“พ่อเมืองตรัง” เนรมิต “บ้านพัก “จวนผู้ว่าฯ” 1 ใน 20 โบราณสถานจังหวัดตรัง เปิดต้อนรับ “อาคันตุกะ” ชมบ้าน-เที่ยวสวน-โบราณสถาน”กลางเมืองตรัง” “เมืองตรัง รังสฤษฏ์แม้น เมืองสวรรค์ ตรังมุ่งทำดีกัน ทั่วหน้า ศรีตรังเด่น ดอกพันธุ์ พราวถิ่น ตรังแต่งตรัง คู่หล้า อยู่ยั่ง ตรังเสถียร” คำขวัญที่ได้รับการจารึกบนแผ่นป้ายหน้าศาลากลางจังหวัดตรัง มานาน จังหวัดตรังเป็นเมืองประวัติศาสตร์ตั้งอยู่ฝั่งทะเลอันดามัน ประวัติความเป็นมามีการบันทึกไว้ในหอจดหมายเหตุแห่งชาติ โดย “เจ้าเมือง” เป็นผู้บริหารราชกิจ “บำบัดทุกข์ บำรุงสุข” ให้กับราษฎรในพื้นที่ ตามประวัติบันทึกภาพภ่ายภายในห้องโถงศาลากลางจังหวัดตรัง ถึง “เจ้าเมืองตรัง” คนแรกคือ พระยาดำรงศ์สุจริต (คอซิมกอง ณ ระนอง) จส.1246 ต่อมา พ.ศ.2433-2445 พระยารัษฎานุประดิษฐ์ มหิศรภักดี (คอซิมบี้) ณ ระนอง (บิดายางพาราไทย) ปกครองบ้านเมือง จนมาถึงปัจจุบัน “เจ้าเมือง”ได้รับการเปลี่ยนผ่านสลับหมุนเวียนมาเป็น โดย“นายศิริพัฒ พัฒกุล” ดำรงตำแหน่งผู้ว่าราชการจังหวัดตรัง คนที่ 48 “เจ้าเมือง-พ่อเมือง- ผู้ว่าราชการจังหวัด” เป็นคำที่ชาวบ้านร้านตลาดเรียกกันจนติดปากและชินหู ด้วยเหตุผลที่ว่า แต่ละจังหวัดจะต้องผู้บริหารเข้ามาดูแล “บำบัดทุกข์-บำรุงสุข” ให้กับประชาชนในพื้นที่ โดยได้รับการคัดเลือกจากนักปกครองที่มีความรู้ความสามารถ มีประสบการณ์มีคุณธรรมอันดีงาม ที่ปฎิบัติหน้าที่ต่างพระเนตร พระกรรณ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว “ผู้ว่าราชการจังหวัด” แต่ละจังหวัดจะมีบ้านพักอันเป็นทรัพย์สมบัติของทางราชการ ที่รู้จักกันในนาม”จวนผู้ว่าราชการจังหวัด” มักจะสร้างขึ้นในกลางเมืองและเป็นทำเลดี หรือฮวงจุ้ยที่เหมาะสม สลับผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนให้เป็นที่พักอาศัยของผู้ว่าราชการแต่ละท่าน บ้านพักจวนผู้ว่าฯ มักจะเป็นบ้านพักเก่าทรงโบราณ สมคุณค่าด้านสถาปัตยกรรม เฉกเช่น “จวนผู้ว่าราชการจังหวัดตรัง” ที่มีประวัติความเป็นมาที่ยาวนาน ตามประวัติไม่ทราบข้อมูลการก่อสร้างที่แน่นอน แต่จากข้อมูลทราบว่า หลังจากที่พระบาทสมเด็จพระมงกูฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 เสด็จฯเมืองตรัง พ.ศ. 2458 พระยารัษฎานุประดิษฐ์ จึงขอพระราชทานพระบรมราชานุญาต ย้ายเมืองจากอำเภอกันตัง มาตั้งที่ อำเภอบางรัก และได้ย้ายไปเมื่อ วันที่ 1 มกราคม 2458 จวนผู้ว่าฯจึงถูกสร้างเมื่อย้ายเมืองมาที่อำเภอบางรัก ในตอนแรกใช้ตำหนักผ่อนกายเป็นศาลากลางชั่วคราว หลังจากนั้นชื่ออำเภอบางรักเปลี่ยนมาเป็น อำเภอทับเที่ยงในปี พ.