บรรณาลัย เรื่องและรูป “อบเชยป่า” รู้จักรากเหง้าเผ่าพันธุ์ไท ผ่านรากข้าว (ตอน2) หลังเกริ่นกล่าวถึงความเป็นมา และสาเหตุของการโยกย้ายและกระจายตัวตั้งถิ่นฐานของคนไท กะได จนเป็นที่เข้าใจกันดีแล้ว ทองแถม นาถจำนง จึงได้อธิบายลักษณะวัฒนธรรมของคนไท กะได ที่ได้สรุปลักษณะร่วมกัน รวมไว้ใน 5 คำ นั่นก็คือ ข้าว ผี แถน ขวัญ นาค โดยได้ให้ข้อมูลที่ขอสรุปย่นย่อเอาไว้คร่าวๆ ดังนี้ ข้าว : คนพื้นเมืองกลุ่มวัฒนธรรมไป่เยวี่ย หรือวัฒนธรรมข้าวมีความเชื่อว่า คนและสิ่งมีชีวิตที่สำคัญต่อมนุษย์ เช่น ข้าว , ควาย ล้วน มี “ขวัญ” หรือที่ภาษาจีนกลางเรียก “หุน” ข้าวก็มีขวัญข้าว ควายก็มีขวัญควาย ภาษาคนไทซาย อยู่ที่อำเภอซินผิง มณฑลยูนนาน ซึ่งไม่รู้จักพุทธศาสนา มีคำเรียกว่า “นางข้าว” ที่ชาวบ้านจะทำพิธีเซ่นไหว้ “นางข้าว” เป็นประจำทุกปี ในสมัยดึกดำบรรพ์ “ขวัญข้าว” มีทั้งเป็นเพศชายและเพศหญิง เช่น ไทใต้คงเรียกว่า “ปู่ขวัญข้าว” ไทหยา ไทซายเรียก “นางข้าว” “ขวัญข้าว” มีความสำคัญสูงยิ่ง ต่อมาเมื่อพุทธศาสนาแพร่มาถึง “ขวัญข้าว” ถูกลดความสำคัญลง ในนิทานเรื่องปู่ขวัญข้าวของชาวไทใต้คง มีนิทานที่เล่าถึงปู่ขวัญข้าวและพระพุทธเจ้า มีร่องรอยแสดงให้เห็นถึงความขัดแย้งระหว่างการเคารพบูชาขวัญข้าวดั้งเดิมกับการเคารพพระพุทธเจ้า ที่แพร่เข้ามาใหม่ แต่ในที่สุดก็มีการออมชอมกันระหว่างความเชื่อเก่ากับความเชื่อใหม่ ตามความเชื่อดั้งเดิมของไทยเรานั้น เชื่อว่า ข้าวมีแม่โพสพคอยปกปักรักษา นอกจากข้าวเป็นสิ่งที่มีบุญคุณแล้ว ยังมีจิตวิญญาณของแม่โพสพประจำอยู่ในต้นข้าวด้วย เป็นผู้คอยดูแลต้นข้าวให้เจริญงอกงาม จึงมีคติความเชื่อที่บูชากราบไหว้แม่โพสพ และเชื่อว่าข้าวสามารถให้คุณให้โทษแก่มนุษย์ได้ มนุษย์เราเป็นหนี้บุญคุณแม่โพสพ โพสพ – โพสี เป็นภาษาถิ่นพายัพ ทางอีสานว่า โคสก ไทลื้อเรียก ย่าขวัญข้าว ภาษากระเหรี่ยงคือ ภี่บือโหย่ หรือ ผีบือโย ภาษามลายูปัตตานีว่า มะฮียัง (Mak Hiang) เป็นเทพเจ้าแห่งข้าวตามคติความเชื่อของไทย โพสพตามความเชื่อแต่เดิมเป็นเทวสตรี แต่ภายหลังได้มีคติ ปรากฏเป็นบุรุษเพศคู่กัน มีปลาเป็นพาหนะ นอกจากนี้ยังปรากฏใน โคลงทวาทศมาส เรียกนาม “ พระไพศภ” “ พระไพศพ” หรือ “พระไพสพ” แต่ยังมีข้อมูลที่สับสนอยู่ว่า นามที่ปรากฏในโคลงทวาทศมาสนี้ จะหมายถึงเทพบุตรผู้ดูแลธัญพืช หรือหมายถึง พระไพศรพณ์ ที่เป็นอีกนามหนึ่งของท้าวกุเวร หรือท้าวเวสสุวรรรณ ที่เป็นหนึ่งในสี่ของท้าวจตุโลกบาล ทองแถม นาถจำนง ให้ข้อสังเกตว่า คำว่า “แม่โพสพ” แม่เป็นภาษาไท “โพสพ” เป็นภาษาชมพูทวีป “แม่โพสพ” นั้นหรือก็คือ “นางข้าว” ในภาษาไทดึกดำบรรพ์นั่นเอง แถน : แถนหรือผีฟ้า เป็นเทวดาที่สามารถติดต่อกับมนุษย์ในลักษณะพึ่งพาอาศัยกัน โดยแถนช่วยเหลือมนุษย์ ขณะเดียวกันมนุษย์ย่อมต้องเซ่นไหว้ด้วยข้าวปลาอาหารตอบแทน และต้องปฏิบัติตนให้ถูกต้องตามประสงค์ของแถน เพื่อให้แถนมีเมตตาและบันดาลสุขให้ ในทางกลับกันหากมนุษย์ทำให้แถนเกิดความไม่พอใจก็อาจบันดาลให้เกิดภัยพิบัติต่างๆ เช่น น้ำท่วม ฝนฟ้าไม่ตกต้องตามฤดูกาล ข้าวยากหมากแพง เกิดโรคระบาด ฯลฯ จึงเป็นที่มาของประเพณีการบูชาพระยาแถน คติความเชื่อเกี่ยวกับแถนฝังรากลึกอยู่ในวัฒนธรรมไต-ไท ดังที่มีการผูกเรื่องราวของพระยาแถนเอาไว้ในตำนานต่างๆ เช่น ตำนานเมืองเชียงตุง ของชาวเขิน ในรัฐฉานประเทศพม่า ตำนานโยนกเชียงแสนของล้านนา เชียงใหม่ ตำนานขุนบูรมของล้านช้าง ตำนานบูราณจีของชาวอัสสัม ภาคเหนือของอินเดีย รวมทั้งมีอ้างอิงไว้ในประวัติศาสตร์ของกัมพูชา เมียนมาร์ จามปา เวียดนาม จีน ฯ เป็นต้น ประเพณีบุญบั้งไฟที่เป็นพิธีขอฝนของคนอีสาน เป็นการจุดบั้งไฟขึ้นฟ้าเพื่อบูชาพญาแถน ให้ปล่อยฝนให้ตกต้องตามฤดูกาล “บั้งไฟ” หมายถึงบั้งไม้ไผ่ หรือทุกวันนี้นิยมใช้ท่อพลาสลอน นำมาบรรจุดินปืน ทำจากดินประสิวคั่วกับถ่านไม้ ตำละเอียดให้เข้ากันดีเรียกว่า ”หมื่อ” นำไปอัดใส่กระบอกที่เตรียมไว้ให้แน่น ทำเป็นส่วนประกอบท่อนหัวท่อนหางหรือรูปอื่นๆ ตามต้องการ ใช้จุดพุ่งขึ้นฟ้าเพื่อถวายพระยาแถน เป็นเสมือนการสื่อสารระหว่างมนุษย์กับพระยาแถนที่อยู่บนสวรรค์ชั้นฟ้า เพื่อให้พญาแถนส่งฝนลงมาตามกำหนดฤดูทำนา ธรรมเนียมการจุดบั้งไฟมีในคนไท และในหมู่คนตระกูลไท-กะไดอื่นๆ ด้วย เช่น ไทโยน (ล้านนา) ไทลื้อ เรียก จิบอกไฟ ไทใหญ่ในแม่ฮ่องสอนเรียก จุดบอกไฟ รวมทั้งในชนชาติผู้ญัย ในมณฑลกุ้ยโจวของจีน มีเทศกาล “จุดบอกไฟน้อย” ในเมืองไทยมีการทำบุญบั้งไฟในภาคอีสานเป็นส่วนใหญ่ ประเพณีบูชาแถนอีกอย่างหนึ่งที่มีมาแต่โบราณกาลก็คือ การประโคมมโหระทึก หรือกลองสำริด กลองมโหระทึกเป็นกลองที่ทำจากสำริดคือโลหะที่ส่วนผสมระหว่างทองแดง ดีบุก และตะกั่ว มักตกแต่งประดับลวดลายเป็นรูปกบ บางแห่งจึงเรียกกลองกบ ประเพณีการบูชาผีฟ้า หรือผีแถน ด้วยการตีกลองกบพร้อมกับร้องรำทำเพลงและเต้นท่ากบ เพื่อให้ผีฟ้าหรือผีแถนพอใจ เป็นการส่งสัญญาณขอฝน