รศ.วิมล ดำศรี อธิการบดีมรภ.นครศรีธรรมราชย้ำ สืบสานพระราชปณิธานถ่ายทอดวิถีพอเพียงสู่นศ.-ชุมชน(จบ) รศ.วิมล ดำศรีอธิการบดีมรภ.นครศรีธรรมราชบอกต่อไปว่านอกจากนั้นได้นำต้นแบบการศึกษาที่ทรง ทดลองค้นคว้าด้วยพระองค์เองจนทรงมั่นพระราชหฤทัยว่าเกิดผลดีงามแล้วจึงพระราชทานให้ประชาชนทั่วไป โดยมหาวิทยาลัยได้นำปฏิบัติตามมาสอดแทรกซึมซับครูอาจารย์เพื่อถ่ายทอดสู่นักศึกษา เดินตามรอยพระยุคลบาทเป็นอนุสติที่ใช้ในการเรียนการสอนในหลายสาขาวิชา โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกลุ่มของสาขาวิชาเกษตร โดยอาจารย์ในหลักสูตรได้น้อมนำเอาต้นแบบที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 ได้ทรงคิดค้นมาใช้ประโยชน์กับการจัดการเรียนการสอนคือหลักเกษตรทฤษฎีใหม่ภายใต้แนวพระราชดำริหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง และในการปฏิบัติงานทั้งหลายของมหาวิทยาลัยราชภัฏนครศรีธรรมราช ได้น้อมนำหลักการทรงงานเป็นประทีปธรรมส่องสว่างสู่หนทางแห่งความสำเร็จ ก็คือพระบรมราโชวาท พระราชดำริ ที่ได้พระราชทานแก่ข้าราชการพลเรือน ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2524 ถึงปี พ.ศ. 2550 และอื่นๆ ยึดหลักพระราชดำรัสในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 ที่ทรงย้ำว่า การจะทำสิ่งใด จะต้องเข้าใจ เข้าถึง และพัฒนา "สรุปคือ มหาวิทยาลัยราชภัฏนครศรีธรรมราชได้น้อมนำพระราชดำริของพระบาทสมเด็จ พระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 มาใช้ ตั้งแต่กระบวนการจัดการเรียนการสอน การบริการวิชาการแก่ชุมชน การปฏิบัติภารกิจตามบทบาทหน้าที่ที่กำหนดไว้ในปรัชญาและปณิธานของสถาบัน"รศ.วิมล ดำศรีกล่าว เมื่อถามว่า มหาวิทยาลัยได้นำความรู้ให้บริการวิชาการ และสนับสนุนชุมชนอย่างไรบ้าง อธิการบดี มรภ.นครศรีธรรมราชบอกว่าได้บริการวิชาการชุมชนเต็มพื้นที่ ดังจะเห็นได้จากที่มหาวิทยาลัยเข้าไปเกื้อกูลโรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดนซึ่งอยู่ภายใต้ความดูแลของมหาวิทยาลัยทุกอย่าง และในส่วนของกิจกรรมของแต่ละชุมชนก็ได้น้อมนำเอาหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงตามแนวพระราชดำริไปใช้ประโยชน์ เช่น หลักสูตรบัญชี ได้จัดทำ MOU กับกองทุนหมู่บ้าน โดยมีอาจารย์และนักศึกษาในสาขาวิชาไปให้ความรู้ แนะนำการจัดทำบัญชีในแบบบัญชีครัวเรือนที่ทรงแนะนำไว้ให้รู้จักประหยัดอดออม หรือกิจกรรมทางด้านรู้จักอนุรักษ์สืบสานวัฒนธรรมอันดีงามของท้องถิ่นต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นการมีส่วนร่วมนำเสนอพระบรมธาตุเจดีย์สู่มรดกโลก ก็น้อมนำพระราชดำริของพระองค์ท่านมาเป็นแนวทางด้วยเช่นกัน "สำคัญเหนืออื่นใดนักศึกษาซึ่งเป็นผลผลิตของมหาวิทยาลัยราชภัฏนครศรีธรรมราช มีพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 อยู่ในจิตใจทุกคน ทุกรุ่น เนื่องจากบุคคลเหล่านี้ได้รับการปลูกฝังจากมหาวิทยาลัยที่ต้องเป็นคนดี คนเก่ง ตามแนวทางดำเนินชีวิตตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงฯและสืบสานพระราชปณิธานโดยบรรจุไว้ในหลักสูตรให้ได้ซึมซับผ่านการอบรมบ่มนิสัยกระทั่งไปทำกิจกรรมจิตอาสาทำประโยชน์ให้สังคม" อธิการบดีมรภ.