัมน์ สะพายกล้องท่องโลก) เสียจริงๆ เปลี่ยนเครื่องที่สนามบินคุนหมิง ชั่วข้ามคืนใช้เวลาประมาณ 3 ชั่วโมงกว่าๆ ก็ถึง สนามบินคุนหมิง แบบงงๆ ก่อนจะเดินลงจากเครื่องบินพร้อมคำอธิบายด้วยภาษาอังกฤษสำเนียงไชนีส ว่า 'กนก กนธี' จะต้องเปลี่ยนตั๋วโดยสารใหม่ และต้องผ่านจุดตรวจคนเข้าเมือง เพื่อที่จะไปขึ้นเครื่องบินของซานตงแอร์ไลน์ ที่บินภายในประเทศ ซึ่งจากการประมวลผลคร่าวๆ กับเวลาที่เรียกขึ้นเครื่องบนตั๋วโดยสารใหม่ ทำให้แทบต้องใช้ฝีเท้า 4x100 เมตร พร้อมกระโดดค้ำถ่อวิ่งข้ามจุดตรวจฯ ไป ณ วินาทีนั้นเลยทีเดียว แต่ยังโชคเข้าข้างอยู่บ้าง เพราะเจ้าหน้าที่ตรงจุดตรวจคนเข้าเมืองที่คุนหมิง ใจดีมีน้ำใจ ไม่เข้ม ไม่ดุ เหมือนอย่างที่เป็นข่าวออกมา อีกทั้งยังมีเจ้าหน้าที่ของสายการบินซานตงคอยดูแลอยู่ห่างๆ ไม่ล้ำเขตแดนกัน จึงทำให้ย่นเวลาที่จะต้องต่อคิวตรวจคนเข้าเมืองไปได้หลายสิบนาที ถึงกระนั้นแม้จะผ่านด่านแรกมาได้ ยังมีด่านสองไว้ทดสอบกำลังขา เนื่องจากระยะทางจากเทอมินอลต่างประเทศ อยู่ห่างจากในประเทศกว่า 2 กิโลเมตร งานนี้จึงต้องงัดกำลังที่มีอยู่ทั้งหมดสาวเท้ารัวๆ บางช่วงก็ต้องออกวิ่งบ้างไม่นานก็ถึงประตูทางออกหมายเลข 53 อย่างฉิวเฉียด ช่องว่างระหว่างการเดินทาง จาก สนามบินคุนหมิง มุ่งหน้าสู่ สนามบินอุรุมชี ใช้เวลาอีกประมาณ 2 ชั่วโมงกว่าๆ ก็ถึงจุดหมายปลายทางโดยสวัสดิภาพ ณ เทอมินอลในประเทศก่อนเที่ยงประมาณ 5 นาที ก่อนจะนั่งนับถอยหลังนับเวลารับประเป๋า และแล้ว 'กนก กนธี' ก็เริ่มสังเกตเห็นผู้คนเบาบาง สายพานลำเลียงว่างเปล่าไร้ซึ่งกระเป๋าสีฟ้าใบเก่ง อาการผุดลุกผุดนั่งมาอีกระลอก เพราะแน่ใจว่า ไม่มีกระเป๋าของเราอย่างแน่นอน ซึ่งคนที่สามารถช่วยได้คงเป็นเจ้าหน้าที่ของสนามบิน และก็ไม่ผิดหวังเพราะสืบความกันได้ ก็ถูกแนะนำให้ไปถามที่เทอมินอลต่างประเทศของสนามบินอุรุมชี วิวของอุรุมชีที่เต็มไปด้วยภูเขา หลังจากส่งภาษาฟุดฟิดฟอไฟกันสักพักใหญ่ตรงเคาร์เตอร์ สายการบินไชน่า เซาท์เทิร์น ก็มีคุณลุงผู้ใจดีของทางสายการบินดังกล่าวออกมาเป็นผู้คอยชี้แนะพร้อมนำ 'กนก กนธี' ไปตรงช่องของซานตงแอร์ไลน์ ณ ที่นั้นมีเจ้าหน้ายืนข้างๆ กระเป๋าใบเก่งที่ตั้งโดดเด่นเป็นสง่ารอเจ้าของไปรับ ก่อนจะเดินกลับมาที่จุดเดิม ณ เทอมินอลในประเทศ เพื่อรอตัวแทนจากรัฐบาลของเมืองซินเจียง พาเดินทางเข้าใจกลางเมืองใช้เวลาอีกประมาณหนึ่งชั่วโมง สนามบินนานาชาติอุรุมชี เช็คอินใจกลางเมืองซินเจียง ช่วงบ่ายๆ ของวันกับการเช็คอินที่ Hoi Tak Hotel ณ ที่นี่มีนักท่องเที่ยวทั้งในประเทศ และต่างประเทศ ต่างแวะเวียนกันมาเที่ยวชมกันอย่างมากมาย รวมถึง 'กนก กนธี' และเพื่อนๆ ในสายอาชีพเดียวกันอีก32 คนจาก24 ประเทศ รวมถึงนักข่าวในประเทศจีนอีกประมาณ 15 คนจากหลากหลายสำนัก เพื่อมานำเสนอเรื่องราวของเส้นทางเศรษฐกิจ รวมถึงแหล่งท่องเที่ยวสำคัญๆ ของเมืองนี้ให้ทั่วโลกได้รับรู้ บริเวณล็อบบี้ Hoi Tak Hotel  ต่างคนต่างมาคนละทิศคนละทาง ทั้งจากยุโรป มิดเดิลอีส และเอเชีย มารวมตัวกันที่อุรุมชี ซินเจียง โดยมีเจ้าภาพ คือ รัฐบาลของเมืองนี้เป็นผู้ดูแล และต้อนรับเป็นอย่างดี ซึ่งมื้อแรกของการผจญภัยบนเส้นทางสายไหมของ 'กนก กนธี' ในครั้งนี้ดูจะอร่อยเป็นพิเศษ แม้เมนูอาหารจะเน้นไปทางจำพวกเนื้อแ แพะ ผัก ผลไม้ และอาหารจำพวกแป้งต่างๆ ที่สำคัญขาดไม่ได้กับเครื่องดื่มประจำถิ่นอย่างไวน์ และเบียร์ ที่ติดป้าย ซินเจียง โดดเด่นจนน่าค้นหา เครื่องดื่มประจำถิ่นซินเจียง สำหรับ ซินเจียง เมืองที่ล้อมรอบด้วยภูเขา ถูกเล่าผ่านสื่อต่างๆ แต่ก็ไม่มากพอที่จะทำให้ผู้ที่สนใจเมืองนี้ลุกขึ้นเก็บกระเป๋าเดินทางไปท่องเที่ยวเอง แต่นับจากนี้ไปรับรองว่า ทุกๆ คนสามารถวางแผนเดินทางด้วยตัวเอง เพื่อไปค้นหาตำนานเส้นทางสายไหม ที่ถูกเล่าขานกันมานานกว่า 2 พันปี ถึงดินแดนในซินเจียง ที่แปลเป็นไทยหมายถึง พรมแดนใหม่ เป็นหนึ่งในตำนานเส้นทางสายไหมที่มีประวัติศาสตร์ยาวนาน โดยมีเมืองเอกชื่อ อูหลู่มู่ฉี เมืองที่ถูกจัดตั้งขึ้นเป็นเมืองครั้งแรกในสมัยราชวงศ์ถัง ซึ่งในยุคนั้นถือเป็นยุคทองทางการค้าของจีนกับประเทศทางแถบเปอร์เซีย มีผ้าไหม เป็นสินค้าที่มีค่าและเป็นที่ต้องการ เนื่องจาก วิธีการเลี้ยงและการทอผ้าไหมยังเป็นความลับที่ชาวเปอร์เซียยังไม่รู้ สัมผัสตำนานเส้นทางสายไหม อีกทั้งยังมีเรื่องราวการเดินทางที่อยู่ในความสนใจของนักท่องเที่ยวทั่วโลก