สธ.รณรงค์ “วันไข้เลือดออกอาเซียน 2017” ชวนทุกภาคส่วนดำเนินการ “ประชารัฐร่วมใจปราบยุงลายป้องกันโรคไข้เลือดออก” กระทรวงสาธารณสุข โดยกรมควบคุมโรค และสถาบันบำราศนราดูร ร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) แถลงข่าวรณรงค์ “วันไข้เลือดออกอาเซียน 2017” ชวนทุกภาคส่วนดำเนินการ “ประชารัฐร่วมใจปราบยุงลายป้องกันโรคไข้เลือดออก” และร่วมสานพลังปราบยุงลาย โดยใช้พื้นที่เป็นฐาน พร้อมเผยในแถบประเทศอาเซียนพบเชื้อไวรัสเดงกีได้ 4 สายพันธุ์ ประเทศไทยพบได้ทุกสายพันธุ์ ซึ่งมีมานานแล้ว และไม่มีสายพันธุ์ใหม่ วันนี้ (15 มิถุนายน 2560) ที่สถาบันบำราศนราดูร กรมควบคุมโรค นายแพทย์เจษฎา โชคดำรงสุข อธิบดีกรมควบคุมโรค พร้อมด้วยนางอรพรรณ ศรีสุขวัฒนา รองเลขาธิการคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ และนายแพทย์ชยนันท์ สิทธิบุศย์ รองผู้อำนวยการสถาบันบำราศนราดูร ร่วมแถลงข่าว “ประชารัฐร่วมใจปราบยุงลายป้องกันโรคไข้เลือดออก และรณรงค์วันไข้เลือดออกอาเซียน 2017” โดยในปีนี้ประเทศไทยได้กำหนดพื้นที่เป้าหมายหลักการดำเนินการไม่ให้มีแหล่งเพาะพันธุ์ลูกน้ำยุงลายในฐานพื้นที่ 6 ร. คือ โรงเรือน โรงเรียน โรงพยาบาล โรงแรม โรงงาน และโรงธรรม ซึ่งโรงพยาบาลสถานที่สำคัญที่ต้องทำให้เป็นโรงพยาบาลสะอาดปราศจากแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลาย : Green and Clean Hospital โดยตั้งเป้าให้ทุกสถานพยาบาลทั่วประเทศ มีสิ่งแวดล้อมที่สะอาด ปราศจากแหล่งเพาะพันธุ์ยุง และปลอดลูกน้ำยุงลาย เพราะโรงพยาบาลเป็นสถานที่ทำงานของบุคลากรทางการแพทย์ และเป็นสถานที่สาธารณะที่ประชาชนมาใช้บริการเป็นจำนวนมาก นายแพทย์เจษฎา กล่าวว่า จากที่ประเทศสมาชิกอาเซียนทั้ง 10 ประเทศ มีมติร่วมกัน กำหนดวันที่ 15 มิถุนายนของทุกปีเป็น “วันไข้เลือดออกอาเซียน” (ASEAN Dengue Day) ในปี 2560 หรือ ค.ศ. 2017 นี้ อาเซียนกำหนดประเด็นรณรงค์ คือ United Fight Against Dengue หรือ ประชารัฐร่วมใจปราบยุงลายป้องกันโรคไข้เลือดออก ซึ่งโรคไข้เลือดออกยังเป็นปัญหาสาธารณสุขในประเทศอาเซียน โดยพบผู้ป่วยรวมกว่าปีละ 200,000 ราย จากผลสำรวจครึ่งปีแรกมีรายงานผู้ป่วยใน 7 ประเทศอาเซียน ได้แก่ ไทย กัมพูชา ลาว มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ และเวียดนาม รวม 69,213 ราย เสียชีวิต 57 ราย ส่วนสถานการณ์โรคไข้เลือดออกของประเทศไทย ในปี 2560 พบว่าช่วงครึ่งปีแรก (ตั้งแต่เดือน ม.ค.–พ.ค. 2560) มีผู้ป่วยแล้ว 11,062 ราย เสียชีวิต 21 ราย จากข้อมูลพบว่าในจำนวนผู้เสียชีวิตทั้งหมด เป็นผู้ใหญ่มากกว่าเด็ก (ผู้ใหญ่ 12 ราย เด็ก 9 ราย) แสดงว่าโรคไข้เลือดออกไม่ได้เป็นในเด็กเท่านั้น ผู้ใหญ่ก็เป็นได้และอาจมีอาการรุนแรงเสียชีวิตได้ โดยเฉพาะผู้ที่มีโรคเรื้อรัง เช่น ภาวะอ้วน ที่เสียชีวิตในปีนี้ 5 ราย โรคประจำตัว เช่น เบาหวาน ความดันโลหิตสูง โดยคาดว่าตลอดปี 2560 ไทยจะพบผู้ป่วยโรคไข้เลือดออกประมาณ 75,000–80,000 ราย ทั้งนี้ ในแถบประเทศอาเซียนสามารถพบเชื้อไวรัสเดงกีได้ 4 สายพันธุ์ ในประเทศไทยพบได้ทุกสายพันธุ์ ซึ่งมีมานานแล้ว