วันที่ 8 มิ.ย.60 ที่กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) นายวันชัย บุนนาค ทนายความ เดินทางเข้ายื่นเอกสารต่อ พ.ต.ต.วรณัน ศรีล้ำ ผอ.ศูนย์บริหารคดีพิเศษ ดีเอสไอ เพื่อให้พิจารณาดำเนินคดีกับ นายชัยณรงค์ อินทรมีทรัพย์ และ นายอุตตม สาวนายน อดีตผู้บริหารธนาคารกรุงไทยและผู้เกี่ยวข้อง ในคดีฟอกเงิน นายวันชัย กล่าวว่า สืบเนื่องจากคดีฟอกเงินธนาคารกรุงไทย คณะกรรมการสอบสวนคดีพิเศษมีมติรับเป็นคดีพิเศษจากกรณี คณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ (คตส.) ให้ดำเนินคดีฟอกเงินกับอดีตผู้บริหารธนาคารกรุงไทย 3 คน หลังปล่อยสินเชื่อให้กลุ่มกฤษดามหานคร และ ศาลฎีกาพิพากษาว่าการอนุมัติปล่อยสินเชื่อของธนาคารกรุงไทยผิดกฎหมาย รวมทั้ง พบว่ามีเอกสารเส้นทางการเงินชัดเจนระหว่างสถาบันการเงิน 2 แห่ง คือ ธนาคารกรุงไทยปล่อยสินเชื่อ 8,000 ล้านบาท ให้กลุ่มกฤษดามหานคร ลูกหนี้ เพื่อนำเงินไปชำระหนี้ให้แก่ ธนาคารกรุงเทพ ซึ่งเป็นเจ้าหนี้เดิม (รีไฟแนนซ์) นายวันชัย กล่าวอีกว่า หากอดีตผู้บริหารธนาคากรุงเทพ ไม่ทำการลดหนี้ เมื่อวันที่ 28 พ.ย.46 ว่าหากชำระภายในเดือนสิ้นเดือน ธ.ค.46 หนี้จาก 14,000 ล้านบาท ลดเหลือ 4,500 ล้านบาท ก็ไม่มีช่องทางนำเอาเงินมาประมาณ 3,500 ล้านบาทไปใช้ผิดวัตถุประสงค์ หรือ ฟอกเงิน ได้เลย และไม่ได้นำไปชำระหนี้คืนธนาคารกรุงเทพ ทำให้สร้างความเสียหายต่อประเทศชาติและระบบการเงินของชาติ รวมถึง อดีตผู้บริหารธนาคารกรุงไทยมีทั้งหมด 5 คนหากลงชื่อไม่ครบก็ไม่สามารถอนุมัติสินเชื่อ 8,000 ล้านบาท โดยมี 3 คนถูกพิพากษาสั่งจำคุก ประกอบด้วย ร.ท.สุชาย เชาว์วิศิษฐ อดีตประธานกรรมการบริหารธนาคารกรุงไทย , นายวิโรจน์ นวลแข อดีตกรรมการผู้จัดการธนาคารกรุงไทย และ นายมัชฌิมา กุญชร ณ อยุธยา กรรมการบอร์ดกรุงไทย แต่อีก 2 คนไม่ถูกฟ้อง คือ นายชัยณรงค์ อินทรมีทรัพย์ และ นายอุตตม สาวนายน นอกจากนี้ สำหรับ อดีตผู้บริหารธนาคารกรุงเทพ ก็มีส่วนเป็นช่องทางให้ใช้เงินผิดประเภท และ อดีตผู้บริหารกรุงไทย อีก 2 คน ต้องดำเนินการตามกฎหมายและมีคำตอบให้สังคม "ส่วน ดีเอสไอ กำลังสืบสวนคดีฟอกเงินดังกล่าวนั้นได้แจ้งข้อกล่าวหาเพียง นายวิชัย กฤษดาธานนท์ และ นายรัชฏา กฤษดาธานนท์ โดยรับเป็นคดีพิเศษแล้วควรสอบสวนขยายผลหาผู้กระทำผิดได้มากกว่านี้และเป็นไปอย่างเสมอภาคเท่าเทียมกัน ซึ่งมีหลายบุคคลเกี่ยวข้องกับเส้นทางการเงิน เช่น นายพานทองแท้ ชินวัตร ปรากฎเป็นข่าว แต่ พล.ร.อ.พะจุณณ์ ตามประทีป อดีตหัวหน้าสำนักงานมูลนิธิรัฐบุรุษ ไม่เป็นข่าว อย่างไรก็ตาม คดีฟอกเงินใครมีความผิดหรือไม่ พนักงานสอบสวนต้องดำเนินการให้สิ้นกระแสความสงสัยให้ครบถ้วน ทั้งนี้ หากไม่ปรากฎบุคคลอื่นถูกพิจารณาคดีฟอกเงินก็อาจนำเสนอศาลคดีอาญาทุจริตต่อไป" นายวันชัย กล่าวต่อว่า ตนไม่ได้มายื่นหลักฐานต่อ ดีเอสไอ เนื่องจากใกล้สรุปสำนวนคดี นายพานทองแท้ ส่งอัยการแต่อย่างใดเพราะตนติดตามเรื่องดังกล่าวตั้งแต่แรก ทราบว่ามีหลายบุคคลเกี่ยวข้อง รวมทั้ง กฎหมายรัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 41 เปิดโอกาสประชาชนเสนอขอร้องเรียนต่อหน่วยงานรัฐได้ หากเจ้าหน้าที่อาจเข้าข่ายละเว้นก็สามารถมีสิทธิฟ้องคดีได้ ซึ่งหากยังดำเนินคดีกับคนบางคน จะเป็นกรณีที่แคลงใจว่าสองมาตราฐาน