“อุตตม” พร้อมด้วย “ประธานบอร์ด กนอ.” ลงพื้นที่ติดตามความคืบหน้านิคมฯยางพารา จังหวัดสงขลา เผยงานก่อสร้างรุดหน้ากว่า 50 เปอร์เซ็นต์ มั่นใจแล้วเสร็จพร้อมเปิดบริการนักลงทุนปี 61 เดินหน้าโครงการ กนอ. สานพลังประชารัฐ เปิดโรงงานมาตรฐานเพส 2 ตอบโจทย์เอสเอ็มอียางไทยแห่เข้าประกอบกิจการเต็มพื้นที่ทันที พลเอก วรพงษ์ สง่าเนตร ประธานกรรมการ การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย เปิดเผยในวันนี้ (31 พฤษภาคม 2560 ) ว่า กนอ. ได้ให้การต้อนรับ นายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ลงพื้นที่เยี่ยมชม และรับฟังบรรยายความคืบหน้าโครงการจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรมยางพารา หรือ Rubber City ในพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมภาคใต้ ตำบล ฉลุง อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา ระยะที่ 2/2 และ 3 บนพื้นที่ รวมประมาณ 1,218 ไร่ ปัจจุบันมีความก้าวหน้าไปมากกว่า 50 เปอร์เซ็นต์ ในส่วนของระบบสาธารณูปโภค ซึ่งเป็นไปตามแผนงานที่วางไว้ นักลงทุนวางแผนเริ่มเข้าใช้พื้นที่ได้ในต้นปี 2561 ทั้งนี้ที่ผ่านมารัฐบาลได้มีนโยบายที่สำคัญในการพัฒนาอุตสาหกรรมยางพาราของไทยให้ยั่งยืน โดยการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้ายางพาราที่จำเป็นต้องใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมการแปรรูปจากการวิจัยและพัฒนา เพื่อการพัฒนาอุตสาหกรรมยางพาราของไทยอย่างยั่งยืน และเป็นการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศได้ “ที่ผ่านมาประเทศไทยส่งออกน้ำยางพาราเป็นอันดับหนึ่งของโลก แต่เราไม่สามารถกำหนดราคายางพาราได้เอง ทำให้ราคามีความผันผวนและไม่มีเสถียรภาพ รวมถึงจุดอ่อนในการส่งออกวัตถุดิบราคาถูกไปขายให้ต่างประเทศที่นำไปแปรรูปด้วยเทคโนโลยีแล้วกลับมาขายให้เราในราคาแพง ดังนั้นรัฐบาลจึงได้กำหนดเป้าหมายให้ชัดเจน และบูรณาการกับภาคส่วนต่างๆที่เกี่ยวข้องร่วมกันสนับสนุนพัฒนาและวิจัยยางพาราเพื่อเพิ่มความต้องใช้ยางพาราในภาคอุตสาหกรรมสร้างกลไกผลักดันราคายาง ดังนั้นรัฐบาลจึงมอบให้ กนอ.ซึ่งมีความเชี่ยวชาญด้านการกำกับดูแลจัดตั้งนิคมฯทุกแห่ง ทั่วประเทศ ให้เข้าดำเนินการจัดตั้งนิคมฯดังกล่าว ถือเป็นจุดเริ่มต้นการลงทุนในพื้นที่ภาคใต้ เนื่องจากเป็นพื้นที่ที่มียางพาราเป็นวัตถุดิบในการรองรับภาคอุตสาหกรรมยางพารา และมีการเชื่อมโยงความร่วมมือกับทุกภาคส่วนตามแนวทางพลังประชารัฐ จึงนับเป็นยุทธศาสตร์ที่สำคัญต่อการยกระดับ พื้นที่นี้เป็นศูนย์กลางด้านเศรษฐกิจ การค้า การลงทุนรวมถึงการศึกษาวิจัยที่เชื่อมโยงคลัสเตอร์อุตสาหกรรมยางพาราตั้งแต่อุตสาหกรรมยางพาราต้นน้ำ กลางน้ำและปลายน้ำได้อย่างมีประสิทธิภาพ” พลเอก วรพงษ์ กล่าว นอกจากนั้น กนอ. ยังได้กำหนดแนวทางการพัฒนานิคมฯยางพารา ที่สอดคล้องกับนโยบายการส่งเสริมกลุ่มวิสาหกิจขนาดกลาง และขนาดย่อม (SMEs) ตามนโยบายรัฐบาล ภายใต้โครงการ “กนอ.