“ปลัดมท.” ร่อนหนังสือสั่งด่วนทุกจังหวัดเฝ้าระวัง “แผ่นดินไหว-น้ำท่วม” ปลุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องพร้อมช่วยเหลือปชช. ด้าน “ปภ.” ประสานพื้นที่ภาคเหนือตั้งศูนย์อำนวยการเฉพาะกิจฯ แนะ อย่าเชื่อข่าวลือ พร้อมยึดหลัก “หมอบ ป้อง เกาะ” หากเกิดแผ่นดินไหว เมื่อเวลา 00.00 น. วันที่ 25 ส.ค.59 - นายกฤษฎา บุญราช ปลัดกระทรวงมหาดไทย มีหนังสือสั่งการด่วนที่สุดถึงรองปลัดกระทรวงมหาดไทย อธิบดี ผู้ว่าราชการจังหวัด นายอำเภอ กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน และผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นทุกจังหวัด โดยให้ทุกหน่วยงานเฝ้าระวังเหตุสาธารณภัยในพื้นที่ และเตรียมพร้อมในการให้ความช่วยเหลือแก่ประชาชนได้อย่างรวดเร็วทันท่วงที สืบเนื่องจากเกิดเหตุการณ์แผ่นดินไหวในประเทศเพื่อนบ้านเมื่อวันที่ 24 ส.ค. ขณะเดียวกันได้มีร่องพายุฝนพัดผ่านเข้าประเทศไทยทางจังหวัดในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ รวมทั้งมี รายงานปริมาณน้ำในแม่น้ำโขงเริ่มมีระดับสูงขึ้น นายกฤษฎา ระบุว่า กระทรวงมหาดไทยได้มีการตรวจสอบระบบแจ้งเตือนของกองอำนวยการบรรเทาสาธารณภัยกลางและจังหวัดต่างๆ แล้วพบว่ายังไม่เป็นไปตามระบบที่วางไว้ ซึ่งอาจก่อให้เกิดผลกระทบเสียหาย จึงได้สั่งการให้ทุกหน่วยงานในสังกัดที่เกี่ยวข้องและจังหวัดดำเนินการ ดังนี้ 1.ให้จังหวัดในภาคเหนือได้ติดตามสถานการณ์แผ่นดินไหวต่อไป เพราะอาจเกิดแผ่นดินไหวซ้ำอีกได้ ในช่วง 24 ชั่วโมงนับตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป นายกฤษฎา ระบุอีกว่า 2.ให้จ.เชียงราย เลย อุบลราชธานี หนองคาย อำนาจเจริญและบึงกาฬ ติดตามระดับน้ำในแม่น้ำโขงทุกระยะ เพื่อแจ้งเตือนประชาชนที่ปลูกบ้านเรือนหรือร้านค้า ร้านอาหาร หรือทำการเกษตรในพื้นที่ริมแม่น้ำโขงรับทราบสถานการณ์ระดับน้ำโดยใกล้ชิด 3.จังหวัดในภาคตะวันออกเฉียงเหนืออื่นๆ ให้ติดตามสถานการณ์ภาวะฝนตกหนักด้วย เพราะอาจมีน้ำหลากหรือน้ำท่วมฉับพลันในพื้นที่ที่ระบบระบายน้ำไม่เพียงพอ ขณะที่ 4.ให้พื้นที่กรุงเทพมหานคร และจังหวัดรอบปริมณฑลนั้น ได้แจ้งประสานไปยังปลัดกรุงเทพมหานครว่าขณะนี้เริ่มมีฝนตกตามฤดูกาลมากขึ้น จึงขอให้มีการประสานงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการระบายน้ำและระบบจราจร โดยใกล้ชิด และให้มีการมอบหมายเจ้าหน้าที่รับผิดชอบในการติดต่อประสานงานให้ชัดเจนด้วย และ 5.ให้ผู้ว่าราชการจังหวัดทุกจังหวัดใช้ศักยภาพในการบริหารและการบูรณาการจัดประชุมกับหน่วยงานในพื้นที่ที่เกี่ยวข้องวางแผนและบริหารจัดการน้ำในพื้นที่ สำหรับพื้นที่ที่ประสบอุทกภัย ให้พิจารณาหาทางจัดระบบระบายน้ำออกจากพื้นที่น้ำท่วม โดยการผันน้ำไปกักเก็บน้ำไว้ใช้ในฤดูแล้ง หรือช่วงการขาดแคลนน้ำ หรือให้พิจารณาจัดทำโครงการแก้มลิงเก็บน้ำหรือเหมืองฝายทดน้ำไว้ด้วย ทั้งนี้ หากมีโครงการหรือแนวทางที่คาดว่าจะสามารถใช้ในการบริหารจัดการได้อย่างมีประสิทธิภาพแล้วให้รวบรวมโครงการหรือข้อเสนอในการบริหารจัดการน้ำรายงานให้กระทรวงมหาดไทยทราบด้วย เพื่อจะได้พิจารณาในการขอรับการสนับสนุนจากหน่วยงานในส่วนกลางต่อไป อย่างไรก็ดี ขอมอบหมายให้รองปลัดกระทรวงมหาดไทยหัวหน้ากลุ่มภารกิจป้องกันสาธารณภัยและพัฒนาเมืองและอธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ได้ร่วมกันทบทวนแนวการปฏิบัติและเน้นย้ำให้เจ้าหน้าที่ผู้รับผิดชอบในการแจ้งเตือนหรือปฏิบัติหน้าที่เวรเฝ้าระวังและประสานงานกับศูนย์เตือนภัยของหน่วยราชการต่างๆ ให้เพิ่มความใส่ใจในการปฎิบัติงานและถือปฏิบัติอย่างเคร่งครัดในการรายงาน สถานการณ์ รวมทั้งการแจ้งเตือนประชาชนในพื้นที่ เพื่อเตรียมความพร้อม เป็นการลดผลกระทบจากสาธารณภัยในรูปแบบต่างๆ ด้านนายฉัตรชัย พรหมเลิศ อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) กล่าวว่า ตามที่ได้เกิดสถานการณ์แผ่นดินไหวขนาด 7.0 แมกนิจูด บริเวณตอนกลางของประเทศเมียนมา ที่ระดับความลึกจากผิวดิน 91 กิโลเมตร ห่างจากทิศตะวันตกเฉียงเหนือของอ.เมืองแม่ฮ่องสอน จ.แม่ฮ่องสอน ประมาณ 509 กิโลเมตร ซึ่งประชาชนในพื้นที่จ.เชียงใหม่ แม่ฮ่องสอน และผู้ที่อยู่ในอาคารสูงของกรุงเทพมหานคร รับรู้ได้ถึงแรงสั่นสะเทือน ปภ.ได้ประสานให้จังหวัดในพื้นที่ภาคเหนือจัดตั้งศูนย์อำนวยการเฉพาะกิจฯ และจัดเจ้าหน้าที่เฝ้าระวังติดตามสถานการณ์แผ่นดินไหวในประเทศเมียนมาอย่างใกล้ชิดและต่อเนื่อง พร้อมประสานองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน สำรวจความเสียหายของสิ่งปลูกสร้าง โดยเฉพาะอาคารสูง โบราณสถาน เขื่อน และอ่างเก็บน้ำที่อาจได้รับผลกระทบจากแผ่นดินไหว ในเบื้องต้นยังไม่มีรายงานความเสียหาย รวมถึงจัดกำลังเจ้าหน้าที่ วัสดุอุปกรณ์ และเครื่องจักรกลด้านสาธารณภัยให้พร้อมปฏิบัติการเผชิญเหตุและช่วยเหลือผู้ประสบภัยในทันทีที่เกิดสถานการณ์ภัย นายฉัตรชัย กล่าวต่อว่า ทั้งนี้ได้สั่งการให้เตรียมพร้อมรับมือ แก้ไขปัญหาภัยจากแผ่นดินไหว โดยปรับปรุงแผนปฏิบัติการป้องกันและแก้ไขปัญหาแผ่นดินไหวให้เป็นปัจจุบัน พร้อมพัฒนาระบบการแจ้งเตือนภัย โดยประสานการปฏิบัติกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอย่างใกล้ชิด เพื่อแจ้งเตือนภัยแก่ประชาชนได้อย่างทันท่วงที ทั้งนี้ขอให้ประชาชนติดตามรับฟังข้อมูลข่าวสารสถานการณ์แผ่นดินไหวจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอย่างใกล้ชิด ไม่ตื่นตระหนก หรือหลงเชื่อข่าวลือ ในขณะเกิดแผ่นดินไหวให้ยึดการปฏิบัติตามหลัก “หมอบ ป้อง เกาะ” โดยหมอบใต้โต๊ะ หรือหลบในจุด ที่มีโครงสร้างแข็งแรง พ้นจากแนวที่สิ่งของหล่นทับ รอให้แผ่นดินไหวสงบก่อนค่อยออกจากอาคาร สำหรับประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากสาธารณภัย สามารถติดต่อขอความช่วยเหลือได้ทางสายด่วนนิรภัย 1784 เพื่อประสานให้การช่วยเหลือโดยด่วนต่อไป