ศ. 2459 และเปลี่ยนเป็นอำเภอเมืองตรัง พ.ศ. 2481 ปัจจุบัน “จวนผู้ว่าราชการจังหวัดตรัง” ตั้งอยู่บนเนินสูง เลขที่ 139 ต.ทับเที่ยง อ.เมือง จ.ตรัง มีเนื้อที่ ประมาณ 3 ไร่ ก่อสร้างมาเป็นระยะเวลาประมาณ 99 ปี และเป็น 1 ใน 20 โบราณสถานของจังหวัดตรัง นายศิริพัฒ พัฒกุล ผู้ว่าราชการจังหวัดตรัง เล่าให้ฟังว่า ตั้งแต่ตนย้ายมารับตำแหน่ง ภายในจวนผู้ว่าฯชำรุด น้ำรั่ว พรมชื้น ผนังร่อน คิดว่าจวนผู้ว่าฯเป็นหน้าเป็นตาของบ้านเมือง เป็นโบราณสถานของชาติไทย ซึ่งจวนผู้ว่าฯหลังนี้อายุเกือบร้อยปีแล้ว น่าจะปีหน้า ครบ 100 ปี ประการสำคัญ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในหลวงรัชกาลที่ 9 พร้อมด้วยสมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินีนาถ ได้เคยเสด็จประทับแรมที่จวนผู้ว่าราชการจังหวัดตรัง เมื่อ วันที่ 16 มีนาคม 2502 ยิ่งทำให้จวนแห่งนี้มีคุณค่าทางประวัติศาสตร์มาก “ผมจึงได้รีบดำเนินการปรับปรุงซ่อมแซมไป ทำหลังคาใหม่ ที่เสียก็ซ่อมแล้วทาสีใหม่ ทำรางน้ำ ทาสีทั้งภายนอก ภายใน พื้นก็เปลี่ยนเป็นหินแกรนิตอย่างดี ช่วงแรกก็ใช้งบประมาณส่วนตัวอีกส่วนหนึ่งก็ได้งบจากจังหวัด งบของผู้ว่าราชการจังหวัด ภายในรอบบริเวณปรับปรุงภูมิทัศน์ให้ดูร่มรื่นตัดแต่งกิ่งไม้ ได้รับความร่วมมือจากหลายภาคส่วนร่วมกัน รวมทั้งปรับปรุงภูมิทัศน์อื่นๆ การปลูกดอกไม้ ถือเป็นแลนด์มาร์คแห่งหนึ่งของจังหวัดตรัง” “พ่อเมืองตรัง บอกว่า ตนเชิญชวนพ่อแม่พี่น้อง นักท่องเทียวเมื่อมาจังหวัดตรัง ของให้มีโอกาสได้มาที่จวนผู้ว่าราชการจังหวัดตรัง เปิดจวนทุกวัน ไม่เว้นวันหยุดราชการ ตั้งแต่ประมาณ 7.00 น. ไปจนถึง 2 ทุ่ม มีการถ่ายภาพแต่งงานก็มาที่นี่ ไม่เสียค่าใช้จ่าย จะเข้าด้านในก็เข้าได้ ห้องโถงชั้นล่างกับห้องโถงชั้นบน เป็นที่ทุกท่านสามารถเข้ามาได้ตลอดเวลาเหมือนกัน ตนไม่มีทรัพย์สมบัติของตนเลย แต่มีสิ่งที่ได้ปรับปรุงไว้เช่นรูปประวัติศาสตร์ต่างๆ จะติดไว้พอเหมาะพอสม และก็ดูสมพระเกียรติฯ ซึ่งสถานที่ราชการนี้ ทางส่วนราชการไม่ได้ทิ้งขว้าง จวนผู้ว่าราชการจังหวัด ก็ถือเป็นสถานที่ราชการอย่างหนึ่ง ตนไม่ทิ้งไม่ขว้างแน่ ตนมาทำประโยชน์เพื่อพี่น้องชาวตรัง จะได้รู้สึกภาคภูมิใจกับจวนผู้ว่าราชการจังหวัดแห่งนี้ “สำหรับห้องภายในจวนที่สามารถขึ้นไปดูชมได้ คือห้องที่พระบาทสมเด็จอยู่หัวรัชกาลที่ 9 ได้ทรงประทับแรม ส่วนห้องอื่นนั้นเป็นห้องส่วนตัว แต่ห้องโถงใหญ่ก็มีความสวยงามแล้ว จะมีโต๊ะหมู่บูชาอย่างดีขนาดใหญ่ มีพระศักดิ์สิทธิ์ ประดิษฐานอยู่ ส่วนชั้นล่างก็เช่นเดียวกัน ก็จะมีตู้จัดวางของเก่า ของโบราณ เป็นภาชนะที่ใช้ในการเสวยพระยาหาร กลางวันและพระยาหารเช้า ที่จวนผู้ว่าราชการจังหวัดแห่งนี้ มีงาช้างคู่บ้านคู่เมือง อยู่ที่จวนฯ” นายศิริพัฒ สาธยายว่า บริเวณโดยรอบจวนฯ หลังจากที่ตนมารับตำแหน่ง ตนก็เห็นว่า บริเวณลานมีการจัดเลี้ยงต้อนรับกัน ก็เป็นหญ้ามาเลเซียยาว ประมาณ 30 เมตร ก็คิดว่าปลูกแต่หญ้าก็ไม่ได้ประโยชน์ ก็ได้ทำครึ่งหนึ่ง ปลูกอะไรที่กินได้ เพราะฉะนั้นบ้านผู้ว่าฯหากินอะไรไม่ได้เลย ตนก็เลยปลูกมะนาว ปลูกพริก มะเขือ ตะไคร้ มะกรูด ต้นเหรียง ผักหวาน ใบเตย กะเพรา ฯลฯ ตนก็ได้รดน้ำพรวนดินทุกเช้า ช่วยเจ้าหน้าที่ อส. มีเลี้ยงไก่ และมีสัตว์เลี้ยงอื่นๆ เวลามีเด็กมาจะได้เพลิดเพลินกัน มีกระต่าย นกหงส์หยก ไกแจ้ มาแล้วก็ต้องเบ็ดเสร็จ ไม่จำเป็นต้องมีนักโบราณคดีอย่างเดียว เด็กก็มาได้ ประชาชนทั่วไปจะมาดูผู้ว่าฯ ไปบอกคนอื่นให้เศรษฐกิจพอเพียง แต่กลับว่าผู้ว่าฯเองในบ้านไม่มีอะไรปลูก ขยะตนก็แยก คือบ้านผู้ว่าฯแห่งนี้ สามารถนำไปเป็นแบบอย่างได้กับพี่น้องประชาชนในทุกเรื่อง พื้นที่จวนแห่งนี้ประมาณ 2-3 ไร่ อยู่บนเนินสวยมาก ตามหลักฮวงจุ้ย เค้าว่าดีมากเป็นหัวมังกร อยู่สูงยิ่งถ้ามองจากชั้นบน ตอนนี้เป็นกระจกใสแล้ว เปิดหน้าต่างสามารถชมวิวทิวทัศน์รอบเมืองตรัง จุดนี้เป็นจุดที่สูง สามารถความเจริญของตัวอำเภอเมืองตรัง การทาสีของจวนผู้ว่าฯเป็นสีฟ้า ซึ่งเป็นสีประจำจังหวัดตรัง ไม่ใช่สีม่วง สีของดอกศรีตรัง หลายคนเข้าใจผิดว่า สีจังหวัดตรังคือสีม่วง แต่เป็นสีฟ้า และอีกอย่างวันที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 เสด็จฯ จวนผู้ว่าฯคือสีฟ้า ตนเอาตรงนั้นเป็นประวัติศาสตร์ ซึ่งเข้ากันพอดีเมื่อประวัติศาสตร์เป็นอย่างนั้น และจังหวัดตรัง สีประจำจังหวัดเป็นสีฟ้า รวมทั้งสีฟ้า เป็นสีเย็น สีที่เป็นมิตร ถ่ายรูปแล้วดูสบายตา สำหรับประชาชนนักท่องเที่ยวท่านใดสนใจเที่ยวชมภายในจวนผู้ว่าราชการจังหวัดตรังแห่งนี้ สามารถเข้าเที่ยวชมได้เอง ทางด้านหน้าจวนฯก็ได้มีตัวอักษรเขียนอยู่ทั้งภาษาไทยและภาษาอังกฤษอยู่แล้ว ส่วนด้านในบรรยายด้วยภาพอยู่แล้ว ส่วนจะให้ใครอธิบายก็จะมีคนคอยดูแลอยู่ ณ วันนี้ “จวนผู้ว่าราชการจังหวัดตรัง” 1 ใน 20 โบราณสถานของจังหวัดตรัง ที่ได้รับการปรับปรุง เนรมิตจาก พ่อเมืองคนปัจจุบัน “นายศิริพัฒ พัฒกุล ผู้ว่าราชการจังหวัดตรัง” เปิดต้อนรับ “อาคันตะกะ” เข้าเที่ยว เยี่ยมชม บันทึกภาพ ได้ตลอดทุกวัน จึงขอเชิญชวน พ่อ แม่ พี่น้อง ชาวตรัง แขกที่มาเยือน และนักท่องเที่ยว เข้าเมืองตรัง แวะเวียนเยี่ยมชม “จวนผู้ว่าราชการจังหวัด” ที่เปิดต้อนรับแขกด้วยความอบอุ่น