รู้จักสนช.นายทหารเรือหัวกะทิ “พล.ร.อ.พัลลภ ตมิศานนท์” เรื่อง : จิราพร เพิ่มลาภ ภาพ : พสุพล ชัยมงคลทรัพย์ สำหรับช่วงพักยกทางการเมือง เพื่อเดินหน้าสู่การปฏิรูป และวางอนาคตประเทศแบบนี้ หลายฝ่ายคงกำลังขะมักเขม้นลุยงานกันอย่างเข้มข้น วันนี้ “รื่นรมย์คนการเมือง” จะขอพาหลบเรื่องวุ่นๆกันสักครู่ เพื่อมาทำความรู้จักกับ "บิ๊กทหาร" แห่งทัพเรือไทยอีกท่านหนึ่ง อย่าง “พล.ร.อ.พัลลภ ตมิศานนท์” หรือ “พี่ลภ” สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) “พี่ลภ” จบนักเรียนนายเรือรุ่นที่ 72 เตรียมทหารรุ่นที่ 15 สำเร็จการศึกษาโรงเรียนนายเรือสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมัน และอีกหลายๆหลักสูตรด้านการทหาร นอกจากนี้พี่ลภ ยังจบปริญญารัฐศาสตร์บัณฑิต ด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศและการเมืองการปกครองเปรียบเทียบและปริญญารัฐศาสตร์มหาบัณฑิตอีกด้วย @นักเรียนหัวกะทิ สำหรับพี่ลภนั้น การเรียนถือเป็นสิ่งสำคัญ ประกอบกับเป็นคนหัวดี ทำให้ได้เป็นนักเรียนระดับหัวกะทิของแทบทุกสถานศึกษาที่เข้าเรียนเลยก็ว่าได้ พี่ลภเล่าว่า สมัยมัธยมเรียนโรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย จะได้อยู่ห้องควีนหรือห้องคิงส์สลับกันตลอด จากนั้นก็สอบเข้าโรงเรียนเตรียมทหาร ได้ลำดับที่ 2 จากทั้งรุ่นหลายร้อยคน และตอนเรียนเตรียมทหารเราก็พยายามจะเรียนให้ได้ที่ 1 แต่ก็มีเพื่อนคนหนึ่งที่เราไม่สามารถเอาชนะเขาได้เสียที เราก็เลยได้เป็นที่ 2 อีก “แต่เมื่อมาเรียนนายเรือ ผมก็เรียนได้ที่ 1 ตลอด กระทั่งได้ทุนไปเรียนที่ประเทศเยอรมัน นอกจากนี้ผมก็ได้เรียนอีกหลายๆหลักสูตร ซึ่งก็ได้ลำดับที่ 1 หรือลำดับต้นๆทุกหลักสูตรเช่นกัน” พี่ลภบอกด้วยว่า จากประสบการณ์ที่สะสมและเรียนมาหลากหลาย ทั้งจากในประเทศและต่างประเทศ ทำให้สามารถนำมาใช้ในการทำงานปัจจุบันได้เป็นอย่างดี ถือเป็นต้นทุนที่นำมาใช้ได้จริงในงาน สนช. @เคล็ดลับเรียนดี “สมุดไดอารี่ - บริหารเวลา” เมื่อถามถึงเคล็ดลับที่ทำให้เรียนดี พี่ลภบอกเลยว่า การบริหารจัดการเวลาถือเป็นสิ่งสำคัญ สิ่งที่คนเราทุกคนมีเท่ากันคือเวลา 24 ชั่วโมง อยู่ที่คุณจะสามารถบริหารเวลาได้อย่างไร ผมจะจัดระเบียบตัวเองว่าทำอะไรไปแล้วบ้าง ทุกคืนก่อนนอนผมต้องมาดูว่าวันต่อๆไปเรามีงานอะไรวางไว้บ้าง สิ่งหนึ่งที่ผมขาดไม่ได้และจะต้องมีติดตัวตลอดเวลาคือ สมุดไดอารี่ พี่ลภ เล่าพร้อมหยิบสมุดไดอารี่ขนาดเล็กที่พกใส่ไว้ในกระเป๋าเสื้อให้ดู และเล่าว่าเริ่มใช้วิธีการจดบันทึกตั้งแต่สมัยเรียนที่เยอรมัน เพราะนักเรียนนายเรือทุกคนต้องมีการจดบันทึกและจดหมายเหตุ ลักษณะนิสัยการจดจึงเป็นสิ่งที่ปลูกฝังกันมาของทหารเรือ “ ผมจะใช้การจดบันทึกในสมุดเล่มเล็กๆนี้ทุกวันๆ ว่าในแต่ละวันมีงานอะไรที่รอเราอยู่บ้าง ในสัปดาห์หน้า เดือนหน้ามีอะไรที่เราต้องทำบ้างผมจะจดล่วงหน้าเหมือนกับตารางนัดหมายเพราะบางเรื่องเราไม่สามารถจำได้หมด บางคนอาจใช้วิธีการจำหรือบันทึกในโทรศัพท์แต่ผมใช้วิธีนี้ และผมไม่เคยทิ้งสมุดบันทึกเลยเก็บไว้ในกล่องอย่างดี โดยจะเก็บเรียงไว้แบ่งแยกเป็นปีๆ ทำให้สามารถสืบค้นได้ง่ายว่าแต่ละปีทำอะไรไปบ้าง และผมจะติดใช้สมุดบันทึกอยู่แค่ยี่ห้อเดียวเท่านั้น จะมีก็แค่บางปีที่หาซื้อยี่ห้อนี้ไม่ได้จริงๆก็จะเอายี่ห้ออื่นมาแทน” @ผู้บังคับการ “เรือหลวงรัตนโกสินทร์” พี่ลภ ได้เล่าถึงช่วงชีวิตการเป็นทหารเรือว่า ช่วงรับราชการเป็นนายเรือตรี จะประจำการอยู่บนเรือรบเป็นส่วนใหญ่ ตั้งแต่เป็นนายทหารประจำเรือ เป็นต้นหน ต้นเรือ จนกระทั่งขึ้นมาเป็นผู้บังคับการเรือ ซึ่งในชีวิตที่ภูมิใจมากที่สุดคือได้เป็นผู้บังคับการเรือหลวงรัตนโกสินทร์ เมื่อปี2533 ซึ่งเป็นเรือชั้น 1 ของกองทัพเรือ หลังจากที่พ้นตำแหน่งหน้าที่ในเรือหลวงแล้ว ได้ขึ้นมาเป็นฝ่ายอำนวยการกองเรือยุทธการ ก่อนขึ้นมารับราชการในส่วนกลางของกองทัพเรือ ซึ่งส่วนใหญ่จะทำงานในกรมยุทธการทหารเรือ ต่อมาได้เป็นผู้ช่วยทูตฝ่ายทหารเรือไทยประจำสิงคโปร์ ได้รับราชการตามลำดับขั้นมาเรื่อยๆ โดยตำแหน่งสุดท้ายก่อนเกษียณอายุราชการคือ “เสนาธิการทหารเรือ” " มีอยู่เหตุการณ์สำคัญที่ผมจำไม่ลืม ช่วงที่กองทัพเรือต่อชุดเรือหลวงรัตนโกสินทร์ลำใหม่ที่เป็นเรือคอร์เวต ผมได้ไปรับเรือเป็นตำแหน่งต้นปืน ช่วงเดินทางกลับจากสหรัฐอเมริกามาเจอมรสุม ทำให้เครื่องจักรมีปัญหาหนึ่งเครื่อง ซึ่งขณะนั้นผมเข้าเวรอยู่บนสะพานเดินเรือ ตอนนั้นเรือต้องลอยลำอยู่กลางทะเล โดยช่างก็เร่งซ่อมท่ามกลางพายุลมแรง ทำให้เรือเอียงกว่า 40องศา ตอนนั้นยังคิดในใจว่าเรือลำใหม่ๆจะล่มเสียแล้วหรอ แต่ด้วยความโชคดีช่างสามารถซ่อมเครื่องจักรได้ทันพอดี