"สมชาย ศุภลักษณ์อำไพพร" นายช่างศิลปกรรมอาวุโส สำนักช่างสิบหมู่เผยงานศิลปาชีพเกาะเกิด จ.พระนครศรีอยุธยา ศิลปาชีพสีบัวทอง จ.อ่างทอง สร้างบันไดนาคพระเมรุมาศ ร.9 สถาปัตยกรรมไทยวิจิตรมากที่สุด ยิ่งใหญ่กว่าพระเมรุมาศสมัยใด ความคืบหน้าจัดสร้างประติมากรรมประดับพระเมรุมาศ งานพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช เมื่อวันที่ 16 มิ.ย. 60 ที่โรงเรียนศิลปะธนบุรี นายสมชาย ศุภลักษณ์อำไพพร นายช่างศิลปกรรมอาวุโส กลุ่มงานศิลปะประยุกต์และเครื่องเคลือบดินเผา สำนักช่างสิบหมู่ กรมศิลปากร เปิดเผยว่า ความคืบหน้าการจัดสร้างประติมากรรมประดับพระเมรุมาศในส่วนของบันไดนาคและประติมากรรมท้องไม้พระเมรุมาศองค์ประธาน โดยกรมศิลปากรมอบหมายให้ศูนย์ศิลปาชีพเกาะเกิด จ.พระนครศรีอยุธยา และศูนย์ศิลปาชีพสีบัวทอง จ.อ่างทอง ดำเนินการจัดสร้างราวบันไดและประติมากรรมประดับพระเมรุมาศ มี อ.สุดสาคร ชายเสม เป็นผู้ออกแบบและควบคุมทุกขั้นตอนการจัดสร้าง ยึดหลักการออกแบบอย่างยิ่งใหญ่ให้สมพระเกียรติ เพื่อถวายแด่ในหลวง รัชกาลที่ 9 บันไดนาคชั้นที่ 1 นาคเศียรเดียว รูปแบบศิลปะรัตนโกสินทร์ ได้ต้นแบบจากเรือพระที่นั่งอนันตนาคราช มีขนาดยาว 2.10 เมตร จำนวน 8 ตัว ได้ทำพิมพ์ หล่อไฟเบอร์ ขัดตกแต่ง ทำสีแล้ว อยู่ระหว่างประดับเลื่อมพร้อมลงยา ส่วนบันไดนาคชั้นที่ 2 “เหราพด” เป็นนาคสามเศียร ความยาว 2.50 เมตร อ้างอิงจากประติมากรรมนาคพบที่เตาวัดมะปรางค์ จ.สิงห์บุรี รูปแบบศิลปะสมัยสุโขทัย จำนวน 8 ตัว ขณะนี้กำลังทำพิมพ์ และทยอยหล่อไฟเบอร์ โดยในส่วนของบันไดนาคทั้ง 2 ชั้น คืบหน้ากว่าร้อยละ 70 ส่วนบันไดนาคชั้นที่ 3 นาคทรงเครื่อง 5 เศียร พญาวาสุกรีนาคราช เป็นนาคสวมมงกุฎยอดชัย ความยาว 4.45 เมตร ต้นแบบจากราวบันไดนาควัดพระพุทธบาท จ.สระบุรี ศิลปะสมัยอยุธยา จำนวน 8 ตัว ขณะนี้อยู่ระหว่างปั้นต้นแบบ ใส่เครื่องประกอบ ขณะที่บันไดนาคชั้นที่ 4 ชั้นพระเมรุมาศองค์ประธานเป็นชั้นที่สำคัญที่สุด เป็นนาคนิรมิตพญาอนันตนาคราช มี 7 เศียร ต้นแบบจากปราสาทพระเทพบิดร ศิลปะสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น ความยาว 5.80 เมตร จำนวน 8 ตัว ขณะนี้อยู่ระหว่างการขึ้นรูปลำตัว โดยแต่ละเศียรเป็นหน้าเทวดาตามคัมภีร์พระนารายณ์บรรทมสินธุ์บนแท่นพญาอนันตนาคราช อ.สุดสาคร กำลังร่างต้นแบบเศียร นายสมชาย กล่าวอีกว่า นอกจากนี้ยังทยอยจัดสร้างบันไดของชั้นซ่าง เป็นนาคเศียรเดียว ความยาว 3.40 เมตร จำนวน 8 ตัว ซ่างเป็นอาคารสี่เหลี่ยมหลังคายอดสำหรับพระสงฆ์สวดอภิธรรม ตั้งอยู่ 4 มุมพระเมรุมาศ ออกแบบนาคโดยยึดปรัชญาธรรม ตัวพญานาคได้ถูกมกรกลืนกินเข้าไปเปรียบชีวิตที่ถูกเวลากลืนกินทุกขณะ รูปแบบจะคล้ายบันไดขึ้นธรรมมาสน์ การจัดสร้างราวบันไดนาคประดับพระเมรุมาศในหลวง รัชกาลที่ 9 ถือเป็นองค์ประกอบทางสถาปัตยกรรมไทยที่วิจิตรบรรจงมากที่สุด ยังไม่เคยมีหลักฐานทางประวัติศาสตร์ว่าบันไดนาคพระเมรุมาศสมัยใดยิ่งใหญ่เท่านี้ และเป็นครั้งแรกที่มีการประดับเลื่อม เป็นพลาสติกสังเคราะห์เคลือบสีสันต่างๆ นักเรียนศิลปาชีพตัดตามขนาดและลวดลายที่กำหนด ก่อนประดับเลื่อมเพื่อให้ประติมากรรมนาคมีความงดงาม “นักเรียนศูนย์ศิลปาชีพยังได้จัดสร้างเทพชุมนุมฐานไพทีนั่งราบ 27 แบบ หล่อจำนวน 108 องค์ ขนาดสูง 70 เมตร ประกอบด้วยครุฑพนมนั่งราบ ยักษ์พนมนั่งราบ พานรพนมนั่งราบ และเทวดาพนมนั่งราบ ขณะนี้ปั้นต้นแบบครุฑพนมและยักษ์พนมเสร็จแล้ว กำลังทำพิมพ์ ส่วนเทวดาพนมและพานรพนมอยู่ระหว่างปั้นต้นแบบ โดยทั้ง 27 แบบ รูปแบบจะไม่เหมือนกันเลยเพื่อใช้เป็นต้นแบบทั้ง 4 ด้าน ขณะนี้ อ.สุดสาคร ทยอยออกแบบให้ครบถ้วน งานประติมากรรมประดับพระเมรุมาศยังมีเทพพนมนั่งส้น จำนวน 28 องค์ ขนาดสูง 70 เมตร และครุฑยุดนาค จำนวน 28 องค์ ขนาดสูง 60 เซนติเมตร รวมถึงเทพนมแกะไม้กลีบลายพระโกศ ขนาดเล็กสูง 15 เซนติเมตร จำนวน 56 องค์ และขนาดใหญ่ สูง 19 เซนติเมตร จำนวน 24 องค์ นักเรียนศูนย์ศิลปาชีพ 2 แห่งทำทั้งหมด” นายสมชาย กล่าว ด้าน พลเรือเอกสำเภา พลธร ผู้ดูแลศูนย์ศิลปาชีพเกาะเกิด จ.พระนครศรีอยุธยา และศูนย์ศิลปาชีพสีบัวทอง จ.อ่างทอง กล่าวว่า การจัดสร้างประติมากรรมประดับพระเมรุมาศครั้งนี้มีคณะครูและนักเรียนศิลปาชีพทั้ง 2 แห่ง ช่วยทำงานจำนวน 72 คน โดยจัดระบบการทำงานแบบรุ่นพี่ดูแลรุ่นน้อง เริ่มทำงานตั้งแต่ 08.30 น. จนถึง 22.00 น. แต่หากต้องเร่งการทำงานในช่วงหลัง อาจจะเพิ่มระยะเวลาการทำงาน เพื่อให้งานเป็นไปตามเป้าหมายที่กำหนด ซึ่งนักเรียนทุกคนพร้อมปฏิบัติหน้าที่ด้วยความเต็มใจและสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ที่สำคัญยังได้ร่วมกันตอบแทนพระมหากรุณาธิคุณถวายงานในหลวง รัชกาลที่ 9 เป็นครั้งสุดท้าย “อย่างไรก็ตาม กำหนดแผนงานว่าจะนำราวบันไดนาคชั้นที่ 1 ที่ดำเนินการแล้วเสร็จทั้ง 4 ด้าน จำนวน 8 ตัว ไปติดตั้งยังฐานราวบันไดพระเมรุมาศท้องสนามหลวง ในวันที่ 25 มิ.ย. พร้อมๆ กับราวบันไดนาคชั้น 2 จำนวน 1 คู่ เพื่อที่สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทอดพระเนตรในวันที่ 26 มิ.ย. โดยคาดว่าการจัดสร้างราวบันไดทั้งหมดจะแล้วเสร็จภายในกลางเดือน ก.ย.พร้อมกับงานปั้นประติมากรรมอื่นๆ ที่ศิลปาชีพทั้ง 2 แห่งได้รับมอบหมาย” พลเรือเอกสำเภา กล่าว