นครศรีธรรมราชบอกอีกว่า การนำหลักวิชาการไปเกื้อกูลการประกอบอาชีพของชุมชนก็เป็นอีกกระบวนการสำคัญที่มหาวิทยาลัยตั้งปณิธานสืบสานพระราชประสงค์โดยทั้งคณาจารย์นักศึกษาได้นำเอาความรู้ทางวิชาการไปสู่ชุมชนเฉพาะอย่างยิ่งสาขาวิชาเกษตร ได้จัดการเรียนการสอนมุ่งเน้นให้นักศึกษาลงสู่ชุมชน และสาขาวิชาบัญชีก็เช่นกันอย่างที่บอกไปเมื่อสักครู่ ให้ความรู้การจัดทำบัญชีตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงแก่กองทุนหมู่บ้าน เน้นให้ครอบคลุมทุกหมู่บ้านในจังหวัดนครศรีธรรมราช ถามอีกว่า จากที่มหาวิทยาลัยได้จัดหลักสูตรตามแนวทางหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงตามแนวพระราชดำริต้องการเน้นหลอมวิชาการด้านนี้เข้าสู่เยาวชนอย่างไรบ้างคำตอบคือกลุ่มดังกล่าวเป็นรายวิชาศึกษาทั่วไป ซึ่งนักศึกษาทุกคนจะต้องเรียน โดยมีหลักการคือ บอกให้รู้ ให้ดูตัวอย่าง ชี้ทางให้ทำ นำมาวิเคราะห์วิจารณ์ และสร้างสรรค์งานส่วนบุคคล หมายถึงทุกสาขาวิชาที่จัดการการเรียนการสอนได้น้อมนำเอาหลักดำเนินชีวิตตามแนวพระราชดำริมาบรรจุไว้เพื่อให้อาจารย์ได้ย้ำว่าต้องหมั่นเพียรศึกษา ต้องให้ซึมซับว่าเรียนเพื่อมุ่งเป็นคนดีคนเก่งแต่ไม่เรียนมุ่งหวังที่จะไปแสวงหาความร่ำรวยหรือโลภไป ต้องอดทน ต้องรู้จักให้รู้จักแบ่งปัน ต้องมุ่งประโยชน์ส่วนรวมเป็นที่ตั้งเพราะเมื่อส่วนรวมอยู่ได้เราจะอยู่ได้ แล้วอาจารย์ต้องเป็นต้นแบบที่ดีให้นักศึกษาดูเป็นตัวอย่างได้ รศ.วิมล ดำศรีบอกต่อไปอีกว่า นอกจากการอบรมบ่มนิสัยให้เยาวชนได้เรียนรู้แนวทางคนดีและหลักวิชาการแล้วต้องมีทักษะภาคปฏิบัติเพื่อเป็นคนเก่งและนำความรู้ไปสู่ชุมชน มหาวิทยาลัยจึงได้ดำเนินโครงการพัฒนาศูนย์ศึกษาการเรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียงฯ บ้านป่ายาง เป็นศูนย์ที่สนองปรัชญาเกษตรทฤษฏีใหม่ฯ เป็นกิจกรรมนอกหลักสูตรที่ให้นักศึกษาทุกสาขาวิชา และประชาชนทั่วไปสามารถจัดกิจกรรมและแลกเปลี่ยนเรียนรู้กันได้ "ให้อาจารย์นักศึกษาเข้าร่วมโครงการฝายมีชีวิต ของชุมชนลานสกาที่ได้ช่วยเหลือชุมชน และนักศึกษาได้ซึมซับวิถีชีวิตคนในชุมชน รวมทั้งบรรยากาศภายในมหาวิทยาลัยเองก็มีบรรยากาศซึมซับเรื่องความรักความผูกพันกับทรัพยากรธรรมชาติ เช่นในมหาวิทยาลัยมีสระน้ำที่มีส่วนเกื้อกูลสรรพชีวิต มีต้นไม้ มีโครงการให้นักศึกษาร่วมปลูกต้นไม้ร่วมกันดูแล มีสวนหย่อมต่างๆ เป็นสิ่งหลอมรวมนักศึกษาให้สัมผัสทรัพยากรธรรมชาติทั้งสิ้น" สุดท้ายอธิการบดีมรภ.นครศรีธรรมราชแสดงความภาคภูมิใจที่ได้รับแต่งตั้งเป็นประธานการจัดทำหนังสือพระผู้ทรงเป็นครูแห่งแผ่นดิน โดยการจัดทำครั้งนี้ได้ร่วมกับเครือข่ายหลายภาคส่วนร่วมคิดร่วมทำ ซึ่งทุกคนมีทุนความศรัทธาความเทิดทูนในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 เต็มหัวใจอยู่แล้วโดยคาดหวังให้แล้วเสร็จภายในปี 2560 และจะทำพิธีสมโภชหนังสือ ในโอกาสต่อไป