ปากกาขนนก/สกุล บุณยทัต...โลก เหล้า และความรัก บทรำลึกถึง..แปดสิบปีแห่งชาตกาลของ”โก้วเล้ง”... “คนเสเพล ปิศาจสุรา มิเห็นมีที่ใดไม่ดี...นั่นยังประเสริฐกว่าวิญญูชนจอมปลอมสวมหน้ากาก ออกหลอกลวง มากมายนัก...หรือไม่ใช่..???”   “ความเป็นชีวิตของโลกมักดำเนินไปท่ามกลางความเกี่ยวข้องและพ้องเหมือน เป็นลมหายใจที่งดงาม ซึ่งเชื่อมต่อและผูกพันกันด้วยนัยที่เร้นลึก ภาพร่างแห่งชีวิตของโลกดำเนินไปด้วยความหมายอันยิ่งใหญ่ของร่างกายและ จิตใจที่จะออกไปสัมผัสกับนัยพิเศษทางความรู้สึก อันเป็นทั้งความอบอุ่นและความสงบเย็นทางจิตวิญญาณ นั่นหมายถึงลีลาสำนึกแห่งความมีชีวิตชีวาจะสามารถค้นหาหนทางแห่งความสุขด้วยดวงใจที่เป็นความรัก และด้วยมิตรไมตรีจากสิ่งหนึ่งสิ่งใดที่เป็นพลังคอยโอบอุ้มความหวังแห่งความสำเริงสำราญให้คงอยู่อย่างลึกซึ้ง จนกลายเป็นสิ่งแนบชิดกับความทรงจำเฉพาะตนไปในที่สุด ชีวิตของโลกมักเป็นเช่นนี้ และโลกของชีวิตก็มักเป็นดั่งเดียวกันเสมอ ทุกสภาวะรวมตัวกันเป็นหนึ่งเดียวที่สามารถเคลื่อนโลกให้เข้าสู่เนื้อในของความเป็นชีวิต และสามารถเคลื่อนให้ชีวิตได้มีโอกาสรู้จักกับโลกแห่งการมีชีวิตอยู่ของแต่ละบุคคลบนหนทางแห่งการดำรงอยู่ได้อย่างถูกต้องและแท้จริง”              สารัตถะแห่งบทเริ่มต้นนี้ คือภาพสะท้อนทางด้านความรู้สึกนึกคิด ที่ได้รับมาจากการสัมผัส ซึ่งทบซ้อนผ่านการกลั่นกรอง และอารมณ์ร่วมมาแล้วจากการอ่านวรรณกรรมอมตะที่เป็น ‘ยุทธจักรนิยาย’ เรื่องต่างๆ ซึ่งได้ถูกรวบรวมไว้ด้วยการเชื่อมโยงสิ่งที่มีความหมายในใจสามสิ่ง เพื่อการกระตุ้นเร้าให้สัมผัสแห่งสำนึกคิดของผู้คน ได้ค้นพบข้อตระหนักแห่งความเป็นตัวตนในมิติที่แปลกต่างขัดแย้ง แต่ก็สามารถหลอมรวมการยอมรับในท่าทีแห่งหัวใจให้ตั้งอยู่บนทิศทางของการใคร่ครวญอันถือเป็นคุณค่าแห่งประสบการณ์ที่ติดตรึง “ที่ประหลาดพิกลที่สุดหยั่งคำนวณไม่ออกที่สุดในโลกนี้ก็คือหัวใจของมนุษย์นี่เอง หัวใจของบุรุษและสตรีต่างเป็นเช่นเดียวกัน”                  ‘โลก เหล้า และความรัก’ หนังสือรวมปรัชญาวาทะจากวรรณกรรมอมตะของ ‘โก้วเล้ง’ โดย ‘พันหนึ่งราตรี’ ซึ่งมี ‘เรืองรอง รุ่งรัศมี’ ผู้ลึกซึ้งในปรัชญาของโก้วเล้งจาก ‘เดียวดายใต้เงาจันทร์’ เป็นที่ปรึกษา ... แท้จริงหนังสือเล่มนี้ถูกตีพิมพ์มาตั้งแต่ปีพ.ศ.2535 ยีสิบห้าปีปีล่วงผ่านมา แต่ในฐานะของความเป็นหนังสือ มันยังคงอยู่ในความทรงจำของการเรียนรู้ชีวิตของโลกได้อย่างมีสีสัน โดยในมิติของการเสพสรรค์บนหนทางแห่งโลกียสุข ภายใต้เงื่อนไขทางด้านความคิดที่เป็นไปและถูกบ่มเพาะขึ้นจากเนื้อแท้อันชิดใกล้ของความศรัทธาที่ไม่เคยสิ้นสุด                  “คนเสเพล ปีศาจสุรา มิเห็นมีที่ใดไม่ดี นั่นยังประเสริฐกว่าวิญญูชนจอมปลอมสวมหน้ากาก ออกหลอกลวงมากมายนัก... หรือไม่ใช่...”              