ทำให้สามารถเดินหน้าไปได้ ก็ถือเป็นเหตุการณ์หนึ่งที่จดจำในช่วงชีวิตรับราชการ" เมื่อถามว่าช่วงเวลานั้นนึกถึงใครหรือมีสิ่งศักดิ์สิทธิ์ใดที่ยึดเหนี่ยว พี่ลภบอกว่า ทหารเรือจะระลึกถึง พลเรือเอกพระเจ้าบรมวงศ์เธอพระองค์เจ้าอาภากรเกียรติวงศ์ กรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์ หรือ “เสด็จเตี่ย” ในเรือรบทุกลำ เรือหลวงทุกลำ หรือเรือไทยทั้งหมดจะมีรูปกรมหลวงชุมพรฯอยู่ เราก็นึกถึงท่าน กราบไหว้ท่าน สำหรับการใช้ชีวิตบนเรือก็ต้องทำใจและอดทน เพราะความเป็นอยู่ไม่ได้สะดวกสบายหรือกว้างขวาง ยิ่งเรือลำเล็กก็จะยิ่งลำบาก และเรื่องการปฏิบัติงานต้องทำตลอด24 ชั่วโมง อีกทั้งต้องเจอสภาพคลื่นลมอยู่ตลอดเวลา เมื่อถามว่า ทหารที่ต้องใช้ชีวิตบนเรือนานๆมีวิธีผ่อนคลายกันอย่างไร พี่ลภบอกเลยว่า “ทำงาน ถ้าไม่ทำงานก็เตรียมพักผ่อนเพื่อที่จะเข้าเวร เพราะจะต้องมีเวรยามผลัดกันตลอด24 ชั่วโมง แล้วยิ่งถ้าเป็นเรือดำน้ำจะลำบากมากกว่านี้อีก เพราะมองไม่เห็นอะไร จะรู้สึกเหมือนอยู่ในกล่อง โดยสิ่งที่จะชดเชยแทนความบันเทิงของพวกเราคืออาหาร ดังนั้นอาหารบนเรือกุ๊กจะทำอย่างสุดฝีมือ ซึ่งอาหารจะมี 4 มื้อตามหลักสากล” นอกจากนี้พี่ลภยังบอกด้วยว่า แบบอย่างการทำงานที่ยึดถือมาโดยตลอดคือ "คุณพ่อ" เพราะคุณพ่อเป็นคนทำงานจริงจัง รวมทั้งยังยึดมั่นคติที่กรมหลวงชุมพรฯได้ให้ไว้ว่า “กยิราเจ กยิราเถนํ จะทำสิ่งไร ควรทำให้จริง" รวมถึงเรื่องความซื่อสัตย์ที่พี่ลภเชื่อว่าจะใช้เป็นเกราะป้องกันตัวได้ @ใส่ใจสุขภาพ มาที่การดูแลสุขภาพกันบ้าง พี่ลภเล่าว่า ตอนเรียนมัธยมก็เล่นกีฬาอยู่เหมือนกัน เคยเป็นนักกรีฑา วิ่ง 800 เมตร ตอนเรียนโรงเรียนนายเรือ ก็เป็นนักเทนนิสของกองเรือ ตอนหลังก็เริ่มตีกอล์ฟ ในช่วงที่เป็นผู้ช่วยทูตฝ่ายทหารเรือฯ เพราะบางครั้งเป็นการเล่นกีฬาสานสัมพันธ์ด้านการทำงานด้วย การเล่นกีฬาก็ถือเป็นการออกกำลังกาย ผ่อนคลาย ปัจจุบันก็ใช้เครื่องออกกำลังกายที่บ้าน พยายามหาเวลาเล่นอย่างสม่ำเสมอ ทหารเรือจะมีคำพูดประโยคหนึ่งว่า ONE HAND FOR THE NAVY ONE HAND FOR YOURSELF เปรียบเหมือนกับทหารเรือ เมื่อก่อนเรารบด้วยเรือใบ จะต้องปีนขึ้นไปเพื่อกางใบและหุบใบเวลาคลื่นลมมา ถ้าหุบใบไม่ทันเรือจะล่ม การปีนขึ้นไปบนเสา มือหนึ่งต้องจับเพื่อไม่ให้ตัวเองตก