กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุขลงพื้นที่สำรวจสภาวะสุขภาพช่องปากแห่งชาติ ครั้ง 8 พ.ศ.2560 ในพื้นที่เป้าหมาย 12 เขตบริการสุขภาพ 25 จังหวัดและกรุงเทพฯ ด้านมูลนิธิทันตสาธารณสุขมอบเงินสนับสนุน 2 แสนบาท นายแพทย์วชิระ เพ็งจันทร์ อธิบดีกรมอนามัย เปิดเผยว่า กรมอนามัยดำเนินการสำรวจสภาวะสุขภาพช่องปากระดับประเทศทุก 5 ปี ต่อเนื่องมาตั้งแต่ปี 2520 สำหรับการสำรวจสภาวะสุขภาพช่องปากระดับประเทศ ครั้งที่ 8 ปี 2560 รวมทั้งสำรวจพฤติกรรมที่พึงประสงค์เด็กวัยเรียนในครั้งนี้ เนื่องมาจากปัญหาฟันผุในเด็กมีสาเหตุหลักมาจากพฤติกรรมการบริโภคของเด็กที่นิยมกินอาหารหรือขนมที่หาซื้อได้ง่าย เช่น เครื่องดื่มรสหวาน น้ำอัดลม ขนมกรุบกรอบโดยข้อมูลจากสำนักงานสถิติแห่งชาติ ปี 2559 พบว่า เด็กอายุ 12 ปี ร้อยละ 70 มีพฤติกรรมกินขนมกรุบกรอบ และกินเฉลี่ยวันละ 1 ครั้ง พฤติกรรมเหล่านี้นอกจากจะทำให้เกิดปัญหาฟันผุในเด็กแล้ว ยังก่อให้เกิดความเจ็บปวด การติดเชื้อ และสร้างปัญหาการบดเคี้ยวอาหาร มีผลต่อน้ำหนัก การเจริญเติบโตและบุคลิกภาพของเด็ก ที่สำคัญคือส่งผลกระทบต่อการเรียน ทำให้เด็กหยุดเรียน และปัญหาฟันผุนำไปสู่การสูญเสียฟันในวัยเด็ก และอาจสะสมจนต้องสูญเสียฟันทั้งปากในวัยสูงอายุตามมา ซึ่งการสำรวจสภาวะสุขภาพช่องปากแห่งชาติครั้งที่ 8 นี้ งบประมาณส่วนหนึ่งกรมอนามัยได้รับการสนับสนุนจากมูลนิธิทันตสาธารณสุขจำนวน 2 แสนบาท กำหนดลงพื้นที่สำรวจตั้งแต่วันที่ 4 มิถุนายน 2560 – 31 สิงหาคม 2560 ในพื้นที่เป้าหมาย 12 เขตบริการสุขภาพ 25 จังหวัด ได้แก่ นครราชสีมา สุรินทร์ อุบลราชธานี มุกดาหาร ขอนแก่น มหาสารคาม หนองคาย สกลนคร สุราษฎร์ธานี กระบี่ สงขลา พัทลุง เพชรบูรณ์ ตาก แพร่ เชียงใหม่ กำแพงเพชร อุทัยธานี ปทุมธานี ปราจีนบุรี สมุทรสาคร เพชรบุรี ชลบุรี นครนายก และกรุงเทพมหานคร ทางด้านทันตแพทย์หญิงปิยะดา ประเสริฐสม ผู้อำนวยการสำนักทันตสาธารณสุข กล่าวว่า ผลจากการสำรวจล่าสุดในครั้งที่ 7ปี 2555พบว่า เด็กอายุ 3 ปี ร้อยละ 51.7และเด็กอายุ 5 ปี ร้อยละ 78.5 มีประสบการณ์ฟันน้ำนมผุส่วนเด็กวัยเรียนและเยาวชนอายุ 12 ปี และ 15 ปี พบว่า ร้อยละ 52.3 มีประสบการณ์การเกิดโรคฟันแท้ผุโดยปัจจัยที่มีผลกระทบตรงต่อภาวะปริทันต์ของเด็ก คือการแปรงฟัน “กลุ่มวัยทำงานอายุ 35-44 ปีมีปัญหาสภาวะปริทันต์ที่พบการอักเสบของเหงือกมีเลือดออกง่ายร้อยละ 39.3และปัญหาโรคฟันผุที่ยังไม่ได้รับการรักษาร้อยละ 35.2 มีพฤติกรรมที่เพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดโรคในช่องปากโดยสูบบุหรี่ร้อยละ19.6 เฉลี่ย 11.7 มวนต่อวันส่วนกลุ่มผู้สูงอายุพบว่า ผู้สูงอายุ 60-74 ปีสูญเสียฟันบางส่วนร้อยละ 88.3สูญเสียฟันทั้งปากร้อยละ 7.2 และสูญเสียฟันเพิ่มขึ้นต่อเนื่องตามอายุจนเมื่ออายุ 80-89 ปีพบสูญเสียฟันทั้งปากถึงร้อยละ 32.2 ผู้สูงอายุ 60-74 ปี มีความต้องการใส่ฟันเทียมทั้งปากร้อยละ 2.5 มีฟันแท้ใช้งานได้อย่างน้อย 20 ซี่ ซึ่งเป็นผลจากพฤติกรรมสุขภาพทั้งในเรื่องของการทำความสะอาดช่องปากที่พบว่า ผู้สูงอายุมีการแปรงฟันก่อนนอนร้อยละ 65.5 มีการใช้อุปกรณ์เสริมการแปรงฟัน ได้แก่ ไหมขัดฟัน แปรงซอกฟัน เพียงร้อยละ 2.7 และ 1.1 ตามลำดับ”ผู้อำนวยการสำนักทันตสาธารณสุข กล่าว