ประเด็นคำถามดังกล่าวนี้ นับเป็นที่จดจำจาก ‘ฤทธิ์มีดสั้น’ อันถือเป็นคำถามในเชิงเหยียดเย้ยถึงความสัตย์จริงของสังคม ที่คนส่วนใหญ่มักจะต้องติดกับ และตกเป็นเบี้ยล่างของการยอมรับนับถือของเหล่าผู้รู้ที่เต็มไปด้วยอำนาจแห่งเล่ห์กลอันฉ้อฉล และหลอกตาหลอกใจคนส่วนใหญ่อยู่เสมอ ชีวิตของโลกดูเหมือนจะเริ่มต้นด้วยมิติเชิงปริศนาเช่นนี้เสมอ ในห้วงเวลา ณ ขณะที่เรามีชีวิตอยู่นี้ ไม่เว้นแม่แต่เรื่องจริงอันน่าเวทนาในสังคมประเทศของเราที่ช่างเกลื่อนกราดไปด้วยวิญญูชนจอมปลอม บุคคลผู้ดูมีค่าจากภาพฉาบแต้มปรุงแต่งภายนอก แต่ลึกลงไปกลับเต็มไปด้วยกลลวงและความอำมหิต ชีวิตต่อชีวิตมักขุดหลุมพรางล่อหลอก ให้อีกฝ่ายหนึ่งต้องตกไปอยู่ในบ่วงสันดานอันโหดร้ายของอีกฝ่ายหนึ่ง อย่างไร้สำนึกแห่งการละอายต่อบาปเสมอ แต่ก็นั่นแหละ ... “วาจาบางประการ ก็มีแต่ดื่มสุรามากหลายจอกแล้วจึงบอกออกมาได้”…สุรา ณ ที่นี้จึงเหมือนสิ่งเชื่อมโยง เป็นตัวกลางเป็นตัวแทนมโนสำนึก และจริตอันเร้นลับต่างๆด้านใน ให้ไหลหลั่งข้อเท็จจริงแห่งสำนึกคิดและความรู้สึกอันเก็บซ่อนกักขังออกมา สิ่งนี้ถือเป็นภาพแสดงอันชัดแจ้งของชีวิตแห่งโลก ที่คนผู้หนึ่งจะสามารถเผยโฉมทางความคิดของตนให้ปรากฏออกมาได้ เป็นภาวะหลุดพ้นที่ถูกตอกตรึงไว้ด้วยเงื่อนไขของกาลเวลา...                  “ฆ่าคนต้องทันเวลา... พอโอกาสผ่านพ้น เรื่องราวและผู้คนเปลี่ยนแปร สถานการณ์ก็ไม่ถูกต้องอีกแล้ว...เป็นดั่งการดื่มสุรา ดื่มสุราต้องทันเวลา หากแม้ท่านเก็บสุราจอกนี้ไว้ดื่มในภายหน้า... มันก็จะแปรรสเป็นเปรี้ยวไปได้”              วาทกรรมจาก ‘ไม่มีน้ำตาวีรบุรุษ’ ตรงส่วนนี้ เมื่อใครได้อ่าน... ได้สัมผัสไม่ว่าจะเป็นเมื่อไหร่ก็ตาม มันจะส่งผลอันดิ่งลึกต่อสัญชาตญาณของการเตรียมการ และการเลือกปฏิบัติที่เฉียบคมอันมาถูกที่ถูกเวลาของชีวิต สุราอาจนับเป็นสิ่งที่เลวร้ายที่สามารถทำให้เสียจริตในคุณค่าของศีลธรรม แต่หากผู้คนถือเอาสุราเป็นเครื่องช่วยชีวิต มิติแห่งความเปลี่ยนแปรและดำเนินไปของพวกเขา ก็จะเข้าใจได้ถึงส่วนผสานอันเป็นสัจจะของโลกว่าสิ่งใดสอดคล้องกับสิ่งใด สิ่งใดสามารถเกื้อหนุนกับสิ่งใดบนความหลากหลายที่แปลกต่าง ย่อมมีคู่ของความสมดุลเกิดแก่ชีวิตที่เป็นชีวิตได้เสมอ                  “ฟังว่า...