ป.ป.ช. เร่งไต่สวนคดีรถหรูเลี่ยงภาษี ได้ข้อมูลมาบางส่วน ต้องแบ่งเป็นหลายล็อต พบล็อตแรกมีรถเกี่ยวข้องกว่าพันคัน คาดสรุปได้ใน 2-3 เดือนนี้ ประสานขอข้อมูลจากต่างประเทศเพิ่มเติม จากกรณีคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ตั้งคณะกรรมการประสานและเร่งรัดการดำเนินคดีทุจริตระหว่างประเทศ มีประธานกรรมการ ป.ป.ช. เป็นประธาน ร่วมกับสำนักงานอัยการสูงสุด (อสส.) สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอื่น ๆ เป็นกรรมการ ทำหน้าที่รวบรวมข้อมูล และไต่สวนคดีทุจริต และคดีติดสินบนข้ามชาติ อย่างน้อย 15 คดี โดยมีคดีทุจริตการเลี่ยงภาษีนำเข้ารถหรูที่ ป.ป.ช. ระบุว่า จะสรุปสำนวนได้ภายใน ก.ย. 2560 นั้น เมื่อวันที่ 11 มิ.ย. นายวิทยา อาคมพิทักษ์ กรรมการ ป.ป.ช. ในฐานะประธานคณะอนุกรรมการไต่สวนกรณีนี้ เปิดเผยความคืบหน้าในการไต่สวนว่า ยอมรับเรื่องนี้ไต่สวนมานาน เพราะเป็นคดีที่มีผู้ถูกร้องเรียนกล่าวหาเป็นร้อยคน รถหรูที่เกี่ยวข้องเป็นหมื่นคัน และต้องประสานขอเอกสารหลักฐานจากต่างประเทศ ขณะนี้ ป.ป.ช. ได้หลักฐานจากต่างประเทศบางส่วนเท่านั้น จึงพิจารณาตามพยานหลักฐานที่มี ประกอบกับการสอบปากคำพยานบุคคล ทำให้ต้องแบ่งย่อยออกเป็นหลายล็อต ไม่สามารถดำเนินการล็อตใหญ่ได้ทีเดียวหมด เนื่องจากต้องอาศัยหลักฐานที่ชัดเจนจากต่างประเทศ เช่น ใบส่งของ ใบแจ้งหนี้ แต่เอกสารที่ได้มาทำให้พิจารณาพบว่า ล็อตแรกมีรถหรูเกี่ยวข้องกว่าพันคัน เชื่อว่าจะสามารถสรุปสำนวนล็อตแรกนี้ได้ภายใน 2-3 เดือนนี้ แล้วส่วนอื่น ๆ จึงขยายผลต่อไป ก่อนหน้านี้เมื่อวันที่ 24 เม.ย. 2560 แหล่งข่าวระดับสูงจากสำนักงาน ป.ป.ช. เปิดเผยว่า คดีดังกล่าวมีการกล่าวหาผู้บริหารระดับสูงในกรมศุลกากร และเจ้าหน้าที่ศุลกากร ที่มีพฤติการณ์ปล่อยรถยนต์หรูโดยเรียกค่าธรรมเนียม และภาษีที่ต้องเสียแก่ราชการต่ำกว่าปกติ ทำให้เกิดมูลค่าความเสียหายสูงมาก ซึ่งผู้ถูกกล่าวหารายนี้ถูกกล่าวหาเกี่ยวกับคดีดังกล่าวอีกหลายสำนวน ทั้งนี้คณะอนุกรรมการไต่สวนได้ประสานขอเอกสารหลักฐานจากหน่วยงานของประเทศอังกฤษเพื่อนำมาประกอบด้วย แม้ยังได้ไม่ครบถ้วนทั้งหมด แต่สามารถนำข้อมูลบางส่วนมาประกอบได้ และถือว่าหลักฐานครบถ้วนสมบูรณ์ที่สุด ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากการตรวจสอบสำนวนการไต่สวนของคณะกรรมการ ป.ป.ช. นับตั้งแต่ปี 2556 เผยแพร่รายชื่อเจ้าหน้าที่ของรัฐที่ถูกกล่าวหาในคดีนี้คือ นายราฆพ ศรีศุภอรรถ อธิบดีกรมศุลกากร (ขณะนั้น) และนายชัยพงศ์ พิทักษ์มงคล นักวิชาการศุลกากรชำนาญการ (ขณะนั้น) โดยถูกกล่าวหาว่า ใช้อำนาจในตำแหน่งโดยมิชอบ หรือโดยทุจริตเรียกรับเงินจากผู้ประกอบการนำเข้ารถยนต์อิสระเพื่อแลกกับการไม่จับกุมดำเนินคดี กรณีหลีกเลี่ยงภาษีด้วยการสำแดงราคารถยนต์ที่นำเข้าจากต่างประเทศต่ำกว่าความเป็นจริง และมีพฤติการณ์ทุจริตรับราคารถยนต์นำเข้าจากต่างประเทศ ซึ่งมีการสำแดงราคารถยนต์ที่นำเข้าต่ำกว่าความเป็ฯจริง ทำให้ผู้นำเข้ารถยนต์เสียภาษีอากรหรือค่าธรรมเนียมน้อยกว่าที่ต้องชำระ อย่างไรก็ดีกรณีดังกล่าวยังอยู่ระหว่างการไต่สวนข้อเท็จจริง ดังนั้นผู้ถูกกล่าวหาทุกรายจึงยังเป็นผู้บริสุทธิ์อยู่ ทั้งนี้นายราฆพ ถูกคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ฉบับที่ 16/2558 ให้ระงับการปฏิบัติหน้าที่ผู้ตรวจราชการกระทรวงการคลัง ไปปฏิบัติราชการในตำแหน่งประจำสำนักปลัดกระทรวงการคลังแล้ว