กว่า 9 เดือนแล้ว ที่ ดร.พิษณุ ตุลสุข รองปลัดกระทรวงศึกษาธิการ ได้รับมอบหมายให้ปฏิบัติหน้าที่เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมสวัสดิการและสวัสดิภาพครูและบุคลากรทางการศึกษา (สกสค.) แถมควบด้วย ผู้อำนวยการองค์การค้าของ สกสค.อีกตำแหน่งหนึ่ง เท่ากับว่า ขณะนี้ ดร.พิษณุต้องสวมหมวก 3 ใบ ทำหน้าที่ถึง 3 บทบาท ถือเป็นการทดสอบฝีมืออดีตผู้นำองค์กรครูที่คร่ำหวอดในวงการศึกษามากกว่า 40 ปีเลยทีเดียว การที่...สำนักงานคณะกรรมการ สกสค. ต้องเปลี่ยนมือผู้บริหารเรื่อยมา จนถึง "ดร.พิษณุ" ในวันนี้ ถือว่าวางตัวได้ถูกแล้วหากจะฟื้นฟูความน่าเชื่อถือและศรัทธาขององค์กรนี้ ถึงแม้การสรรหาเลขาธิการสำนักงาน สกสค. ผู้อำนวยการองค์การค้าของ สกสค. และเลขาธิการคุรุสภาตัวจริงตามคำสั่งที่ 17/2560 เมื่อวันที่ 1 มิถุนายน 2560 จะถูกยกเลิกไปทั้งหมดเพื่อเริ่มต้นกระบวนการใหม่ ซึ่งไม่ว่าจะด้วยเหตุผลใดก็แล้วแต่ แต่การแก้ไขปัญหาขององค์กรยังคงต้องเดินหน้าต่อไป การฟื้นฟูความเชื่อมั่น ความศรัทธาขององค์กรวิชาชีพครูเป็นสิ่งจำเป็น และต้องได้รับการแก้ไข ดร.พิษณุ กล่าวว่า แม้ว่าขณะนี้ยังไม่มีการสรรหาเลขาธิการสกสค. และผู้อำนวยการองค์การค้าของ สกสค.คนใหม่ตนก็ยังต้องปฏิบัติหน้าที่ตามคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติที่ 7/2558 เรื่อง การปฏิบัติหน้าที่ของคณะกรรมการคุรุสภา คณะกรรมการ สกสค.และคณะกรรมการบริหารองค์การค้าของ สกสค.ต่อไปจนกว่าจะมีการสรรหาคนใหม่ตามคำสั่งที่ 17/2560 โดยงานที่ต้องเดินหน้าต่อไป คือการแก้ไขปัญหาหนี้สินครู ซึ่งขณะนี้ สกสค.ได้รับอนุมัติเงินจากกองทุนสนับสนุนพิเศษเพื่อความมั่นคงของสมาชิกฌาปนกิจสงเคราะห์ช่วยเพื่อนครูและบุคลากรทางการศึกษา (ช.พ.ค.)และการฌาปนกิจสงเคราะห์ช่วยเพื่อนครูและบุคลากรทางการศึกษากรณีคู่สมรสถึงแก่กรรม (ช.พ.ส.) จำนวน 1,000 ล้านบาท ซึ่งขณะนี้ได้ทำบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU)กับสหกรณ์ออมทรัพย์ครู 16 สหกรณ์ และตอนนี้กำลังทยอยขยายผลไปทั่วประเทศ ในการดำเนินการนั้น จะมีการตั้งคณะกรรมการระดับจังหวัด จังหวัดละ 7 คน เพื่อทำหน้าที่คัดเลือกลูกหนี้ที่อยู่ในภาวะวิกฤตของแต่ละจังหวัดมาเข้าร่วมโครงการแก้ไขปัญหาครูและบุคลากรทางการศึกษากลุ่มที่มีหนี้สินขั้นวิกฤต โดยให้รวมหนี้มาไว้จุดเดียว และไม่สามารถไปกู้เงินจากสถาบันการเงินอื่นได้อีก โดยจะมีการทำบัญชีรายรับ-รายจ่าย ว่าต้องส่งเงินกี่งวดครูถึงจะเป็นอิสระ และครูที่จะสมัครใจเข้าร่วมโครงการต้องรับเงื่อนไขและปฏิบัติให้ได้ด้วย โดยกรรมการทั้ง 7 คนในแต่ละจังหวัดจะลงไปประเมินว่า ครูจะทำตามเงื่อนไขของสกสค.ได้หรือไม่ ถ้ารับเงื่อนไขได้ สกสค.ก็จะโอนเงินเข้าสหกรณ์ออมทรัพย์ที่ทำความร่วมมือในจังหวัดนั้นๆเพื่อให้ครูไปกู้เงินจากสหกรณ์ฯได้ โดยอัตราดอกเบี้ยที่ตกลงกันไว้ คือ ร้อยละ 3.5 จากที่ต้องจ่ายดอกเบี้ยให้ธนาคารในปัจจุบันประมาณร้อยละ 6-7 ซึ่งจะช่วยให้ครูถูกหักเงินน้อยลงได้มาก นอกจากโครงการดังกล่าวจะเป็นการแก้ปัญหาหนี้สินครูแล้วดร.