หากสุราบวกนารี สามารถบันดาลให้ผู้คนประเภทใดๆลืมความทุกข์โศกอย่างสิ้นเชิงได้” ประเด็นอันน่าใคร่ครวญตรงนี้มาจาก ‘ดาบจอมพบ’ นี่คือคู่เหมือนของชีวิตแห่งโลก ที่ดำเนินไปด้วยกันเสมอบนเส้นทางแห่งอารมณ์ความรู้สึกที่ไม่เคยตายไปจากหัวใจ มันคือเสน่หาอันล้ำลึกของความมีชีวิตชีวา หลายๆขณะเราจำเป็นต้องเรียนรู้กลไกของโลกกว้างผ่านสิ่งบางสิ่งที่ท้าทายอยู่บนเส้นทางแห่งโลกียสุขเช่นนี้อย่างเข้าใจกันบ้าง... แท้จริงนี่คือบทสะท้อนของความโปร่งใจ เป็นแบบแผนของการรับรู้แห่งจิตอันแจ่มใส เป็นความเข้มข้นของจิตวิญญาณที่ที่ไม่อาจสอนสั่งกันได้ นอกจากใครก็ตามจะต้องก้าวเข้าสู่การเรียนรู้ดั่งนี้ด้วยจริงจัง... “แจ่มใสคือเมามาย เมามายคือแจ่มใส...ชีวิตเป็นเช่นละคร ไยต้องจำแนกให้กระจ่างชัดถึงเพียงนั้น สุราข้นกว่าน้ำ น้ำไม่น่าดื่มกว่าสุราจริงๆ” สัจธรรมที่ค้นพบจากความคลุมเครือในด้านลึกแห่งความเป็นสุรา แปรเปลี่ยนเป็นความหมายของการค้นพบนับแห่งความกระจ่าง บนวิถีทางที่เต้นเร่าไปด้วยบทแสดงที่เคลือบแคลง ซึ่งชีวิตกระทำต่อชีวิต มีบางสิ่งที่ดูเหมือนจะเอื้อประโยชน์ต่อโลกแห่งความหมายของชีวิตได้ นั่นอาจถือเป็นที่มาที่ไปของผู้คนผู้หนึ่ง...              “คนผู้หนึ่งเมื่อเมามายจริงๆ เรื่องราวที่กระทำต้องเป็นเรื่องที่มันยามปกติคิดกระทำ แต่ไม่กล้ากระทำ” ว่ากันว่า... ความตอนนี้จาก ‘จับอิดนึ้ง’ คือดวงตาที่ส่องประกายถึงหัวใจที่แท้ของมนุษย์ ซึ่งอาจจะหลงลืมกันไป หากใครผู้หนึ่งกระทำเรื่องเช่นนี้ เขาย่อมต้องกระทำเพื่อใครผู้หนึ่ง ใครคนนี้ต้องเป็นบุคคลที่สลักฝังใจอย่างไม่มีวันลืมเลือนได้...กระทั่งต่อให้ห้วงสมองของมันกลับกลายเป็นขาวว่างเปล่า... “ต่อให้เมาแทบตาย ใครคนนี้ก็ยังคงอยู่ในจิตใจของมัน ยังคงอยู่ในไขกระดูกของมัน หล่อหลอมเข้ากับวิญญาณของมัน มันจะกระทำเรื่องนี้โดยไม่คำนึงถึงทุกสิ่ง แม้แต่ตัวมันเองก็ไม่ทราบว่าตัวเองกำลังทำอะไร ทั้งนี้เพราะหัวใจของมันตกอยู่ในกำมือของคนผู้นั้น มีแต่...ผู้ที่เมามายจริงๆ จึงค่อยๆเข้าใจความรู้สึกเช่นนี้ได้”              ชีวิตของโลกมักหลีกหนีไม่พ้นลมหายใจของความรัก มันคือเครื่องจักรของความรู้สึกที่สั่นไหวอารมณ์ของผู้คนให้จมลึกอยู่กับเบื้องล่างของความลับที่ไม่อาจเปิดเผยความจริงแท้ออกมาให้ใครได้รับรู้ได้ เหตุนี้สุราจึงก้าวเข้ามาสู่การสร้างพลังให้แก่ผู้คนอย่างประหลาด โดยเฉพาะเมื่อหัวใจต้องพลาดในรัก และจำต้องลวงหลอกตนเองให้ต้องเบิกบาน และมีชีวิตอยู่ต่อไป                  “สุราสามารถบันดาลพลังประหลาด และให้สติที่คาดไม้ถึงแก่ผู้คน แต่พลังนี้เป็นพลังหลอกลวงตน ต่อให้ไม่มีความสามารถหลอกลวงผู้อื่นอย่างน้อยก็สามารถหลอกตัวเอง” ...ใจความแห่งความรู้สึกอันเจ็บปวดจาก ‘หงส์ผงาดฟ้า’ ณ ตรงนี้ทำให้ต้องคิดถึงทางออกอันตีบตันของมนุษย์ แม้พื้นที่ของโลกนี้จะกว้างใหญ่ แต่แท้จริงทางออกที่สะดวกและง่ายดายต่อปัญหาของชีวิตกลับเป็นหนทางแคบๆในโลกแห่งสายสัมพันธ์ ที่ดูเหมือนจะเป็นโลกเฉพาะ ระหว่างใครคนหนึ่งเพียงเท่านั้น และนี่คือการยอมรับในความมีความเป็นอันแท้จริงของ ‘โลก เหล้า และความรัก’ บนพื้นฐานแห่งความเป็นชีวิตที่แท้                  “ดูท่า...