"คสช."จ่อ ออกม.44 ยืดเวลาแจ้งบ้านรุกล้ำริมน้ำ ลดผลกระทบปชช. ตามพ.ร.บ.การเดินเรือในน่านน้ำไทย เมื่อวันที่ 27 มิ.ย. ที่ทำเนียบรัฐบาล พล.ท.สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงภายหลังการประชุมร่วมระหว่างคณะรัฐมนตรี(ครม.)และคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.) เรื่อง การออกคำสั่งหัวหน้าคสช.เกี่ยวกับ พร.บ.การเดินเรือในน่านน้ำไทย พ.ศ. 2560 ว่า พ.ร.บ.ฉบับดังกล่าวมีผลกระทบต่อผู้ประกอบการ ประชาชนผู้อาศัยตามแนวลำน้ำ รวมถึงวิถีชีวิตการทำประมง โดยพล.อ.ประยุทธ์ กล่าวในทีมประชุมว่า หากเจ้าหน้าที่ในอดีตดำเนินการอย่างเข้มงวด ก็จะไม่เกิดปัญหาดังกล่าว อย่างไรก็ตาม รัฐบาลปัจจุบันต้องการดำเนินการให้เป็นไปตามหลักของกฎหมาย เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการรุกล้ำ จนก่อให้เกิดผลกระทบในวันข้างหน้า ซึ่งต้องมีระยะเวลาที่ชัดเจน โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้มีรายได้น้อยต้องไม่ได้รับผลกระทบ ซึ่งในเรื่องของกฎหมายน่านน้ำ ที่ผ่านมามีการปรับแก้หลายครั้ง ซึ่งปัจจุบันเป็นการแก้ไขครั้งที่ 17 โดยมีการประกาศในราชกิจานุเบกษามีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 22ก.พ. 2560 ตามหลักการของกฎหมายหากมีการล่วงล้ำลำน้ำ กีดขว้างการเดินเรือ กีดขว้างการใช้ประโยชน์ต่อสาธารณะ ไม่ว่าจะเป็นโรงแรม เรือนแพ บ้านริมน้ำ กระชังลี้ยงปลา หรือหลักที่ปักเพื่อผูกเรือประมง ก็ถือเป็นการล่วงล้ำเขตลำน้ำทั้งสิ้น และหลังจากที่กฎหมายประกาศใช้ ผู้ที่รู้ตัวว่ากระทำผิดให้ไปแจ้งกับกรมเจ้าท่าภายใน 4 เดือน ซึ่งที่ผ่านมามีคนมาแจ้งกับกรมเจ้าท่าประมาณ 30,000 ราย จาก 100,000 รายทั่วประเทศ จึงตั้งข้อสังเกตว่าสาเหตุที่ไม่มาแจ้งเพราะเนื่องจากผิดกฎหมาย และมีโทษปรับตั้งแต่ 1,000-20,000 บาท ต่อตารางเมตร หรือหากมีการแจ้งให้รื้อแล้วไม่มีการรื้อ มีโทษปรับวันละ ไม่เกิน 20,000 บาท ซึ่งผู้มาแจ้งต้องยอมรับสภาพ และถูกปรับตามกฎหมาย จึงทำให้ ประชาชนผู้อาศัยและมีวิถีตามแนวลำน้ำได้รับผลกระทบไปด้วย “คำสั่งดังกล่าวเห็นชอบให้ยืดระยะเวลาให้ประชาชนมาแจ้งได้เพิ่มเติม จากเดิมที่หมดกำหนดไปแล้วเมื่อ 22 มิ.ย. ที่ผ่านมา ยืดออไปในเบื้องต้นเป็นระยะเวลา 60 วัน หากยื่นไปแล้วเจ้าหน้าที่จะพิจารณาว่าจะอนุญาตหรือไม่อนุญาต ซึ่งต้องใช้เวลาประมาณ 6 เดือน และอาจมีการเปลี่ยนแปลงเวลาในภายหลัง และยกเว้นต่อผู้ที่มาแจ้ง ไม่ให้มีโทษย้อนหลังคือไม่ต้องเสียค่าปรับในส่วนที่รุกล้ำไปแล้วในอดีต ในส่วนของบ้านเรือนประชาชนริมน้ำ ไม่ต้องจ่ายค่าปรับแต่มีอัตราค่าเช่าตารางเมตรละ 5 บาท ส่วนอุปกรณ์การหาปลา เช่น กระชังเลี้ยงปลาไม่ต้องเสียค่าใช้จ่าย ซึ่งจะเป็นการลดผลกระทบที่เกิดขึ้นตามกฎหมาย” พล.ท.สรรเสริญ กล่าว