และปัจจุบันไม่มีสายพันธุ์ใหม่ และในปี 2560 นี้ สายพันธุ์ที่พบมากในไทยคือสายพันธุ์ที่ 2 ส่วนอาการป่วยขึ้นอยู่กับว่าเคยติดเชื้อมาก่อนหรือไม่ ผู้ป่วยที่ติดเชื้อครั้งแรกอาการมักไม่รุนแรง อาจมีไข้ ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อเท่านั้น แต่อาการจะรุนแรงขึ้นเมื่อติดเชื้อครั้งที่สองด้วยสายพันธุ์ที่ต่างไป ซึ่งจะทำให้มีภาวะเลือดออกและช็อกได้ ด้านนางอรพรรณ กล่าวว่า จากที่สมัชชาสุขภาพแห่งชาติได้มีมติในเรื่อง “การสานพลังปราบยุงลาย โดยใช้พื้นที่เป็นฐาน” ซึ่งให้ความสำคัญกับความร่วมแรงร่วมใจของคนในพื้นที่ระดับชุมชน ที่อยู่อาศัย และที่ทำงานของตนเอง ให้ช่วยกันจัดการสิ่งแวดล้อมไม่ให้เป็นแหล่งเพาะพันธุ์ยุง ซึ่งมีข้อสรุปสำคัญ ดังนี้ 1.ด้านองค์ความรู้เกี่ยวกับการจัดการยุงลาย 2.การจัดทำแนวทางการปฏิบัติงานเฝ้าระวัง ป้องกัน ควบคุมโรคไข้เลือดออก 3.เรียนรู้การบูรณาการกลไกและกระบวนการสุขภาพภาคประชาชนในพื้นที่ และ 4.ขับเคลื่อนมติสมัชชาสุขภาพฯ ไปสู่การปฏิบัติระดับพื้นที่ โดยการดำเนินงานนี้มีเป้าหมายเป็นหนึ่งเดียวคือต่อสู้กับยุงลาย หวังจะเห็นคนไทยปลอดโรคที่นำโดยยุงลายหลายๆ โรค เช่น ไข้เลือดออก ไข้ปวดข้อยุงลาย ไข้ติดเชื้อไวรัส ซิกา หรือโรคอื่นๆ ที่จะตามมาในอนาคตได้ ส่วนนายแพทย์ชยนันท์ กล่าวเสริมว่า กระทรวงสาธารณสุข ได้จัดทำโครงการ Green and Clean Hospital หมายถึง โรงพยาบาลที่มีกระบวนการพัฒนาอนามัยสิ่งแวดล้อมของโรงพยาบาลให้เอื้อต่อการมีสุขภาพดีของผู้รับบริการ ทั้งผู้ป่วยและญาติ รวมถึงบุคลากรที่ปฏิบัติงานในโรงพยาบาล ซึ่งจะส่งผลให้แหล่งเพาะพันธุ์ยุงลดลง และลดโอกาสการแพร่กระจายของโรคติดต่อนำโดยยุงลายในโรงพยาบาลได้ ในส่วนสถาบันบำราศนราดูร มีผู้ป่วยไข้เลือดออกเข้ามารักษาเฉลี่ย 268 รายต่อปี และปี 2560 นี้ มีผู้ป่วยมารักษาแล้ว 119 ราย ซึ่งทุกรายได้รับการรักษาจนหายเป็นปกติ และยังไม่พบผู้เสียชีวิต อย่างไรก็ตาม ยังคงมีความเสี่ยงในการแพร่กระจายของโรคไข้เลือดออกในโรงพยาบาลได้ โดยเฉพาะจากผู้ป่วยไข้เลือดออกไปยังผู้ที่ป่วยโรคอื่น รวมถึงญาติและบุคลากรทางการแพทย์ สถาบันบำราศนราดูร จึงมีการจัดการสิ่งแวดล้อม โดยเจ้าหน้าที่ร่วมกันสำรวจและกำจัดแหล่งน้ำขังทุกสัปดาห์ ไม่ให้เป็นแหล่งเพาะพันธุ์ยุง จัดสถานที่ภายในหอผู้ป่วย เช่น ติดมุ้งลวด ป้องกันไม่ให้ยุงสามารถบินเข้ามากัดผู้ป่วยที่กำลังนอนรักษาอยู่ได้ นอกจากนี้ ดร.นายแพทย์ปรีชา เปรมปรี ผู้อำนวยการสำนักโรคติดต่อนำโดยแมลง ได้สาธิตและแนะนำ 100 วิธีปราบยุงลาย เพื่อให้ประชาชนนำไปใช้ในชีวิตประจำวัน พร้อมเชิญชวนให้ใช้มาตรการ “3 เก็บ ป้องกัน 3 โรค” คือ 1.เก็บบ้านให้สะอาด โปร่ง โล่ง ไม่ให้มีมุมอับทึบ เป็นที่เกาะพักของยุง 2.เก็บขยะ เศษภาชนะรอบบ้าน โดยทำต่อเนื่องสัปดาห์ละครั้ง ไม่ให้เป็นแหล่งเพาะพันธุ์ยุง และ 3.เก็บน้ำ สำรวจภาชนะใส่น้ำ ต้องปิดฝาให้มิดชิด ป้องกันยุงลายไปวางไข่ เพื่อป้องกัน 3โรค คือโรคไข้เลือดออก โรคติดเชื้อไวรัสซิกา และโรคไข้ปวดข้อยุงลาย หากประชาชนมีข้อสงสัยสอบถามเพิ่มเติมได้ที่สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร 1422