จากกรณีนายศรีสุวรรณ จรรยา เลขาธิการสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย พร้อมด้วย นางวิจิตรา จงทัน รองนายกสมาคมพืชไร่เพชรบูรณ์ ได้พาผู้เสียหายซึ่งถูกหลอกให้เลี้ยงกุ้งก้ามแดง หรือเครฟิซ กว่า 10 ราย เดินทางเข้าพบพนักงานสอบสวน บก.ป.เพื่อแจ้งความดำเนินคดีกับ นายเดชาวิต จันทร์ส่องแสง ประธานสหพันธ์กุ้งก้ามแดงเนื้อหรือกุ้งเครฟิซ ในความผิดฐานฉ้อโกงประชาชน , ความผิดตาม พ.ร.ก.กู้ยืมเงิน อันเป็นการฉ้อโกงประชาชน และ นำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลอันเป็นเท็จ ตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ หลังจากได้รับความเสียหาย หลังถูกชักชวนให้ร่วมลงทุนเลี้ยงกุ้งพันธุ์ดังกล่าวผ่านทางเฟซบุ๊กกลุ่มผู้เลี้ยงกุ้งโดยมีการรับประกันราคาในการซื้อคืน แต่กลับไม่ทำการรับซื้อคืนความที่ตกลง ความคืบหน้าล่าสุดเมื่อเวลา 10.00 น. วันที่ 13 มิ.ย. ที่ กองบังคับการปราบปราม(บก.ป.) นายเดชาวิต จันทร์ส่องแสง ประธานสหพันธ์กุ้งก้ามแดงเนื้อหรือกุ้งเครฟิซ พร้อมด้วยสมาชิกสหพันธ์ฯ และทนายความ ได้เดินทางเข้าพบ พ.ต.ต.วิทวัส สายอ๋อง สว(สอบสวน).กก.2บก.ป. เพื่อชี้แจ้งข้อเท็จจริงหลังจากถูกผู้เสียหายจากกการลงทุนการเลี้ยงกุ้งก้ามแดงของสหพันธ์ฯ โดยนำเอกสารหลักฐานสัญญาในการลงทุนและการรับซื้อกุ้ง มามอบให้กับเจ้าหน้าที่ประกอบการพิจารณา พ.ต.ต.วิทวัส กล่าวว่า จากการจรวจสอบพบว่าคดีดังกล่าวทางพนักงานสอบสวนกก.3บก.ป. ได้รับเรื่องร้องเรียนดังกล่าวไว้ แต่ทั้งนี้หลังจากพิจารณาและสอบปากคำของผู้เสียหายแล้วพบว่าความผิดดังกล่าวเป็นความผิดเกี่ยวกับการกระทำผิดเกี่ยวอาชญากรรมทางเศรษฐกิจ จึงได้แนะนำให้ทางผู้เสียหายไปแจ้งความร้องทุกข์ที่กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเศรษฐกิจ (ปอศ.) ด้าน นายเดชาวิต เปิดเผยว่า วันนี้ตนกับสมาชิกในสหพันธ์ฯได้เดินทางเพื่อที่จะมาชี้แจงข้อเท็จจริงกับเจ้าหน้าที่ตำรวจว่าสหพันธ์ไม่ได้มีการหลอกลวงแต่อย่างใด ทั้งนี้ในส่วนผู้เสียหายที่มาแจ้งความนั้นอาจจะเป็นกลุ่มที่ไม่เข้าใจในการลงทุนหรือได้รับผลประโยชน์อย่างที่หวังไว้ ซึ่งตนยืนยันว่าทางสหพันธ์ไม่ได้มีการหลอกลวงหรือฉ้อโกงตามที่ถูกกล่าวหา นายเดชาวิต กล่าวอีกว่า สหพันธ์ฯได้เริ่มต้นตั้งแต่เมื่อปี 59 โดยจะเน้นกลุ่มที่เป็นเกษตรกรที่มีหนี้สิน ,กลุ่มเกษตรกรที่เลี้ยงกุ้งอยู่แล้ว และกลุ่มที่อยากเลี้ยงกุ้ง หลังจากนั้นได้มีการจัดการอบรมเพื่อให้ความรู้เกี่ยวกับการเลี้ยงกุ้งให้กับเกษตรกรที่สนใจจะเลี้ยงกุ้ง หากใครสนใจที่จะเลี้ยงกุ้งและขายกุ้งให้กับสหพันธ์ฯ จะต้องซื้อลูกกุ้งจากทางสหพันธ์ฯ โดยจะมีการประกันราคาให้และหากกุ้งตายจะมีการแคลมกุ้งให้กับสมาชิก ต่อมาพบมีสมาชิกบางรายได้นำกุ้งจากที่อื่นนำมาขายให้สหพันธ์ โดยทางสหพันธ์ฯได้มีการตรวจสอบอย่างละเอียดแล้วพบว่าเป็นกุ้งจากที่อื่นจริง จึงไม่รับซื้อและเกิดปัญหาดังกล่าวขึ้น อีกทั้งในส่วนที่ถูกมองว่าการลงทุนแบบนี้เป็นแชร์ลูกโซ่ ตนขอยืนยันว่าการลงทุนเลี้ยงกุ้งดังกล่าวไม่ใช่แชร์ลูกโซ่แต่อย่างใด เนื่องจากการแชร์ฯจะเป็นการเน้นหาสมาชิกต่อไปเรื่อยๆ แต่การลงทุนเลี้ยงกุ้งมีใบการซื้อขายลูกกุ้งเป็นเอกสารหลักฐานชัดเจน นายเดชาวิต กล่าวต่ออีกว่า หลังจากนี้จะเดินทางเข้าพบเจ้าหน้าที่กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเศรษฐกิจ (ปอศ.) เพื่อชี้แจ้งกรณีดังกล่าวต่อไป