สานพลังประชารัฐ ยกระดับ SME ยางไทย ก้าวไกลในนิคมอุตสาหกรรมยางพารา” โดยการพัฒนาอาคารโรงงานมาตรฐาน (Ready – Built Factory) เพื่อรองรับผู้ประกอบการอุตสาหกรรมขนาดกลางและขนาดย่อมที่เกี่ยวเนื่องกับอุตสาหกรรมยางพารา โดยเป็นอุตสาหกรรมสะอาดที่ไม่มีมลพิษ (Clean Industry) ภายในพื้นที่ระยะที่ 3ของนิคมอุตสาหกรรมภาคใต้ จังหวัดสงขลา เป็นโครงการก่อสร้างอาคารโรงงานมาตรฐานสำเร็จรูป พร้อมระบบสาธารณูปโภค ผู้ประกอบการสามารถเข้าประกอบกิจการได้ทันที บนพื้นที่ 25 ไร่ นาย วีรพงศ์ ไชยเพิ่ม ผู้ว่าการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) กล่าวอีกว่า โครงการประชารัฐในนิคมฯยางพารา กนอ. ได้ก่อสร้างอาคารโรงงานมาตรฐาน รองรับผู้ประกอบการ SMEs โดยหลังจากเปิดโรงงานมาตรฐานในเฟสแรกมีผู้ประกอบการ SMEs เข้ามาประกอบกิจการเต็มพื้นที่แล้ว และปัจจุบัน กนอ. ได้เปิดโรงงานมาตรฐานสำเร็จรูปเฟสที่ 2 อีก จำนวน 7 ยูนิต รวมพื้นที่ทั้งสิ้น 3,500 ตารางเมตร โดยมีผู้ประกอบการ SMEs เช่าพื้นที่เต็มโครงการฯแล้ว ซึ่งประกอบกิจการประเภทยางคอมปาวด์ หมอนยางพารา ผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพกรวยยางจราจร สำหรับ ผู้ประกอบการ SMEs ที่เข้ามาประกอบกิจการในอาคารโรงงานมาตรฐาน จะต้องผ่านกระบวนการบ่มเพาะหรือผ่านการอบรม ด้านวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์ยางพารา จากมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (มอ.) เข้ามาสู่กระบวนการผลิตที่จะก่อให้เกิดมูลค่าเพิ่มของอุตสาหกรรมยางพาราไทย จาก กนอ. มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (มอ.) และ สหกรณ์การยาง จังหวัดสงขลา ซึ่ง กนอ. และหน่วยงานดังกล่าวได้จัดทำความมือกัน เพื่อสนับสนุนให้ผู้ประกอบการSMEs ได้มีความพร้อมในการนำนวัตกรรมมาสร้างมูลค่าเพิ่มในการประกอบกิจการ ที่จะสามารถสร้างปริมาณความต้องการการใช้ยางพาราภายในประเทศได้จำนวนมากขึ้น “ขณะนี้กลุ่มผู้ประกอบการ SMEs กลุ่มอุตสาหกรรมยางพาราขั้นกลางน้ำ และ ปลายน้ำ ได้สนใจเข้ามาเช่าพื้นที่โรงงานมาตรฐาน เพื่อประกอบกิจการอย่างต่อเนื่อง แสดงให้เห็นว่านิคมฯยางพารา ได้ช่วยส่งเสริมและยกระดับภาคเกษตรกรยางพารา หรือ ผู้ประกอบการรายเล็กได้เข้าสู่ภาคการผลิต และนำไปสู่การสร้างมูลค่าเพิ่ม รวมถึงการแก้ไขปัญหาเสถียรภาพราคายางให้กับเกษตรกรสวนยางพาราได้ในระยะยาว”นายวีรพงศ์ กล่าว จากความร่วมมือของทุกภาคส่วน ภายใต้นโยบายพลังประชารัฐ เมื่อมีการใช้พื้นที่เต็มทั้งหมด คาดว่า จะมีความต้องการใช้ยางพาราเพิ่มขึ้น ประมาณ 9,000 ตันต่อปี โดยมีสัดส่วนเป็น น้ำยางข้น ประมาณ 60% หรือ 5,400 ตันต่อปี และยางแผ่นรมควัน ประมาณ 40 % หรือ 3,600 ตันต่อปี ซึ่งจะก่อให้เกิดรายได้แก่กลุ่มเกษตรกรชาวสวนยางประมาณ 450 ล้านบาทต่อปี และเมื่อนำมาแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ยางพาราแล้วจะสามารถเพิ่มมูลค่าได้ถึง 10 เท่า หรือ คิดเป็นเม็ดเงินประมาณ 4,500 ล้านบาท นอกจากนั้น กนอ. ยังลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) สนับสนุนสานพลังประชารัฐ เพื่อบูรณาการความร่วมมือด้านการจัดหาแรงงานและพัฒนาฝีมือแรงงานกับ หน่วยงานต่างๆที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ สำนักงานแรงงาน แรงงานจังหวัดสงขลา จัดหางานจังหวัดสงขลา วิทยาลัยเทคนิคหาดใหญ่ วิทยาลัยเทคนิคจะนะ วิทยาลัยการอาชีพ นาทวี และวิทยาลัยการอาชีพหลวงประธานราษฎรร์นิกร เพื่อเตรียมความพร้อมด้านแรงงานรองรับการลงทุนในนิคมอุตสาหกรรมยางพาราอย่างเพียงพอทั้งในเชิงคุณภาพ และปริมาณ สำหรับความร่วมมือทั้ง 7 หน่วยงาน จะร่วมกันสนับสนุน เชื่อมโยงและอำนวยความสะดวกในการจัดหาแรงงาน และ พัฒนาทักษะฝีมือแรงงานในสถานประกอบการ เพื่อรองรับความต้องการของผู้ประกอบการในนิคมอุตสาหกรรม