ในโลกนี้ไม่มีเรื่องราวใดง่ายดายไปกว่าปีศาจสุราคบหา ปีศาจสุราอีกแล้ว” นั่นคือภาพแสดงถึงภาวะแห่งภาวะของความเป็นมนุษย์ ในยามทุกข์เศร้า...ชีวิตของโลกอาจเหลือเพียงบางสิ่งเป็นผู้ช่วยให้รอดในชีวิต ไม่ใช่ความดีงามและทั้งไม่ใช่ความงดงาม แท้จริงสุราคือสิ่งใดในความหมายกันแน่...                  “สุราไม่ต้องมาก...เพียงอยู่ที่ความจริงใจ จอกเดียวก็พอ...”              จากถ้อยคำของ ‘ดาบจอมพบ’ มาถึงถ้อยความแห่ง ‘หงส์ผงาดฟ้า’ นัยที่มีต่อสุราทั้งสองส่วนล้วนตอกย้ำถึงความเป็นชีวิตแห่งโลกในมุมมองที่แปลกต่างออกไปจากมิติสามัญและความซ้อนซ้ำในวิถีแห่งศรัทธา... บางทีนี่อาจถือเป็นบริบทของความเข้าใจที่ยากลำบาก ที่ชีวิตแต่ละชีวิตจะต้องเผชิญหน้า ท่ามกลางโลกที่จมลึก อยู่กับข่ายใยด้านใน...ใน‘ฤทธิ์มีดสั้น’ มีวาทะแห่งเจตจำนงที่สื่อสารถึง บริบทในเชิงสรุปของสุรา บริบทแห่งท่าทีของบุคคล ที่จะต้องเรียนรู้นัยเพื่อทำความเข้าใจความหมายอันยิ่งใหญ่แห่งความมี ความเป็น ที่ถูกต้องและได้มาบรรจบกัน                  “โฉมสะคราญไม่อาจอุกอาจก้าวร้าว...สุราดีมิอาจย่ำยี เรื่องทั้งสองนี้วันหน้าท่านต้องจำให้ขึ้นใจ”
“สุราถูกเรียกเป็น เบ็ดตกกวี และก็เรียกเป็นไม้กวาดทุกข์”
“แต่โบราณกาลแล้ว ปราชญ์วีรบุรุษต่างว้าเหว่ มีแต่ผู้ดื่มสุราเท่านั้นที่มีนามดำรง แต่ผู้ดื่มสุราไหนเลยจะไม่ว้าเหว่เช่นกัน”              ความหมายของสุราที่นับเนื่องมาจากวาทกรรมทั้งหมด นับเป็นเครื่องชี้ให้เห็นแนวทางแห่งการก้าวเดินไปสู่โลกอันเหมาะสมในทางอุดมคติ โลกที่เหมาะที่ควรบนรอยปรารถนาของชีวิต “มีแต่ตอนดื่มสุราเล็กน้อยเท่านั้นจึงได้เข้าสู่โลกที่เป็นของตัวเองโดยสมบูรณ์ โลกที่สวยงามและสุขสันติ โลกที่มีคนกินคนอยู่อย่างเด็ดขาด...มาตรว่าโลกนี้มีเพียงมโนภาพเท่านั้น คนเราหากยังสามารถรักษามโนภาพไว้สักเล็กน้อย ก็ไม่เลวอย่างยิ่งทีเดียว”              คำกล่าวจาก”จอมดาบหิมะแดง” คือค่าความคิดในการรับรู้สถานะอันแท้จริงของโลกที่ชีวิตควรมีอยู่นั้นว่าคืออย่างไร ? คือมโนภาพ...คือภาพที่ออกมาจากสิ่งที่เกิดขึ้นได้ในโอกาสเพียงบางโอกาสเท่านั้น
“ลูกผู้ชายพึงมีชื่อเสียง ร่ำสุราพึงเมามาย สนทนาหลังเมามาย เป็นคำพูดจากดวงใจ”
ผลึกความคิดจาก ‘ศึกทะเลทราย’ ได้โยงใยมาถึง ปริศนาแห่งคำถามที่ท้ายที่สุดก็ต้องใช้หัวใจเอ่ยตอบแก่หัวใจ แท้จริงสุราคืออะไรกันแน่...? นี่คือคำถามที่ฟังดูออกจะซ้ำซาก แต่ ‘โก้วเล้ง’ ก็เหมือนว่าจะพิสูจน์บางสิ่งออกมาให้เห็นเป็นคำตอบที่คงไม่มีใครปฏิเสธออกมาได้... “สุราคือเปลือกชนิดหนึ่ง...คล้ายเปลือกที่หอยทากลากไป พอจะให้ท่านหนีเข้าซุกซ่อนภายใน อย่างนั้นแม้นับว่าผู้อื่นเหยียบใส่...