สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) เดินหน้าขับเคลื่อนไทยเป็นศูนย์กลางการศึกษาด้านนวัตกรรมของภูมิภาค ตั้งเป้าสนับสนุนการปฏิรูปการศึกษารับนโยบายพัฒนาประชากร 4.0 ของรัฐบาล เน้นหลักสูตรเน้นภาษาอังกฤษและการศึกษาแบบสะเต็ม (STEM) พร้อมร่วมมือ Carnegie Mellon University เปิดวิทยาเขตในไทย ศ.ดร.สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ อธิการบดี สจล. กล่าวว่า ประเทศไทยมีความจำเป็นเร่งด่วนในการพัฒนาคนเพื่อรองรับการพัฒนาอุตสาหกรรมตามนโยบายไทยแลนด์ 4.0 ซึ่งเน้นการส่งเสริมอุตสาหกรรมแห่งอนาคต หรือ New S-Curve เช่น หุ่นยนต์ การบินและโลจิสติกส์ เชื้อเพลิงชีวภาพและเคมีชีวภาพ ดิจิทัล และการแพทย์ครบวงจร และสร้างมูลค่าเพิ่มเพื่อให้เศรษฐกิจเติบโตขึ้นไปอีกระดับ "สจล.มีความพร้อมเต็มที่ด้วยการเปิดวิทยาลัยและหลักสูตรต่างๆ ในภาษาอังกฤษ ได้แก่ โรงเรียนสาธิตนานาชาติพระจอมเกล้า ที่จะเปิดสอนชั้นอนุบาลจนจบมัธยมปลาย วิทยาลัยแพทยศาสตร์นานาชาติ สจล. วิทยาลัยอุตสาหกรรมการบินนานาชาติ โครงการจัดตั้งวิทยาลัยวิศวกรรมอวกาศและระบบโลก รวมทั้งหลักสูตรภาษาอังกฤษที่หลายคณะเปิดสอนอยู่ในปัจจุบัน เรามีจุดแข็งด้านการสร้างนวัตกรรม สถานที่ตั้งของสจล. ที่อยู่ใกล้เขตพื้นที่เศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก" อธิการบดี สจล.กล่าวและว่า ขณะนี้ สจล.ได้ร่วมมือกับมหาวิทยาลัย Carnegie Mellon แห่งสหรัฐอเมริกา เตรียมจัดตั้งวิทยาเขต Carnegie Mellon University ในประเทศไทย เปิดสอนระดับปริญญา โดย Carnegie Mellon University จะเชิญนักวิจัยและพันธมิตรอุตสาหกรรม ไม่ว่าจะเป็นศูนย์หุ่นยนต์แห่งชาติ (National Robotics Engineering Center) Google, Facebook, Disney ตลอดจนบริษัทและอาจารย์ระดับโลกมาร่วมกันทำงานวิจัยเพื่อแก้ปัญหาอุตสาหกรรมของประเทศไทย ภายใต้ความร่วมมือดังกล่าว สจล. จะรับสมัครนักวิจัยภายในปลายปีนี้ และเปิดรับนักเรียนไทยและทั่วโลกเข้ามาเริ่มศึกษาในปีหน้า ผู้ที่จบการศึกษาจาก Carnegie Mellon University แคมปัสที่ประเทศไทย จะได้รับปริญญามาตรฐานเดียวกับ Carnegie Mellon University Pittsburgh ในสหรัฐอเมริกา รวมทั้งยังมีแผนที่จะสร้างวิทยาเขตของ สจล.ที่ Carnegie Mellon University อีกด้วย ขณะเดียวกัน สจล. ยังมุ่งเน้นการศึกษาแบบสะเต็ม หรือ STEM (Science, Technology, Engineering, Mathematics) ที่ผสานความสร้างสรรค์และการเน้นวิชาวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี วิศวกรรม และคณิตศาสตร์ เป็นพื้นฐานในบรรยากาศและวิธีการจัดการเรียนการสอนที่จะกระตุ้นให้ผู้เรียนสามารถคิด วิเคราะห์ได้อย่างเป็นระบบ สามารถบูรณาการความรู้หลากสาขาเข้าด้วยกันโดยอาศัยความคิดสร้างสรรค์เพื่อสร้างองค์ความรู้ใหม่ๆ และนวัตกรรมที่สอดคล้องกับความต้องการของตลาด "ในฐานะประธานที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย (ทปอ.) ผมจะเดินหน้าผลักดันให้มหาวิทยาลัยต่างๆ ได้พิจารณาโครงการความร่วมมือกับเอกชนมากขึ้น ในการจัดหลักสูตรการศึกษาที่ตรงตามความต้องการของภาคการผลิต สามารถสร้างคนที่มีคุณภาพ เพื่อสนับสนุนการเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงานขององค์กรต่างๆ และจะขับเคลื่อนการพัฒนาอย่างยั่งยืนที่จะเสริมสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ และทำให้ประเทศไทยสามารถใช้โอกาสที่เกิดขึ้นจากแนวโน้มที่ภูมิภาคเอเชียจะกลายมาเป็นศูนย์กลางทางเศรษฐกิจใหม่ของโลกต่อไปในอนาคต"ศ.ดร.สุชัชวีร์ กล่าว