ศาสตร์พระราชา ...เพื่อความผาสุกของปวงประชา (2) ทฤษฎีใหม่ฯต้องยึดหยุ่นได้ “...หลักมีว่า แบ่งที่ดินเป็นสามส่วน ส่วนหนึ่งเป็นที่สำหรับปลูกข้าว อีกส่วนหนึ่งสำหรับปลูกพืชไร่ พืชสวน และก็มีที่สำหรับขุดสระน้ำ...ทฤษฎีใหม่นี่จะขยายขึ้นไปได้ อาจจะทั่วประเทศแต่ต้องช้า ๆ เพราะว่าต้องสิ้นเปลือง สิ้นเปลืองค่าใช้จ่ายไม่ใช่น้อย ๆ แต่ว่าค่อย ๆ ทำ และเมื่อทำแล้ว ก็นึกว่าเป็นวิธีการอย่างหนึ่งที่จะทำให้ประชาชนมีกินแบบตามอัตภาพ คือ อาจไม่รวยมาก แต่ก็พอกิน ไม่อดอยาก...” พระราชดำรัส เนื่องในโอกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษา เมื่อวันที่ 4 ธันวาคม 2537 ณ ศาลาดุสิดาลัย สวนจิตรดาฯ พระราชวังดุสิต พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชทรงพบว่าเกษตรกรส่วนใหญ่มีที่ดินขนาดเล็กโดยเฉลี่ยประมาณ 15 ไร่ จึงมีพระราชดำริให้พัฒนาพื้นที่บริเวณวัดมงคลชัยพัฒนาอันเนื่องมาจากพระราชดำริ อำเภอเฉลิมพระเกียรติ จังหวัดสระบุรี โดยนำแนวพระราชดำริ “ทฤษฎีใหม่” ซึ่งเป็นวิธีการจัดการน้ำและดิน เพื่อให้เกษตรกร มีหลักในการจัดการบริหารแหล่งน้ำ การจัดการด้านการเกษตรเพื่อการพออยู่พอกินพึ่งตนเองได้ การรวมกลุ่มและสหกรณ์ ไปจนถึงการหาแหล่งทุนโดยประยุกต์ใช้หลักแนวคิดเศรษฐกิจพอเพียงตามแนวพระราชดำริเข้ากับการทำการเกษตรอย่างเป็นรูปธรรมเพื่อความยั่งยืนทางอาหารและความมั่นคงในชีวิต เพื่อเป็นต้นแบบให้ประชาชนได้เรียนรู้และนำไปประยุกต์ใช้ในพื้นที่ของตนเอง โดยทรงเน้นว่าการทำทฤษฎีใหม่ต้องสามารถยืดหยุ่นได้ “...ทำทฤษฎีใหม่เพื่อที่จะให้ประชาชนมีโอกาสทำเกษตรกรรมให้พอกิน ถ้าน้ำมีพอดีในปีไหน ก็สามารถที่จะประกอบการเกษตร หรือปลูกข้าว ที่เรียกว่านาปีได้ ถ้าต่อไปในหน้าแล้งน้ำมีน้อยก็สามารถที่จะใช้น้ำที่กักไว้ในสระเก็บน้ำของแต่ละแปลงมาทำการเพาะปลูก แม้แต่ข้าวก็ยังปลูกได้ไม่ต้องไปเบียดเบียนชลประทานระบบใหญ่ เพราะมีของตัวเอง แต่ก็อาจจะปลูกผักหรือเลี้ยงปลาหรือทำอะไรอื่นๆ ก็ได้ ทฤษฎีใหม่นี่มีไว้สำหรับป้องกันความขาดแคลน ในยามปกติก็จะทำให้ร่ำรวยมากขึ้น ในยามที่มีอุทกภัย ก็สามารถที่จะฟื้นตัวได้เร็ว โดยไม่ต้องให้ทางราชการไปช่วยมากเกินไป ทำให้ประชาชนมีโอกาสพึ่งตนเองได้อย่างดี ฉะนั้นจึงได้สนับสนุนให้มีการปฏิบัติตามทฤษฎีใหม่...” พระราชดำรัส เนื่องในโอกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษา เมื่อวันที่ 4 ธันวาคม 2535 ณ ศาลาดุสิดาลัย สวนจิตรลดาฯ พระราชวังดุสิต ศาสตร์พระราชา จากภูผาสู่มหานที ศาสตร์พระราชาให้ความสำคัญในด้านการจัดการน้ำอย่างครบวงจร ตั้งแต่ภุเขาสูงที่เป็นต้นน้ำไปจนถึงทะเลที่เป็นปลายน้ำ “พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชทรงคิดไว้หมดแล้ว เรามีองค์ความความรู้อยู่แล้วเหลือเพียงแต่เราที่ต้องลงมือทำ” อ.