ศ.ดร.นพ.ประวิตร อัศวานนท์ ประชาสัมพันธ์สมาคมแพทย์ผิวหนังแห่งประเทศไทย เผย “เหงื่อ” นั้นมีประโยชน์ เพราะเป็นทางระบายความร้อนที่สำคัญที่สุดของร่างกาย โดยร่างกายเรามีต่อมเหงื่ออยู่ทั่วตัว ประมาณว่า ราว ๆ 2-4 ล้านต่อม เหงื่อนั้นเป็นทางกำจัดสารหลาย ๆ อย่าง โลหะและยารับประทานบางชนิด เช่น ยาฆ่าเชื้อรา ยารักษามะเร็งบางตัว จะถูกร่างกายขับทางเหงื่อ แต่เหงื่อไม่ใช่ทางขับไขมัน ซึ่งการทำให้แค่เหงื่อออกไม่ใช่วิธีลดน้ำหนัก เหงื่อที่ออกใหม่ๆ นั้น ไม่มีกลิ่น แต่ที่มีกลิ่นได้ เพราะผิวหนังเราจะมีแบคทีเรีย ซึ่งจะแปลงสารในเหงื่อบางอย่างทำให้มีกลิ่นขึ้นได้ โดยเฉพาะรักแร้ และในร่มผ้า ที่มีต่อมเหงื่อชนิดพิเศษนั้น หากมีปัญหา ไปพบแพทย์ก็อาจจะได้ยาฆ่าเชื้อมาทา หรือแนะนำให้ใช้สบู่ที่มีสารบางอย่างที่ฆ่าแบคทีเรียได้ กลิ่นตัวก็จะลดลง ขณะอีกส่วนที่ทำให้มีกลิ่นได้คือ อาหาร เช่น บางชาติที่รับประทานเนื้อแกะ-แพะ-ชีส เป็นประจำ อีกโรคที่มากับเหงื่อ คือ กลากและเกลื้อน รวมทั้งผื่นภูมิแพ้-ผิวหนังอักเสบบางประเภท ที่จะมาเวลาเหงื่อออกมากๆ บางคนชอบเรียกว่า “แพ้เหงื่อ” ซึ่งที่จริงเราไม่แพ้เหงื่อตัวเองหรอก โดยผื่นที่ว่านี้จะเป็นได้ทั้งร้อน-หนาว เหงื่อเป็นแค่ตัวกระตุ้นไม่ได้เป็นสาเหตุโดยตรง ทั้งนี้ เหงื่อออกมากนั้น มีวิธีรักษาหลายอย่าง ทั้งยาทา ยารับประทาน ใช้กระแสไฟฟ้าอ่อนๆ ฉีดยาโบทูลินั่มท็อกซิน การดูดไขมัน (และกำจัดต่อมเหงื่อ) ไปจนถึงผ่าตัด ซึ่งก็แล้วแต่ว่าเป็นแบบเฉพาะที่ (และเป็นตรงไหน) หรือเป็นแบบทั้งตัว และเป็นมาก เป็นน้อยแค่ไหน รบกวนต่อการดำรงชีวิตหรือไม่...