และมีพิธีกรรมเกี่ยวกับกบ เขียด เช่น พิธีบูชามะก่วย (เขียด) พิธีเต้นระบำกบ ของชาวจ้วง พิธีเต้นระบำกบของชาวบาหลี ที่ทำพิธีกันตอนหลังเก็บเกี่ยวข้าว เป็นต้น ในเมืองไทยและเพื่อนบ้านใกล้เคียง ความเชื่อเกี่ยวกับกบได้ลบเลือนไปมาก แต่ก็ยังคงเหลือร่องรอยให้เห็นใน ตำนานพญาคันคาก ของชาวอีสาน และในเทศกาลสงกรานต์ของชาวไทขืนที่เชียงตุง ที่ยังคงมีประเพณีปั้นดินเป็นรูปกบคาบพระจันทร์หนึ่งดวงในปากกบ และธรรมเนียมการตีกลองมังคละเพื่อทำพิธีขอฝนแบบโบราณ ผี : คำว่า ผี โดยรวมๆ แล้วหมายถึง ระบบรักษาสมดุลของโลกธรรมชาติ เป็นเสมือนระเบียบของโลกที่คนต้องเคารพ หรืออีกนัยหนึ่งผีก็คือวิญญาณ ในภาษาไทรุ่นหลัง ชนเผ่าในตระกูลไท-กะไดดั้งเดิมเคารพบูชา “ผีบรรพบุรุษ” “ผีฟ้า”หรือ แถน ผีน้ำ ผีเจ้าที่ บางทีเรียกเสื้อ หรือเชื้อ หรือเส้อ ในสำเนียงจีนกลาง ผีขุนน้ำ ก็คือสิ่งที่สิงสถิตอยู่ตามต้นน้ำเพื่อรักษาต้นน้ำลำธาร เพื่อช่วยดลบันดาลให้น้ำไหลออกจากตาน้ำตลอดเวลาไม่ขาดสาย เป็นอารักษ์ประจำต้นน้ำแต่ละสาย ทางภาคเหนือก่อนปล่อยน้ำเข้านาจะมีพิธีเลี้ยงผีขุนน้ำ ผีเหมือง ผีฝาย ผีห้วย เพื่อขอใช้น้ำทำเกษตรกรรม เป็นการแสดงกตัญญูต่อธรรมชาติที่มอบความอุดมสมบูรณ์แก่มนุษย์ มองเห็นความสำคัญของธรรมชาติที่มีต่อมนุษย์ ผีตาแฮก เป็นผีประจำไร่นา ตามความเชื่อของชาวอีสาน นาทุกผืนจะมีตาแฮกอยู่ เมื่อชาวบ้านเข้าหักร้างถางพงเพื่อทำไร่นา ก็จะทำพิธีเชิญตาแฮกมาดูแลรักษานาข้าว ไม่ให้ข้าวกล้าเสียหาย ไม่ให้วัวควายหรือแมลงต่างๆ รบกวน จึงมีการตั้งศาลตาแฮก หรือตูบตาแฮก ให้เป็นที่อาศัยของผีตาแฮก แต่ละปีจะมีธรรมเนียมเลี้ยงผีตาแฮกช่วงก่อนลงมือทำนา คือในเดือน 6 ที่กลายมาเป็นธรรมเนียมแรกนาขวัญนั่นเอง และจะมีพิธีเลี้ยงผีตาแฮกอีกครั้งช่วงหลังเก็บเกี่ยว ทางภาคใต้เรียกพิธีนี้ว่าพิธี “ลาซัง” หรือบางแห่งเรียก “ล้มซัง” นอกจากนี้ยังมีการเซ่นไหว้ผีบรรพบุรุษ ที่บางถิ่นเรียกผีเรือน ผีปู่ย่า หรือผีตายาย การไหว้ผีบรรพบุรุษเป็นพิธีกรรมของครอบครัวหรือระหว่างเครือญาติ มีผีประจำหมู่บ้าน ที่บางถิ่นเรียกผีบ้าน หรือเสื้อบ้าน บางถิ่นเรียกผีปู่ตา คอยคุ้มครองดูแลคนในหมู่บ้าน ทางภาคเหนือมีพิธีเซ่นไหว้ผีเมือง คือผีเจ้าเมืองที่เคยปกครองเมืองต่างๆ ในสมัยก่อน เพื่อขอให้ช่วยคุ้มครองบ้านเมืองให้อยู่เย็นเป็นสุข ทำมาหากินได้ผลดี และเพื่อความเป็นสิริมงคล ภาพ..ไหว้ผีตาแฮก เชียงใหม่