ท่านก็ไม่เห็นอีกเลย”              ความล้ำลึกของสุราที่ปรากฏผ่าน ‘เดชขนนกยูง’ นี่คือที่สุดของความเป็นชีวิตแห่งโลก แน่นอนว่าดวงตาของเราอาจมองไม่เห็นอะไรอีกเลย แต่ดวงใจของเราย่อมตระหนักซึ้งและสัมผัสได้ถึงนัยต่างๆ ที่เกี่ยวกับโลก ทั้งความเมามายที่พร่ามัว ทั้งความแจ่มชัดที่ผ่านพบ ทั้งความเป็นสหายและศัตรู รวมทั้งสิ่งที่เรียกว่า ‘ความรัก’ ที่มักจะเล่นเงาและหลบซ่อนเอากับตัวตนของโลกแห่งชีวิตด้วยมายาคติที่โหดร้ายและเยียบเย็น
“ขอเพียงรักจะบังเกิดความริษยา อาจบางทีคนบอกว่า... ความรักคือการเสนอ มิใช่การยึดครอง ในเมื่อเสนอให้ก็ไม่บังควรริษยา”
             ว่ากันว่าผู้กล่าวคำพูดนี้...ใน “ดาวตก ผีเสื้อ กระบี่” หากมิใช่ปราชญ์ผู้ลุโสดา ก็ต้องเป็นวิญญูชนจอมปลอม เพราะปราชญ์ผู้ลุโสดา ย่อมเปี่ยมไปด้วยความรัก ความเสียสละอันยิ่งใหญ่ ส่วนวิญญูชนจอมปลอมเมื่อสวมหน้ากากตบตาผู้คนชาวโลก “ก็ไม่รักมั่นต่อผู้ใดอย่างแท้จริง”              ความรักถือเป็นความผูกพันที่สูงค่า หากความรักไม่ได้นำเนินไปด้วยความผูกพัน...มันก็จะมีแต่ความปวดร้าวบังเกิดขึ้นเท่านั้น                  “ซึ่งความจริง...คนไม่ใช่แมกไม้ ไหนเลยไร้น้ำใจกับการแต่งงานโดยไม่ได้รักผูกพัน ซึ่งนั่นนับเป็นเรื่องปวดร้าวประการหนึ่งจริงๆ” มิติแห่งความรักอันละเอียดอ่อนในความปวดร้าวดังกล่าวนี้ ถูกกล่าวไว้ใน ‘ศึกสายเลือด’ มันทำให้ต้องไพล่ไปคิดถึงความตอนหนึ่งจาก ‘หงส์ผงาดฟ้า’ ที่ว่า “เมื่อมีรักแท้ที่สามารถไว้วางใจซึ่งกันและกันในโลกนี้ก็ไม่มีเรื่องใดคู่ควรกับการให้หนุ่มสาวลำบากใจอีก”…ความเปรียบเทียบข้างต้นนับเป็นการค้นพบบ่อเกิดแห่งความสอดคล้องและลงตัวของชีวิต มันบ่งชี้ให้เห็นว่าถึงอย่างไรโลกนี้ย่อมต้องมีความรัก และในความรักที่เป็นความรักนั้นแท้จริงต้องมีสตรีเป็นตัวละครสำคัญให้เรื่องราวทุกสิ่งดำเนินไป ด้วยการยอมรับของหัวใจโดยเฉพาะ “ในโลกก็มีแต่สตรี จึงทำให้บุรุษรู้ซึ้งถึงความอบอุ่นของบ้าน ดังนั้นในโลกนี้จึงไม่อาจปราศจากสตรี บุรุษส่วนใหญ่ล้วนมีโรคประการหนึ่ง เป็นโรคเกียจคร้านที่สามารถรักษาโรคชนิดนี้ของบุรุษได้ก็มีแต่สตรี...สตรีที่ตนรัก”              ความหมายแห่งสตรีและความรักของ ‘จับอิดนึ้ง’ นับเป็นการยกย่องที่สวยงาม...เป็นสิ่งที่ทำให้ผู้คนโดยสามัญได้มีผัสสะกับบางสิ่งบางอย่างที่อาจถูกมองข้ามผ่าน หรืออาจถูกตีความให้เป็นนัยแห่งความเป็นนามธรรมที่ยากจะเข้าใจ                  “ความรัก...ความจริงเป็นความรู้สึกอันพิเศษพิสดารประการหนึ่ง ทั้งที่ไม่มีผู้ใดเข้าใจได้ มันไม่คล้ายเป็นน้ำมิตรที่ค่อยๆพอกพูนลึกล้ำ แต่ความรักกลับบังเกิดขึ้นอย่างกะทันหัน มันหากบังเกิดก็บังเกิดอย่างรุนแรงจนผู้คนไม่มีปัญญาต่อต้านขัดขืนได้”              นัยแห่งความรัก...