นำบทเรียนที่ล้มเหลวเป็นตัวตั้งแก้ไขข้อบกพร่อง..ปฏิรูปการศึกษาไทย ศ.นพ.จรัส สุวรรณเวลา ประธานคณะกรรมการอิสระเพื่อการปฏิรูปการศึกษา เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะกรรมการอิสระฯ ว่า ที่ประชุมมีมติตั้งคณะอนุกรรมการโดยแบ่งคณะกรรมการเป็น 5 กลุ่มตามภารกิจ ได้แก่ คณะอนุกรรมการเด็กเล็ก คณะอนุกรรมการกองทุน คณะอนุกรรมการครู  คณะอนุกรรมการการจัดการเรียนการสอน และคณะอนุกรรมการโครงสร้าง ซึ่งคณะอนุกรรมการแต่ละกลุ่มจะต้องไปประชุมหารือการทำงานตามภารกิจ โดยเชิญบุคคลภายนอกมาร่วมเป็นอนุกรรมการหรือให้ความเห็นเพิ่มเติม เพื่อแสดงให้เห็นว่า การปฏิรูปการศึกษาครั้งนี้ ไม่ใช่เรื่องของคณะกรรมการอิสระฯ เท่านั้น แต่เป็นเรื่องของส่วนรวมที่จะต้องมีส่วนร่วมด้วย นอกจากนี้ที่ประชุมยังได้ตั้งคณะอนุกรรมการสื่อสารสังคมขึ้นมาอีกคณะหนึ่ง เพื่อทำหน้าที่โฆษก ประชาสัมพันธ์ รวบรวมและรับฟังความเห็นเกี่ยวกับการปฏิรูปการศึกษาจากทุกภาคส่วน โดยในเร็ว ๆ นี้ จะมีการเปิดไอดีไลน์  และ เพจเฟซบุ๊ก เพื่อรับฟังความคิดเห็น และเป็นการกระตุ้นการมีส่วนร่วมของสังคมด้วย  ศ.นพ.จรัส กล่าวต่อไปว่า ในการประชุมได้มีการหารือถึงการปฏิรูปการศึกษาที่หลากหลาย และเห็นตรงกันว่า การศึกษา คือ การเตรียมความพร้อมสำหรับอนาคต ที่ต่อไปจะมีความเปลี่ยนแปลงค่อนข้างมาก ดังนั้น เทคโนโลยีทางการศึกษาและการสื่อสาร จึงเป็นเครื่องมือสำคัญที่จะทำให้การปฏิรูปการศึกษาสำเร็จได้ โดยมีหลักการว่าจะไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง ซึ่งหมายถึง ความเสมอภาคและการให้โอกาสทางการศึกษา ที่จะต้องมีทั้งการส่งเสริมการจัดการศึกษาเพื่อมุ่งสู่ความเป็นเลิศ ขณะเดียวกันก็ต้องมีเรื่องของการให้โอกาสทางการศึกษาด้วย  "คณะกรรมการอิสระฯ มีความมุ่งมั่นที่จะทำให้การปฏิรูปการศึกษาประสบความสำเร็จ เพราะที่ผ่านมามีความพยายามที่จะปฏิรูปการศึกษามาหลายครั้ง แต่ก็ไม่ประสบความสำเร็จ ดังนั้นการปฏิรูปครั้งนี้ จะมีการนำบทเรียนจากความไม่สำเร็จดังกล่าว มาแก้ไขข้อบกพร่องเพื่อขับเคลื่อนการทำงาน โดยจะให้ทุกภาคส่วนเข้ามามีส่วนร่วม อีกทั้งมีความเห็นตรงกันว่า ควรมีการยกร่างธรรมนูญการศึกษา เพื่อเป็นกฎหมายแม่บทด้านการศึกษา และชี้ให้ชัดว่า อะไรคือหลักการของการจัดการศึกษาที่ชัดเจน" ศ.นพ.จรัสกล่าว