ส่วนอีกมือหนึ่งก็ต้องกางใบเรือไปด้วย นั่นคือเราต้องทำงานไปด้วย แต่ส่วนหนึ่งก็ต้องมีให้กับสุขภาพร่างกายเราด้วย ส่วนเรื่องอาหารพี่ลภบอกว่าเป็นคนรับประทานง่าย ทานได้ทุกอย่าง แต่จะชอบอาหารฝรั่ง เพราะเราเรียนจบที่ต่างประเทศมา มีดื่มบ้างในการเข้าสังคม อาหารหวาน มัน ก็ทานน้อยลง และในช่วงครบรอบวันเกิดจะต้องไปตรวจสุขภาพทุกปี @ครอบครัว "ตมิศานนท์" เมื่อถามถึงครอบครัว พี่ลภบอกว่ามีลูกชาย 1 คนเกิดวันที่ 1 ต.ค.2533 ซึ่งเป็นวันที่เรียนจบจากโรงเรียนเสนาธิการทหารเรือพอดี จากนั้นต้องไปรายงานตัวเป็นผู้คับการเรือหลวงรัตนโกสินทร์ ที่สัตหีบ คืนวันนั้นขับรถไปส่งภรรยาที่โรงพยาบาล เสร็จแล้วก็ต้องรีบขับรถไปสัตหีบต่อทันทีเพื่อรายงานตัว “ผมก็ไม่ได้อยู่กับภรรยาในตอนคลอด แต่ใช้การโทรศัพท์ติดต่อสอบถามจากทางญาติ และเมื่อรายงานตัวเสร็จ ผมก็ขออนุญาตผู้บังคับบัญชากลับมาดูลูกและภรรยา ตอนนี้ลูกชายของผมโตแล้ว ได้ทุนไปเรียนที่เมืองแวนคูเวอร์ ประเทศแคนนาดา เมื่อเรียนจบก็ได้ทำงานอยู่ที่แวนคูเวอร์” พี่ลภยังเล่าติดตลกและหัวเราะอย่างมีความสุขด้วยว่า ลูกชายไปทำงานอยู่เมืองนอก เราก็บอกลูกว่า ยังไงสุดท้ายก็ให้กลับมาทำงานที่บ้านเรานะ กลับมาอยู่บ้านเรา บ้านช่องห้องหอก็มีอยู่ เดี๋ยวไม่มีใครดูแลมรดก ยอมรับว่าในตอนแรกๆก็คาดหวังเหมือนกันว่าลูกจะเป็นทหารเหมือนเรา เพราะครอบครัวเราก็เป็นครอบครัวทหารเรือ คุณพ่อเป็นทหารเรือ แต่ลูกเราไม่ชอบ ก็ไม่ได้บังคับอะไร แต่สำหรับตัวเราคุณพ่อกระตุ้นมาตั้งแต่เด็กๆ “ผมเป็นลูกชายคนกลาง คุณพ่อกระตุ้นจนสำเร็จ ส่วนน้องชายผมเขาไปชอบทางวิศวะกรแทน ตอนนี้ผมก็อยู่ที่บ้านกับภรรยา คุณแม่ และพี่สาว วันว่างก็จะไปพักผ่อนกันที่หัวหินบ้าง หรือบางทีก็ไปเที่ยวสัตหีบ แต่ถ้าชอบเที่ยวจริงๆโดยส่วนตัวผมชอบสถานที่โล่งๆมากกว่า” พี่ลภ บอกว่าถ้าเอาที่ประทับใจและชอบมากๆเวลาไปเที่ยวเมืองนอก คือทะเลทราย อากาศไม่ร้อนเท่าไหร่ แต่จะออกแห้งๆมากกว่า บรรยากาศทะเลทรายจะทำให้เรารู้สึกอิสระ ด้วยความเป็นทหารเรืออยู่กับเรือมาทั้งชีวิต พอมาเจอบรรยากาศทะเลทรายโล่งๆ อากาศกลางคืนก็หนาวเย็นเหมือนแกรนด์แคนยอน อริโซน่า ก็เลยเป็นบรรยากาศที่เราชอบ และทั้งหมดคือเรื่องราวในมุมสบายๆของ "พี่ลภ" พล.ร.อ.พัลลภ ตมิศานนท์ สนช.ผู้มากความสามารถในยุครัฐบาลปัจจุบัน