จาก “ดาวตก...ผีเสื้อ...กระบี่” นี้คือความทรงจำของใครหลายๆคนรวมทั้งตัวผมเอง ความรักบางทีก็สอนให้เรารู้ว่า มันไม่มีเหตุผลใดใดมารองรับ มันอยู่ไกลจากความตายตัวของสำนึกคิดที่จะต้องใคร่ครวญ โดยเฉพาะกับสตรี ใน ‘เซียวฮื่อยี้’… ‘โก้วเล้ง’ ได้บอกเอาไว้ว่า “สตรีนางใดหากมีความรักในบุรุษขึ้นแล้ว จะไม่จำเป็นต้องยึดถือเหตุผลใดๆเลย มิหนำซ้ำเหตุผลของพวกอิสตรี...บุรุษเพศจะไม่มีวันเข้าใจได้ตลอดกาล”... นั่นอาจถือเป็นความจริง...ความเป็นเหตุผลอาจไม่จำเป็นต่อความรู้สึกในรักแท้...และความสุขสบายก็อาจไม่ได้เป็นความหมายของรักอันจีรังยั่งยืนเช่นกัน                  “รักในเคราะห์ก็เป็นรักอันแน่นแฟ้น เป็นรักอันจีรังยั่งยืน”... ศรัทธาของความรักที่ระบุไว้ใน ‘อินทรีย์ผงาดฟ้า’ นับเป็นความเติบโตทางจิตวิญญาณที่พัฒนาไปสู่ความรักอันสูงค่าที่ไม่จำเพาะอยู่เพียงแค่โลกเฉพาะของบุรุษกับสตรี...แค่ความรักของหญิงชายหรือหนุ่มสาว...แต่ความรัก...ที่เกิดจากศรัทธาอันน่ายกย่องกับเป็นความรักระหว่างมิตรต่อมิตร ที่บริสุทธิ์และปราศจากอันตราย... ‘โก้วเล้ง’ได้ยกย่องในความเป็นมิ่งมิตรแห่งชีวิตของโลกเอาไว้ในหลายบทตอน นับแต่ใน ‘ดาวตก ผีเสื้อ กระบี่’ ที่ปรากฏอยู่อย่างเด่นชัด “กุหลาบเพียงหนึ่งเดียวที่ไร้หนาม...คือคว่างมิตร” หรือใน ‘วีรบุรุษสำราญ’ ความตอนหนึ่งนับว่าจับใจในอ้อมกอดของน้ำใจแห่งความเป็นมิตรสหายที่แท้                  “สิ่งสำคัญที่สุดในใต้หล้า ทั้งมิใช่ชื่อเสียงและไม่ใช่ทรัพย์ศฤงคาร หากแต่เป็นน้ำใจระหว่างคนต่อคน ท่านอยากได้มาพึงทะนุถนอมไว้ อย่าได้สร้างความผิดหวังแก่ตนเองและผู้อื่น” ประเด็นนี้ถือเป็นความสำคัญบนวิถีแห่งสัจจะที่คนทุกคนต่างต้องเรียนรู้กันเอาไว้ให้ดี ...เนื่องเพราะ “มีแต่บุคคลที่เคยสูญเสียความรักจึงทราบว่า น้ำใจควรคู่กับการทะนุถนอมกระไรปานนั้น หากแม้สูญเสียมันไป ต้องเจ็บปวดรวดร้าวเพียงไร เงียบเหงาเปล่าเปลี่ยวเพียงไหน”
วันที่เจ็ด มิถุนายนที่ผ่านมา...เป็นวันคล้ายวันเกิดของโก้วเล้งซึ่งหาเขามีชีวิตอยู่จนถึงวันนี้...ก็จะมีอายุครบแปดสิบปี..ถือเป็นจอมยุทธ์ผู้เฒ่าแล้ว ณ วันนี้..อดีตย่อมไม่เคยหวนคืนแม้จะตกอยู่ในความทรงจำอันยิ่งใหญ่เพียงใดก็ตาม..ชีวิตที่จากไปของเขาเมื่อร่วมสาสิบสามปีที่แล้ว...คือสิ่งที่ตราตรึงอยู่กับการรำลึกถึงสำหรับมิ่งมิตรผู้ที่ชื่นชอบและรื่นรมย์กับประพันธกรรมนานาของเขา...มันคืออุบัติการณ์แห่งเจตจำนงแห่งความฝังจำอันยากจะลบเลือน...ถ้อยคำสำนวนในหมื่นแสนล้านคำของบทตอน ยังไหวสะท้อนอยู่ในห้วงคำนึงแห่งมิ่งมิตรของเขา..อย่าง.ไม่เคยเปลี่ยนแปร...แม้เมื่อใด.. ที่สุดแห่งที่สุดแล้ว...
