รศ.วิมล ดำศรี อธิการบดีมรภ.นครศรีธรรมราชย้ำ สืบสานพระราชปณิธานถ่ายทอดวิถีพอเพียงฯสู่นศ.-ชุมชน (1) “…การกสิกรรมและอาชีพในด้านเกษตรทุกทุกอย่างย่อมต้องอาศัยปัจจัยสำคัญหลายด้าน ด้านหนึ่งก็คือหลักวิชาของการเพาะปลูก เป็นต้น และอีกด้านหนึ่งก็เป็นการช่วยให้เพิ่มหลักวิชาเหล่านั้น และเมื่อได้ปฏิบัตแล้วได้ผลิตผลแล้วก็จะต้องสามารถดัดแปลงและขายจำหน่ายผลิตผลที่ตนได้ทำ ฉะนั้นทุกอย่างต้องสอดคล้องกัน ความขยันหมั่นเพียรในการผลิต ความรู้ในวิชาการผลิตและความรู้ในการเป็นอยู่ ทั้งความรู้ในด้านจำหน่าย ล้วนเป็นความรู้ที่จะต้องประสานกันหมด…” พระราชดำรัสพระราชทานในโอกาสที่คณะกรรมการสหกรณ์การเกษตร สหกรณ์นิคม สหกรณ ์ประมง และสมาชิกผู้รับนมสดเข้าเฝ้าฯ ณ โครงการส่วนพระองค์ สวนจิตรลดา เมื่อวันที่ 8พฤษภาคม2530 ไม่นานมานี้มีโอกาสไปพูดคุยกับอธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฎนครศรีธรรมราช(มรภ.นครศรีฯ)ที่จังหวัดนครศรีธรรมราชเลย ในฐานะที่เป็นหนึ่งในมหาวิทยาลัยราชภัฏเกือบ 40 แห่งทั่วประเทศที่ได้รับพระมหากรุณาธิคุณพระราชทานนามและตราสัญลักษณ์เป็นตราประจำมหาวิทยาลัยจากพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ 9 ด้วยทรงวางพระราชหฤทัยให้เป็นสถาบันการศึกษาระดับอุดมศึกษาที่พึ่งพิงของเยาวชนในครอบครัวท้องถิ่นห่างไกลเมือง โอกาสทางการศึกษาไม่มากนักในการอบรมบ่มนิสัยให้ความรู้ความสามารถทั้งทางวิชาการและประสบการณ์ทักษะเป็นเครื่องมือนำไปพัฒนาคุณภาพชีวิตพัฒนาท้องถิ่นหัวใจสำคัญของเมืองหลวง คำว่า “ราชภัฏ” หมายความถึง “เป็นคนของพระราชาข้าของแผ่นดิน” เป็นผู้ที่จะได้สนองพระราชปณิธานในการทำงานถวายต่างพระเนตรพระกรรณด้านการถ่ายทอดวิชาความรู้ความสามารถสู่เยาวชนในครอบครัวท้องถิ่นชนบท เป็นที่พึ่งในการอบรมบ่มนิสัยให้ความรู้ความสามารถแก่เยาวชนที่อาจมีโอกาสทางการศึกษาไม่ทัดเทียมคนในครอบครัวที่อยู่ในเมืองใหญ่ที่มีความเจริญรุ่งเรือง อันเครื่องบ่งบอกว่าทรงเอาพระราชหฤทัยใส่ด้านการศึกษาของประชาชนคนไทยทุกคนเฉพาะอย่างยิ่งเยาวชน จึงทรงวางพระราชหฤทัยคนราชภัฏให้จัดการเรียนการสอนเยาวชนในครอบครัวท้องถิ่น ซึ่งแน่นอนที่สุด “ราชภัฏ”คนของพระราชาย่อมต้องสนองพระเดชพระคุณได้อย่างดีที่สุด รศ.วิมล ดำศรี อธิการบดีมรภ.นครศรีธรรมราช ในฐานะประธานคณะทำงานโครงการผลิตหนังสือเฉลิมพระเกียรติ “ครูของแผ่นดิน”อันเป็นมติของอธิการบดี มรภ.ทุกแห่งทั่วประเทศที่ต่างสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณปลื้มปีติที่จะได้มีโอกาสนำรูปธรรมของแต่ละมหาวิทยาลัยราชภัฎจัดการเรียนการสอนโดยยึดการน้อมนำแนวพระราชดำริมาขับเคลื่อนปลูกฝังเยาวชนสืบสานแนวพระราชปณิธานด้วยรูปธรรมตามแต่ละพื้นที่ภูมิสังคมผ่านคณะวิชาทุกคณะ กิจกรรมการปลูกฝังคุณค่าความสำคัญของทรัพยากรธรรมชาติทั้งภายในรั้วมหาวิทยาลัยและพื้นที่นอกรั้วมหาวิทยาลัยไม่ว่าจะเป็นการรณรงค์ปลูกป่า อนุรักษ์ฟื้นฟูแหล่งน้ำ พัฒนาดิน พัฒนาพลังงานประหยัดในรูปแบบต่างๆ อันล้วนแต่ตระหนักถึงสิ่งที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช สมเด็จพระนางเจ้าฯพระบรมราชินีนาถรัชกาลที่9และพระบรมวงศานุวงศ์ทรงเป็นต้นแบบทั้งสิ้นเพื่อเน้นย้ำสืบสานพระราชปณิธานถวายเป็นพระราชกุศลได้บอกเล่าถึงการจัดการเรียนการสอนของมหาวิทยาลัยโดยมุ่งสืบสานตามแนวพระราชดำริเป็นสำคัญ อธิการบดีมรภ.นครศรีธรรมราชบอกว่าในส่วนของหนังสือเฉลิมพระเกียรติขณะนี้อยู่ระหว่างดำเนินการ ถาม รศ.วิมลถึง มหาวิทยาลัยราชภัฏนครศรีธรรมราชได้น้อมนำพระบรมราโชวาทของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 มาเป็นภารกิจการดำเนินงานของมหาวิทยาลัยอย่างไรบ้าง “มหาวิทยาลัยราชภัฏนครศรีธรรมราชตระหนักในพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 อย่างล้นพ้นที่พระองค์ได้ทรงพระราชทานตราพระราชลัญจกรประจำพระองค์ให้กับมหาวิทยาลัยราชภัฏทั้งปวง และมหาวิทยาลัยราชภัฏนครศรีธรรมราช เมื่อดูจากพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยราชภัฏ พ.ศ. 2547มหาวิทยาลัยราชภัฏเป็นสถาบันอุดมศึกษาเพื่อการพัฒนาท้องถิ่น เป็นประทีปถิ่น ประเทืองไทย โดยมีบทบาทหน้าที่จะต้องน้อมนำเอาพระราชดำริในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและพระบรมวงศานุวงศ์ทุกพระองค์มาปรับใช้เพื่อบูรณาการกับทุกศาสตร์ ทุกสาขาวิชาที่เปิดสอนในมหาวิทยาลัย ดังนั้นมหาวิทยาลัยราชภัฏนครศรีธรรมราชจึงได้น้อมนำเอาพระราชดำริและพระบรมราโชวาทมาปฏิบัติเป็นภารกิจในหลายกรณี เช่น การนำพระราชดำริและพระบรมราโชวาทบรรจุไว้ในหลักสูตร ซึ่งมหาวิทยาลัยมีหลักสูตรการเรียนการสอนที่น้อมนำเอาหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมาใช้ในรายวิชาศึกษาทั่วไป” นั่นเป็นคำตอบ (อ่านต่อ)