พิษณุ ยังได้จัดให้มีการอบรมเรื่องหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง เพื่อปูพื้นให้แก่ครูที่เข้าโครงการแก้ไขปัญหาครูและบุคลากรทางการศึกษากลุ่มที่มีหนี้สินขั้นวิกฤต ให้สามารถดำรงชีวิตอยู่อย่างเพียงพอ เพราะจะไม่สามารถไปกู้เงินจากสถาบันการเงินอื่นได้อีกซึ่งขณะนี้ได้เริ่มอบรมแล้วที่จังหวัดเชียงใหม่ โดยมีวิทยากรจากมูลนิธิยุวสถิรคุณ ซึ่งเป็นความร่วมมือในการใช้งานวิจัยมาใช้ "พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์องคมนตรี เคยปรารภในที่ประชุมผู้บริหารของ ศธ. ว่า "พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทรงมีพระกระแสรับสั่งว่าหนี้สินของครูก็เป็นปัญหาใหญ่จะแก้ไขอย่างไรจึงจะทำให้ปัญหานี้ ไม่ส่งผลต่อคุณภาพของนักเรียน" ซึ่งวันนี้สกสค.มองเห็นทางออกแล้ว โดยจะทำทุกวิถีทางเพื่อให้ครูมีความสุข และความสุขจะต้องเกิดขึ้นที่ห้องเรียน นักเรียนจะต้องเรียนอย่างมีความสุขและเกิดคุณภาพอันสูงสุด ซึ่งมูลนิธิยุวสถิรคุณก็จะเป็นส่วนหนึ่งที่เป็นผู้นำทางให้ได้"ดร.พิษณุ กล่าว ทั้งนี้เรื่องที่จะต้องทำควบคู่กันไป ก็คือเรื่องการบริการสุขภาพของครู ซึ่งกระทรวงสาธารณสุขได้ยกสถานะสถานพยาบาล สกสค. มาเป็นโรงพยาบาลครู โดยการสร้างเครือข่ายในการส่งต่อผู้ป่วยไปยังโรงพยาบาลที่มีเครื่องมือที่ทันสมัยรวมถึงหอพัก สกสค. จะมีการสร้างเครือข่ายหอพักเพื่ออำนวยความสะดวกให้กับครู ร่วมกับมหาวิทยาลัยราชภัฏทั่วประเทศ ที่มีโรงแรมฝึกประสบการณ์ให้กับนักศึกษา เพราะโรงแรมเหล่านี้ยังไม่มีตัวป้อนในการเข้าพักมากนัก บางแห่งสร้างขึ้นเพื่อเป็นการฝึกประสบการณ์ให้กับนักศึกษา แต่ถ้าสกสค.สามารถประสานให้ครูไปพักได้ โรงแรมเหล่านี้ก็จะมีรายได้ เพราะปัจจุบันหอพัก สกสค. ไม่สามารถรองรับครูที่จะเข้ามาพักทั้งหมดได้ ดร.พิษณุ ยังกล่าวอีกว่าขณะนี้ สกสค.กำลังแก้ไขระเบียบว่าด้วย กองทุนสวัสดิการเพื่อการช่วยเหลือสมาชิกกรณีเสียชีวิต อันเกิดจากภัยพิบัติ เสียชีวิตและบาดเจ็บในขณะที่ปฏิบัติราชการ หรือประสบอุทกภัยต่างๆ เพื่อให้สอดคล้องและเหมาะสมกับความเป็นจริง ให้ครูได้รับการดูแลอย่างทั่วถึง เนื่องจากระเบียบเดิมยังไม่สอดคล้องกับความเป็นจริง เช่น คนเสียชีวิตได้เงินช่วยเหลือจากกองทุนสวัสดิการต่างๆ ประมาณ 2 ล้านบาท ขณะที่เพื่อนไปด้วยกันนั่งอยู่ข้างเบาะถูกยิงบาดเจ็บสาหัส แต่ไม่ตาย จะได้เพียง 2 หมื่นบาทเป็นต้น ซึ่งตรงนี้ผมเห็นว่า ยังไม่สอดคล้องกับความเป็นจริงเพราะครูต้องได้รับการบำรุงขวัญและกำลังใจ รักษาตัวเองในระยะยาวด้วย ที่สำคัญการให้พวงหรีดงานศพ ก็ขอให้เป็นพวงหรีดต้นไม้ เพื่อเป็นการรณรงค์สิ่งแวดล้อม ซึ่งสอดคล้องกับยุทธศาสตร์ของรัฐบาลด้วย นี่คือส่วนหนึ่งของภารกิจของสำนักงานคณะกรรมการสกสค.ที่จะต้องดูแลสวัสดิการและสวัสดิภาพของครูและบุคลากรทางการศึกษาในขณะเดียวกันก็ต้องเดินหน้าแก้ปัญหาต่างๆ ไปด้วย ซึ่งต้องเป็นหน้าที่ของผู้มีอำนาจที่จะต้องเลือกคนนั่งหัวโต๊ะให้ถูกกับงาน ต้องได้คนที่รู้จักและเข้าใจความเป็นครูด้วย ...เก้าอี้นี้จะเป็นของใคร ต้องติดตาม วารินทร์ พรหมคุณ