             ความเปล่าเปลี่ยวนับเป็นความทุกข์ทรมานขั้นสูงสุดในทรรศนะของ ‘โก้วเล้ง’ นั่นคือเนื้อในแห่งชะตากรรมที่ยากจะป้องกันแต่ก็ต้องเรียนรู้เอาไว้ ผ่านรสชาติของความเป็นโลก เป็นชีวิต เป็นหยาดหยดของสุรา รวมทั้งเป็นหยาดน้ำตาของความรักใน ‘หงส์ ผงาดฟ้า’ โกวเล้งถึงกับกล่าวว่า “สิ่งที่ที่น่ากลัวที่สุดในโลกคือความเปลี่ยวร้าง ความเปลี่ยวร้างที่เวิ้งว้างว่างเปล่า...ไร้ที่พักพิง ไม่ว่าเผชิญเรื่องราวใดล้วนไม่อาจตัดสินใจโดยแน่นอน”              บนสายทางแห่งชีวิตของโลก ความรักนับเป็นสิ่งที่มีอิทธิพลแม่นตรงต่อหัวใจของมนุษย์มากที่สุด หากนับเนื่องมันกับความแค้นก็มีข้อพิจารณาที่น่ารับฟัง... แม้ความรู้สึกทั้งสองประการจะต้องจมอยู่กับสภาวะของความปวดร้าว เหมือนๆกันก็ตาม... .                  “หากไม่อาจรักในสิ่งที่ตนรัก ไม่อาจแค้นในสิ่งที่สมควรแค้น สำหรับบุรุษหนุ่มผู้ยัง ไม่เยือกเย็นผู้หนึ่ง ความเจ็บปวดรวดร้าวนี้…ไหนเลยทนทานรับได้”                                  “ไม่รักก็คือแค้น รักถึงที่สุดก็กลายเป็นแค้นในระหว่างรักกับแค้นแท้จริงห่างกันเพียงเส้นกั้นเท่านั้น” เรื่องราวความรักกับความแค้นที่นำมาเปรียบเทียบกันจาก ‘ซา เสี่ยว เอี้ย’ มาถึง ‘หงส์ผงาดฟ้า’ คือเครื่องชี้ถึงข้อตระหนักในความเป็นมนุษย์ที่ดำรงอยู่คาบเกี่ยวกัน ระหว่างสิ่งสองสิ่งที่มีด้านอันคมกริบ และมันคืออาวุธร้ายที่จะพลิกกับมาเชือดเฉือน และกรีดลึกลงไปในร่างกายและจิตใจของเราทุกคนได้ เพราะแท้จริง              “มนุษย์อย่างไรก็เป็นมนุษย์ แม้นับว่าในหัวใจของมันมีน้ำแข็งพอกอยู่อีกชั้นหนึ่งแต่น้ำแข็งก็มีวันละลายได้ พลานุภาพของความรักยิ่งใหญ่กว่าความแค้นตลอดกาล มีบางครั้งดูไปรู้สึกความแค้นจะเกรี้ยวกราด แหลมคม ลึกซึ้งตรึงใจกว่า แม้มีเพียง พลานุภาพของความรักเท่านั้นจึงดำรงอยู่ชั่วนิรันดร์มิเปลี่ยนแปร”              คำกล่าวใน ‘ดาบจอมภพ’ บทนี้ นำมาถึงบทตอนสุดท้ายของ ‘โลก เหล้า และความรัก’ ที่ผมนำมารำลึกถึงด้วยความผูกพัน... นวนิยายกำลังภายในหลายๆเรื่องของโก้วเล้ง ล้วนคือยุทธจักรแห่งแบบจำลองของชีวิตในบทสนทนาของตัวละครแต่ละตัว ในบทตอนที่แตกต่างกัน ซึ่งล้วนมีพลังแก่การสอนสั่งให้ชีวิตแต่ละชีวิตได้มีโอกาสทบทวนตังเองผ่านเนื้อแท้แห่งจิตวิญญาณของตน ตราบใดที่โลกยังเป็นโลกย์และพวกเราล้วนต่างว่ายวนอยู่ในโลกียวิสัยอันสมบูรณ์ ชีวิตแต่ละชีวิตก็ย่อมจะต้องถูกสาดต้องด้วยคลื่นลม ที่เป็นทั้งมายาจริตและมิจฉาทิฐิอันน่าหวาดหวั่นและไร้การควบคุมจากสิ่งอันเป็นนิรันดร์ ทุกสิ่งที่เกิดขึ้นในชีวิตของโลกหรือในโลกแห่งชีวิตนับเป็นนัยสามัญอันเกิดแก่สัญชาตญาณพื้นฐานของมนุษย์เพียงเท่านั้น ทั้งนี้ก็อยู่ที่ว่า ใครและใครจะเรียนรู้และดูแลสอนสั่งชีวิตด้วยบทเรียน ที่กลั่นออกมาจากชีวิตได้มากกว่ากัน... นี่คือความจริงหรือความลวง... นี่คือทุกข์หรือสุขกันแน่ “ความรักสามารถดลบันดาล ให้ผู้คนแปรเปลี่ยนเป็นเข้มแข็ง เด็ดเดี่ยว องอาจ กล้าหาญ และเชื่อมั่นกว่าเดิม เพียงแต่ความรักสามารถเปลี่ยนแปรตนเอง ไม่สามารถเปลี่ยนแปลงบุคคลอื่น ”              ใน ‘ดาวตก ผีเสื้อ กระบี่’ ข้อความนี้นับเป็นการเปิดเปลือยตัวเองได้อย่างถึงที่สุด ความรักคือสิ่งที่เกิดขึ้นกับตัวตนของมนุษย์ เพื่อเปลี่ยนแปลงตัวเองเท่านั้น ความรักมุ่งบอกถึงความเป็นโลก บ่งบอกถึงความเป็นชีวิตและบ่งบอกถึงความเป็นจริงได้อย่างไม่ปิดบังอำพราง... มันคือความเฉพาะ                  “โลกนี้ยังมีการเคี่ยวกรำอันใด ที่สร้างความปวดร้าว ให้กับผู้คนยิ่งกว่าการเคี่ยวกรำของความรัก”
“ความรักเป็นความจริง  ทุกเรื่องราวล้วนเป็นความจริง”
             “ความรักที่เสียสละตนเอง และส่งเสริมให้เห็นคนที่ตนรักประสบความสำเร็จ คือความจริงของเรื่องอันประเสริฐ”                   แต่จะอย่างไรก็ตาม “ขอเพียงคนผู้หนึ่งปลงได้ตก ในโลกก็ไม่มีเรื่องใดควรคู่ให้ปวดร้าวกลัดกลุ้มอีก” นั่นคือข้อประจักษ์อันล้ำลึกถึงว่า.. 'ปรัชญาวาทะ’ จากวรรณกรรมอมตะของ โก้วเล้ง สำนวนแปลอันล้ำค่าและลึกซึ้งทั้งของ  “ว ณ เมืองลุง”และ ‘น นพรัตน์’ ที่ถูกร่ายเรียงมาทั้งหมดนี้.. จึงนับเป็นความทรงจำในมิติที่ถูกแอบซ่อนอยู่เหมือนบุปผาพันธุ์ประหลาดพิสดาร ที่ไม่ต้องการแสงอาทิตย์ ไม่ต้องการทั้งหยาดฝนและน้ำค้าง ตราบใดที่มันอยู่ในความมืด มันจะกลับงอกงามได้สวยสะคราญยิ่งขึ้น และความรักในโลกของความเป็นชีวิตที่แท้จริงก็เช่นกัน  “ความผูกพันระหว่างพ่อลูก น้ำมิตรระหว่างสหาย... ความรักระหว่างเพศ... ความเห็นอกเห็นใจต่อมนุษยชาติ... ความรักถนอมชีวิต... ความจงรักภักดีต่อชาติบ้านเมือง... เหล่านี้เป็นความรัก” หากปราศจากซึ่งความรัก ผู้ใดทราบ...โลกนี้จะเปลี่ยนเป็นโลกเยี่ยงใด ?