เมื่อเวลา 11.00 น.วันที่ 8 มิถุนายน ที่ กองบังคับการปราบปราม (บก.ป.) นายศรีสุวรรณ จรรยา เลขาธิการสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย พร้อมด้วย นางวิจิตรา จงทัน รองนายกสมาคมพืชไร่เพชรบูรณ์ ได้พาผู้เสียหายซึ่งถูกหลอกให้เลี้ยงกุ้งก้ามแดง หรือเครฟิซ กว่า 10 ราย เดินทางเข้าพบพนักงานสอบสวน บก.ป.เพื่อแจ้งความดำเนินคดีผู้ที่อ้างตัวเป็นประธานสหพันธ์กุ้งก้ามแดงเนื้อหรือกุ้งเครฟิซ (นายเดชาวิต จันทร์ส่องแสง) ในความผิดฐานฉ้อโกงประชาชน , ความผิดตาม พ.ร.ก.กู้ยืมเงิน อันเป็นการฉ้อโกงประชาชน , ความผิดฐานหมิ่นเบื้องสูงตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 และ นำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลอันเป็นเท็จ ตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ โดยนำเอกสารที่เกี่ยวข้องมามอบให้พนักงานสอบสวนไว้เป็นหลักฐานประกอบการพิจารณาดำเนินคดี นายศรีสุวรรณ กล่าวว่า กรณีที่เกิดขึ้นนั้นทางผู้เสียหายได้เข้าร้องทุกข์กับทางสมาคมฯ ว่าถูกประธานสหพันธ์กุ้งก้ามแดงเนื้อฯ หลอกลวงโดยชักชวนให้ร่วมลงทุนเลี้ยงกุ้งพันธุ์ดังกล่าวผ่านทางเฟซบุ๊กกลุ่มผู้เลี้ยงกุ้ง เช่น กลุ่มเครฟิซไทยแลนด์ ตั้งแต่ประมาณเดือนพฤศจิกายน 2559 โดยอ้างว่าจะรับซื้อคืนทั้งหมดเมื่อกุ้งโตแล้ว ในราคาตั้งแต่กิโลกรัมละ 400-700 บาท แล้วแต่ขนาดของกุ้ง ซึ่งผู้สนใจจะต้องเสียเงินค่าสมัครขั้นต่ำ 15,000 บาท จะได้รับพ่อพันธุ์แม่พันธุ์กุ้งไปเลี้ยง นอกจากนี้ยังมีการเปิดรับสมัครให้ผู้ที่ต้องการเป็นหัวหน้าสาย ระดับอำเภอ ซึ่งเสียเงินค่าสมัคร 30,000 บาท หรือหัวหน้าสายระดับจังหวัด เสียค่าสมัคร 50,000 บาท เมื่อสามารถชักชวน บอกต่อผู้อื่นให้มาสมัครเข้าร่วมเลี้ยงกุ้งดังกล่าว ซึ่งจะได้รับผลตอบแทน 10% จากเงินค่าสมัครสมาชิกของผู้สนใจรายใหม่ทันที เช่น ผู้สมัครสมาชิกจ่ายเงินขั้นต่ำ 15,000 บาท หัวหน้าสายก็จะได้รับเงินทันที 1,500 บาท ส่วนที่เหลือจึงนำส่งให้ทางสหพันธ์กุ้งก้ามแดงเนื้อฯ นายศรีสุวรรณ กล่าวต่อว่า ที่ผ่านมา มีผู้หลงเชื่อเป็นจำนวนมากเพราะประธานสหพันธ์กุ้งก้ามแดงเนื้อฯ จะสร้างความน่าเชื่อถือด้วยวิธีการหลากหลาย เช่น การนำนักวิชาการ หรือผู้เชี่ยวชาญด้านการเพาะเลี้ยงกุ้งพันธุ์นี้ มาบรรยายให้ความรู้ มีการกล่าวอ้างว่าเป็น “กุ้งพระราชา” ผ่านทางเฟซบุ๊กไลฟ์ ซึ่งเข้าข่ายความผิดฐานหมิ่นเบื้องสูง รวมทั้งมีการถ่ายภาพเผยแพร่เมื่อมีการรับซื้อกุ้งดังกล่าว แต่พบข้อมูลว่า หลังจากต้องใช้เวลาเลี้ยงกุ้งนานกว่า 4-6 เดือน จนกุ้งโตได้ขนาด 4-6 นิ้ว ก็จะมีการรับซื้อคืนจริง เพียง 1-2 ครั้งเท่านั้น ภายหลังก็ไม่ได้รับซื้อคืนแต่อย่างใด โดยกุ้งที่รับซื้อคืนก็จะถูกนำไปใช้หลอกลวงผู้เสียหายรายอื่นต่ออีก นอกจากนี้ยังตรวจสอบพบว่าสหพันธ์แห่งนี้ ไม่ได้จดทะเบียนธุรกิจกับทางกระทรวงพาณิชย์แต่อย่างใด ทั้งหมดจึงเป็นการแอบอ้างเพื่อหลอกลวง ซึ่งขณะนี้พบว่ามีผู้เสียหายไม่ต่ำกว่า 2,000 รายจากทั่วประเทศ รวมมูลค่าความเสียหายไม่ต่ำกว่า 20 ล้านบาท ทั้งนี้ เนื่องจากกรณีที่เกิดขึ้นมีผู้เสียหายจากหลายพื้นที่ในหลายจังหวัด จึงมีการแยกไปรับเรื่องและสอบปากคำผู้เสียหายในเบื้องต้นหลายกองกำกับการ อาทิ กก.2 , กก.3 และ กก.5 บก.ป.อย่างไรก็ดี ทางพนักงานสอบสวนอยู่ระหว่างนำเรื่องเสนอผู้บังคับบัญชาพิจารณาว่าจะรับคดีไว้ หรือส่งต่อให้กับทางกองบังคับการปราบปรามการกระทำผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (บก.ปอท.) หรือหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้องเพื่อรับไว้ดำเนินการต่อไป