“นายช่างศิลปกรรมอาวุโส”กลุ่มงานประติมากรรม สำนักช่างสิบหมู่เผยแท่นฐานองค์มหาเทพพระนารยณ์ปั้นรูปครุฑประดับลวดลายผลไม้ไทยนานาชนิด สื่อความอุดมสมบูรณ์ด้านเกษตรในรัชกาลที่ 9 ด้านแท่นฐานพระอินทร์ประดับช้างสามเศียรเอราวัณ ครุฑหัวเสาคืบหน้า40% สิงห์ประดับบันไดใกล้แล้วเสร็จ ความคืบหน้าจัดสร้างประติมากรรมประดับพระเมรุมาศ งานพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช เมื่อวันที่ 10 มิ.ย. 60 นายมานพ อมรวุฒิโรจน์ นายช่างศิลปกรรมอาวุโส กลุ่มงานประติมากรรม สำนักช่างสิบหมู่ กรมศิลปากร ผู้ออกแบบและปั้นแท่นฐานมหาเทพพระนารายณ์ ประติมากรรมประดับพระเมรุมาศ เปิดเผยความคืบหน้าการปั้นแท่นฐานพระนารายณ์ ว่า ได้ดำเนินการปั้นต้นแบบเกือบเสร็จทั้งหมดแล้ว โดยการปั้นแท่นฐานพระนารายณ์ได้ทำการปั้นเป็นหน้าครุฑ ซึ่งถือเป็นพาหนะของพระนารายณ์ ได้ปั้นส่วนนี้เสร็จแล้ว ส่วนด้านข้างทั้งซ้ายและขวาออกแบบให้เป็นรูปรวบรวมผลไม้ไทยหลากหลายชนิดที่มีอยู่ทั่วทุกภูมิภาค คนไทยเป็นที่รู้จักกันดี เช่น ทุเรียน มังคุด กล้วย เงาะ ลองกอง สัปปะรด ชมพู่ ดำเนินการปั้นเสร็จแล้วทั้งสองด้าน “การปั้นรูปผลไม้ไทยนานาชนิดนั้น ตนต้องการสื่อความหมายถึงให้เห็นถึงความอุดมสมบูรณ์ของพืชพรรณธัญญาหารของประเทศไทย ที่ในหลวงรัชกาลที่ 9 ได้ทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจด้านการเกษตร ก่อเกิดเป็นโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริต่างๆ เช่น การทำเขื่อน โครงการแกล้งดิน ซึ่งล้วนแล้วนำมาซึ่งก่อเกิดประโยชน์แก่ประชาชน ความอุดมสมบูรณ์ทางด้านการเกษตร ดังนั้นด้านข้างของฐานจึงปั้นผลไม้ไทย ส่วนด้านหลังของฐานปั้นรูปดอกไม้สีสันสวยงาม เช่น ดอกลีลาวดี จำปา ทั้งนี้งานปั้นต้นแบบทั้งหมด คาดว่าจะแล้วเสร็จภายในสัปดาห์หน้า” นายมานพ นายช่างศิลปกรรมอาวุโส กล่าว ด้าน นายพลชกร สิขราภรณ์ ช่างปั้นจิตอาสา จ.ตรัง ผู้ได้รับมอบหมายปั้นแท่นฐานพระอินทร์ กล่าวว่า ได้ปั้นช้างสามเศียรเอราวัณ ซึ่งถือเป็นพาหนะของพระอินทร์ จึงออกแบบช้างสามเศียรทั้ง 4 ด้าน และมีพวงช่อจำปาประดับลวดลายอย่างกลมกลืม ทั้งนี้ช้างเอราวัณที่ออกแบบจะมีความเป็นร่วมสมัย เป็นช้างอุดมคติที่จัดสร้างขึ้นแบบไทยๆ แต่เหนือจินตนาการ มีความทรงพลัง มีฤทธานุภาพพิเศษกว่าช้างทั่วๆ ไป โดยแสดงออกผ่านทางดวงใจ แต่ส่วนของงาจะปั้นไม่ให้ยาวเกินไป เพื่อให้สะดวกต่อการถอดพิมพ์ เข้ากับองค์พระอินทร์ใส่จินตนาการผสมเข้าไป แต่ยังคงมีลวดลายไทยเป็นศิลปสมัยรัตนโกสินทร์ในรัชกาลที่ 9 คาดว่าการดำเนินงานส่วนนี้จะแล้วเสร็จส่งทำพิมพ์พร้อมๆ กับพระอินทร์ช่วงสิ้นเดือนนี้ ขณะที่ นายภราดร เชิดชู ประติมากรชำนาญการพิเศษ กล่าวประติมากรรมครุฑยุดนาคประดับหัวเสาว่า มีความคืบหน้าไป 40% โดยในส่วนของตนที่รับผิดชอบโครงสร้างและรูปทรงมีการดำเนินงานร่วมกันกับประติมากร อ.เจริญ ฮั่นเจริญ รับผิดชอบงานปั้นลวดลาย ที่ตอนนี้อยู่ระหว่างลงลายกระหนกส่วนหาง เก็บรายละเอียดขนช่วงล่างของขา จากนั้นดำเนินการลงลายส่วนปีกและเครื่องยอด ซึ่งหลังจากเก็บรายละเอียดเรื่องลายเสร็จเรียบร้อยแล้ว นำไปทำแม่พิมพ์ หล่อปูนปาสเตอร์ เมื่อหล่อเสร็จแล้วทำการประดับเครื่องทรง โดยนายสมชาย ศุภลักษณ์อำไพพร นายช่างศิลปกรรมอาวุโส เป็นผู้ออกแบบภาพลายเส้นครุฑยุดนาคมาตรวจดูอีกครั้งว่าจะปรับแก้ส่วนใดหรือไม่ ก่อนที่จะดำเนินการขั้นตอนต่อไป สำหรับการจัดสร้างครุฑยุดนาคประดับหัวเสามี 2 ขนาด ความสูง 1.75เมตร จำนวน 4 ชิ้น และขนาด 1.5 เมตร จำนวน 8 ชิ้น ด้าน นายสงกรานต์ กุณารบ นายช่างศิลปกรรมชำนาญงาน กล่าวประติมากรรมสิงห์ประดับบันไดชั้นที่ 1ว่า คืบหน้ากว่าร้อยละ 80 เหลือประดับลายใต้ลำคอ ใส่กล้ามเนื้อ ลายน่องสิงห์ เส้นตะขาบสันหลัง ใส่รายละเอียดของลาย เล็บให้ดูสง่างาม ประยุกต์ความเป็นร่วมสมัย อย่างไรก็ดี สิงห์ตนนี้ได้ออกแบบและศึกษาจากสิงห์ในตำนานจากตำรา และภาพวาดจิตรกรรมไทย เพื่อใส่ลายละเอียดความเป็นไทยลงไป ทั้งดูจากเสือตัวจริงๆ เพื่อดูสัดส่วนกล้ามเนื้อและการเคลื่อนไหว โดยสิงห์ตนนี้ จะลักษณะกำลังก้าวย่างไปอย่างทรงพลังและเข้มแข็ง คาดว่าการดำเนินการจะแล้วเสร็จภายในสิ้นเดือนมิ.ย.