ยักษ์ที่ใครๆ รู้จักหรือ ดร.วิวัฒน์ ศัลยกำธร ประธานสถาบันเศรษฐกิจพอเพียง ประธานมูลนิธกสิกรรมธรรมชาติ และประธานคณะกรรมาธิการขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) ด้านการศึกษา ผู้มีโอกาสทำงานรับใช้ใต้เบื้อง พระยุคลบาทพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภภุมิพลอดุลยเดช ในตำแหน่งผู้อำนวยการกองประเมินผลงาน สำนักงานคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานดครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ (สำนักงานกปร.)เคยกล่าวไว้ อ.ยักษ์เคยบอกว่าตัดสินใจลาออกจากราชการเพื่อลงมือขับเคลื่อนแนวคิดศาสตร์พระราชาเรื่องปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงและทฤษฎีใหม่อันเนื่องมาจากพระราชดำริสู่การปฏิบัติโดยสร้างต้นแบบขึ้นที่สูนย์กสิกรธรรมชาติมาบเอี้ยง อำเภอบ้านบึง จังหวัดชลบุรี เป็นทฤษฎีบันได 9 ขั้น เพื่อให้ทุกคนสามารถเข้าใจและทำตามได้ง่ายขึ้น โดยแบ่งเป็นบันไดขั้นที่ 1-4 เป็นเศรษฐกิจพอเพียงขั้นพื้นฐาน ให้พอกิน พอใช้ พออยู่ พอร่มเย็น บันไดขั้นที่ 5-9 คือ เศรษฐกิจพอเพียงขั้นก้าวหน้า คือ บุญ ทาน เก็บรักษา ขาย และขยายเครือข่าย “...แม่น้ำป่าสักจะบริหารจัดการได้ยากที่สุด เพราะปริมาณน้ำไหลลงอ่างสูงมากหลายเท่าของความจุอ่าง...ถ้าออกจากโรงพยาบาลเมื่อไร คงจะช่วยได้มากกว่านี้...” จากกระแสพระราชดำรัสของพระบามสมเด็จพระปรมินทรมหาภุมิพลอดุลยเดช เมื่อวันที่ 3 เมษายน 2556 ที่ทรงแสดงความห่วงใยต่อปัญหาภัยแล้งและอุทกภัยบริเวณลุ่มน้ำป่าสักแม้ในยามทรงพระประชวร นั่นคือแรงบันดาลใจให้เกิดความร่วมมือระหว่าง อ.ยักษ์ และองค์กรเอกชน เกิดโครงการ “พลังคนสร้างสรรค์โลก รวมพลังตามรอยพ่อของแผ่นดิน” ในปีเดียวกัน เพื่อน้อมนำศาสตร์พระราชาและภูมิปัญญาท้องถิ่นลงสู่การปฏิบัติเพื่อหยุดท่วม-หยุดแล้งอย่างยั่งยืน หลุ่มขนมครก หยุดท่วม-หยุดแล้ง อย่างยั่งยืน “หลุมขนมครก เป็นคำเปรียบเทียบที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงนำเอาถาดขนมมาอธิบายการจัดน้ำและลุ่มน้ำ อย่างถาดที่ไม่มีหลุดเลยเวลาฝนตกมาก็หลากท่วมหมดเสร็จก็ไหลทิ้ง แต่ถ้าในถาดมีหลุดเล็กๆ กระจายทั่วเหมือนถาดขนมครก ฝนตกลงมาก็ไหลในหลุม พื้นที่ส่วนใหญ่ก็จะไม่ท่วม ขณะเดียวกันฤดูแล้งก็จะไม่แล้ง” เป็นอีกการซึมซับพระมหากรุณาธิคุณเพื่อขยายผลสู่สังคมของดร.