ซึ่ง 'กนก กนธี' คิดว่า น่าจะมาจากการเดินทางจากจีนไปยังแถบเปอร์เซียนั้นแสนยาวไกลจึงทำให้เมืองนี้เป็นจุดแวะพักของกองคาราวานเส้นทางสายไหม โดยมีจุดเริ่มต้นจากเมืองฉางอาน หรือ(ซีอาน)ในปัจจุบัน โดยมีผ้าไหม กระเบื้องลายคราม เป็นสินค้าหลักในการส่งออกไปยังแถบเปอร์เซียและได้ส่งไปไกลถึงแถบยุโรป จากชื่อเสียงและความงามของผ้าไหมจีนที่ได้รับการยอมรับเป็นอย่างสูง ส่งผลให้เส้นทางนี้เป็นเส้นทางหลักในการแลกเปลี่ยนสินค้าที่ถูกขนานนามว่า เส้นทางสายไหม นั้นเอง ใจกลางเมืองซินเจียง แม้ว่าดินแดนแห่งนี้แต่เดิมเป็นถิ่นฐานของชาวอุยกูร์ที่มีเชื้อสายตุรกี โดยมีการสู้รบแย่งชิงการครอบครองแผ่นดินผืนนี้กับชาวจีนเชื้อสายฮั่นมานานกว่า 2 พันปี แต่ท้ายที่สุดแล้ว ซินเจียงได้ถูกจีนผนวกเข้าเป็นส่วนหนึ่งของประเทศจีนในสมัยจักรพรรดิเฉียนหลงแห่งราชวงศ์ชิงและได้ตกอยู่ในการปกครองของจีนแผ่นดินใหญ่มาจนถึงปัจจุบัน และด้วย ซินเจียง มีแหล่งทรัพยากรทางธรรมชาติที่สำคัญและมีมูลค่าทางเศรษฐกิจ จึงทำให้มณฑลซินเจียง โดยเฉพาะเมืองเอกอย่าง อูหลู่มู่ฉี หรือ อุรุมชี ได้รับการพัฒนาอย่างรวดเร็ว ทั้งนักลงทุนชาวจีน และชาวต่างชาติต่างเดินทางมาลงทุนที่นี่ เป็นจำนวนมาก จนส่งผลให้ในปัจจุบันในเมืองมีตึกสูง โรงแรม ห้างสรรพสินค้าชื่อดังมากมาย ใจกลางเมืองซินเจียง สุดท้ายในสัปดาห์นี้กับประสบการณ์ท่องเที่ยวสุดแสนประทับใจ ในดินแดนบริสุทธิ์ผืนสุดท้ายของมนุษย์ยังมีเรื่องเล่าขานอีกมามายที่ทุกคนไม่ควรพลาด ซึ่งสัปดาห์หน้า 'กนก กนธี' จะพาทุกคนไปชมความทันสมัยของซินเจียง ซอฟแวร์ พาร์ค อาณาบริเวณของการคิดค้นเครื่องมืออิเลคทรอนิกส์สำหรับชีวิตประจำวัน รวมถึงการแวะชมเครื่องมือทางอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ ที่ ซินเจียง แฟกทอรี่ ออฟ ไชน่า เรลเวย์ คอนสตรัคชั่น รับรองว่า ทุกคนจะเพลิดเพลินไปกับเรื่องราวต่างๆ ที่นำมาเขียนในคอลัมน์ สะพายกล้องท่องโลก ของหนังสือพิมพ์สนามรัฐสัปดาห์วิจารณ์อย่างแน่นอน กนก กนธี เรื่อง/ภาพ [email protected] ข่าวที่เกี่ยวข้อง: ผจญภัยในเมืองซินเจียง | ตำนานเส้นทางสายไหม (2)