อย. สนองนโยบายรัฐบาล ตามโมเดล Thailand 4.0 เดินหน้าส่งเสริมยาจากสมุนไพร และยกระดับมาตรฐานการผลิตยาจากสมุนไพรตามหลักเกณฑ์วิธีการที่ดีในการผลิตยา (GMP) พร้อมพัฒนาให้ผู้ผลิตยาทุกระดับผลิตยาให้ได้มาตรฐานสากล (PIC/S GMP) เพื่อสร้างความมั่นใจในการบริโภค ช่วยให้ประชาชนเข้าถึงยาจากสมุนไพร และเป็นการเพิ่มศักยภาพการแข่งขันในตลาดอาเซียนและนานาชาติ ได้นำสื่อลงพื้นที่ จ.ปราจีนบุรี เยี่ยมชม โรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร ซึ่งมีโรงงานแปรรูปผลิตภัณฑ์สมุนไพรผ่านมาตรฐานสากล (PIC/S GMP) และศึกษากระบวนการผลิตสมุนไพรที่ได้คุณภาพ ปราศจากสารปนเปื้อน ณ บ้านดงบัง หวังให้ประชาชนใช้สมุนไพรในการดูแลสุขภาพและรักษาโรคให้มากขึ้น นพ.วันชัย สัตยาวุฒิพงศ์ เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา เปิดเผยว่า ตามที่สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ตระหนักถึงความสำคัญของภูมิปัญญาไทย ตามนโยบายรัฐบาลที่ต้องการพัฒนาผลิตภัณฑ์สมุนไพรอย่างเป็นระบบและยั่งยืนตลอดห่วงโซ่ให้มีคุณภาพและสอดคล้องกับความต้องการของตลาดทั้งในและต่างประเทศ โดยเพิ่มการใช้ยาจากสมุนไพรทดแทนยาแผนปัจจุบัน รวมทั้งตั้งเป้าพัฒนาให้ประเทศไทยเป็นเมืองสมุนไพร เริ่มจากเมืองสมุนไพรต้นแบบใน 4 จังหวัดคือ ปราจีนบุรี สุราษฎร์ธานี เชียงราย และสกลนคร เพื่อสร้างความมั่นคงในด้านสุขภาพและเศรษฐกิจอย่างเป็นรูปธรรม ซึ่งที่ผ่านมา ในส่วนของ อย. ได้ส่งเสริมให้ผู้ผลิตยาแผนโบราณทุกระดับพัฒนาการผลิตยาให้ได้มาตรฐานด้านการผลิต และส่งเสริมให้ผู้ประกอบการมีศักยภาพในการผลิตสู่มาตรฐานสากล (PIC/S GMP) เพื่อสร้างโอกาสให้ยาจากสมุนไพรสามารถแข่งขันในตลาดต่างประเทศ โดยได้จัดประชุมและอบรมให้ความรู้แก่ผู้ประกอบการ รวมทั้งให้คำแนะนำปรึกษาในส่วนที่เกี่ยวข้อง เช่น แบบแปลนสถานที่ผลิตยาแผนโบราณ และแนวทางการปฏิบัติตามมาตรฐานสากล (PIC/S GMP) ซึ่งในปัจจุบันสถานที่ผลิตยาแผนโบราณหลายแห่งในประเทศไทยสามารถยกระดับและดำเนินการผลิตยาให้สอดคล้องตาม PIC/S GMP อาทิ โรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร ดังนั้น ในวันที่ 5 มิถุนายน 2560 อย. จึงได้นำสื่อมวลชนไปเยี่ยมชมและศึกษาดูงาน ณ โรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศรดังกล่าว โดยมี “กลุ่มสมุนไพรบ้านดงบัง” ซึ่งเป็นแหล่งปลูกสมุนไพรแหล่งสำคัญได้ส่งวัตถุดิบให้แก่โรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศรในการผลิตยาสมุนไพร และผลิตภัณฑ์อื่น ๆ ที่ใช้วัตถุดิบจากพืชสมุนไพร นพ.วันชัย สัตยาวุฒิพงศ์ เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา เลขาธิการฯ อย. กล่าวต่อไปว่า นอกจากการยกระดับคุณภาพการผลิตยาแล้ว อย. ยังให้ความสำคัญถึงประสิทธิภาพของยาที่ผ่านการขึ้นทะเบียนตำรับจาก อย. ดังนั้น ในการพิจารณาอนุญาตจึงต้องมีกระบวนการประเมินทะเบียนตำรับยา เพื่อให้มั่นใจได้ว่ายาดังกล่าวจะเป็นยาที่มีสรรพคุณตามที่ปรากฏบนฉลากยา ซึ่งถือเป็นกระบวนการคุ้มครองผู้บริโภคได้อย่างเป็นรูปธรรม ที่สำคัญกระบวนการพิจารณาอนุญาตทะเบียนตำรับยาดังกล่าวยังใช้กับทั้งยาจากสมุนไพรที่ผลิตในประเทศและนำเข้ามากจากต่างประเทศ เพื่อความโปร่งใสในยุคเปิดเสรีทางการค้า นอกจากนั้น อย. ได้มีมาตรการส่งเสริมการนำยาแผนไทยหรือยาที่ผลิตจากสมุนไพรไปใช้มากขึ้น อาทิ มีการบรรจุรายการยาจากสมุนไพรและยาแผนไทยไว้ในบัญชียาหลักแห่งชาติ เพื่อทดแทนการใช้ยาแผนปัจจุบันในสถานพยาบาลของรัฐ ซึ่งมีส่วนทำให้ประชาชนรู้จักและมีการใช้ยาจากสมุนไพรเพิ่มมากขึ้น และยังมียาจากสมุนไพรอีกจำนวนหนึ่งที่ได้รับการขึ้นทะเบียนตำรับยาเป็นยาสามัญประจำบ้านแผนโบราณ เพื่อให้ประชาชนสามารถเลือกใช้ในการดูแลตัวเองจากอาการเจ็บป่วยที่ไม่รุนแรงได้ เป็นอีกส่วนหนึ่งที่ทำให้การใช้ยาจากสมุนไพรเพิ่มมากขึ้น ซึ่งมีส่วนที่จะเพิ่มมูลค่าทางการตลาดรวมไปถึงเพิ่มโอกาสการส่งออกไปจำหน่ายยังต่างประเทศ ทั้งนี้ อย. จะดำเนินการเพื่อคุ้มครองความปลอดภัยและความสมประโยชน์ของผู้บริโภค รวมทั้งคุณภาพและประสิทธิภาพของยาสมุนไพรไทย นำเศรษฐกิจไทยสู่ Thailand 4.0 ต่อไป