วิวัฒน์ ศัลยกำธร ประธานสถาบันเศรษฐกิจอเพียงและมูลนิธิกสิกรรมธรรมชาติกับโครงการสืบสานพระราชปณิธานแหล่งน้ำแบบหลุมขนมครกในพื้นที่ โครงการฯ มีเป้าหมายในการเผยแพร่ศาสตร์พระราชาด้วยการขุด “หลุมขนมครก” เพื่อใช้เป็นที่กักเก็บน้ำในยามที่น้ำหลากและเป็นแหล่งน้ำในยามแล้ง ปลูกพืชพสมผสานด้วยการปลูกป่า 3 อย่างให้ประโยชน์ 4 อย่าง ห่มดินให้เก็บความชุ่มชื้น เกิดเป็นโคกหนอง นา โมเดล สำหรับการจัดการน้ำในลุ่ม และเปลี่ยนเขาหัวโล้นเป็นเขาหัวจุกในที่สูง นับเป็นการรวมองค์ความรู้ต่าง ๆ ของศาสตร์พระราชามาปฏิบัติให้เกิดผล ด้วยการสร้างคน เครือข่าย และศูนย์เรียนรู้ ด้วยความเชื่อที่ว่าการทำให้เห็นผลสำเร็จเป็นตัวอย่างจะได้ผลมากกว่าเพียงคำบอกเล่า เพราะเมื่อชาวบ้านเห็นตัวอย่างความสำเร็จของเพื่อนบ้านก็จะพากันลงมือทำตาม โครงการฯ ได้ดำเนินการอย่างต่อเนื่องจนเข้าสู้ปีที่ 5 สามารถสร้างตัวอย่างความสำเร็จที่เป็นรูปธรรม และขยายผลจากกลุ่มน้ำป่าสักไปสู่ลุ่มน้ำอื่นๆ ทั่วประเทศ ยืนยันได้ว่าศาสตร์พระราชานอกจากจะช่วยแก้ปัญหาเรื่องสิ่งแวดล้อม ยังแก้ปัญหาด้านเศรษฐกิจและสังคมได้อย่างยั่งยืน ดังกรณีตัวอย่างที่จะให้ได้สัมผัสต่อไปนี้ บุญเลี้ยง รื่นมาลัย(ป้าเปี๊ยก) ตำบลม่วงงาม อำเภอเสาไห้ จังหวัดสระบุรี บุญเลี้ยงหรือป้าเปี๊ยกบอกว่าเมื่อมีโคก หนอง นา จึงไม่แล้ง ความสุขเกิดขึ้นที่นี่ ป้าเปี้ยก บอกปรกติแล้วเป็นคนขยัน ทั้งทำการเกษตรและขายก๋วยเตี๋ยว แต่ยิ่งทำกลับมีหนี้สินพอกพูนเพราะต้องซื้อต้องจ้างทุกอย่างจนต้องกู้ยืมเงินรายวัน ก่อให้เกิดปัญหาในครอบครัวตามมา ป้าเปี้ยกหันมาเรียนรู้ศาสตร์พระราชาปรับพื้นที่ขนาด 3 ไร่ ที่แห้งแล้งขาดแคลนน้ำทุกฤดูแล้งเปลี่ยนเป็นโคก หนอง นา ปลูกป่า 3 อย่างให้ประโยชน์ 4 อย่าง มีหนองน้ำที่ไม่แล้งอีกต่อไป จากรายได้ปีละ 2 ครั้งที่เมื่อได้มาก็ไม่พอใช้หนี้ ก็สามารถสร้างผลผลิตที่เป็นรายได้ทั้งผักสารพัดชนิดและไข่ไก่ให้เก็บขายได้ทุกวันจนใกล้ปลอดหนี้ เหนืออื่นใดครอบครัวมีความสุขกับชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น โรงเรียนบ้านโป่งเกตุ ตำบลซับสนุ่น อำเภอมวกเหล็ก จังหวัดสระบุรี เมื่อมีน้ำเต็มบ่อ นักเรียนมีอาหารอิ่มท้อง ความสุขจึงเต็มเปี่ยม อ.สมจิตร์ ชนะชัย หรือครูแตน ได้นำนักเรียนและครูโรงเรียนบ้านโป่งเกตุทำการเกษตรอยู่แล้ว แต่ประสบปัญหาบ่อน้ำเก็บน้ำไว้ไม่อยู่ ดินเป็นกรวดและหินปูนที่ปลูกอะไรไม่ขึ้น เมื่อเข้าร่วมกับโครงการฯ ได้เรียนรู้ศาสตร์พระราชา สร้างฝาย ปลูกป่า 3 อย่างให้ประโยชน์ 4 อย่าง สร้างเล้าไก่และเล้าเป็ด พลิกฟื้นดินด้วยการห่มฟาง คลุมหญ้า จนดินอุดมสมบูรณ์ปลูกพืชผักได้งาม ใช้การ “ย่ำขี้” เพื่อให้มูลสัตว์เป็นตัวยาบ่อน้ำ ทำให้สามารถเก็บกักน้ำได้ในชั่วข้ามคืนเพียงพอสำหรับทำเกษตรและเลี้ยงปลา ผลผลิตจึงมีเหลือเฟือสำหรับทำอาหารกลางวันเลี้ยงเด็กนักเรียน เหนืออื่นใดทั้งครูและนักเรียนมีความสุขจากการปฏิบัติและนักเรียนยังนำไปขยายผลทำต่อที่บ้าน ปัจจุบันที่นี่เป็นศูนย์กลางในการกระจายความรู้ให้กับวัด โรงเรียนอื่นๆ และเป็นที่ดูงานสำหรับผู้ที่สนใจ นันทนา ปรมานุศิษฐ์/เรื่อง วารสารวัฒนธรรม