สัมภาษณ์นายกิจจา ผลภาษี ที่ปรึกษาสำนักงานกปร.(1) นายกิจจา ผลภาษี อดีตอธิบดีกรมชลประทาน และที่ปรึกษาสำนักงาน กปร. ซึ่งท่านมีโอกาสทำงานสนองพระราชดำริในพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การสนองพระราชดำริในด้านน้ำได้ให้สัมภาษณ์ “วารสารอันเนื่องมาจากพระราชดำริ” หนังสือพิมพ์สยามรัฐรายวันขออนุญาตนำเผยแพร่พระมหากรุณาธิคุณสู่ท่านผู้อ่านเพื่อร่วมน้อมสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณเป็นล้นพ้นหาที่สุดมิได้ ดังต่อไปนี้ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่9ทรงห่วงใยในชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนเป็นอย่างมาก จนทำให้พระองค์ต้องเสด็จพระราชดำเนินไปเยี่ยมเยียนราษฏรของพระองค์ในทุกภูมิภาค และทรงทุ่มเทพระวรกายอย่างเหน็ดเหนื่อย ทรงซักถามถึงความเป็นอยู่ของราษฎรด้วยพระองค์เอง เพื่อแก้ไขปัญหาความยากจนของราษฎร ด้วยทรงเล็งเห็นว่าประเทศไทยเป็นประเทศเกษตรกรรม ราษฎรส่วนใหญ่มีอาชีพทำการเกษตร ทรงให้ความสำคัญกับการพัฒนา และการจัดการทรัพยากรน้ำ เพื่อแก้ไขปัญหาและบรรเทาความเดือดร้อนของราษฎร ทั้งจากภัยน้ำแล้ง ภัยน้ำท่วม และภัยน้ำเสีย ด้วยแนวพระราชดำริการพัฒนาแหล่งน้ำ และระบบชลประทาน เพื่อให้ราษฎรมีน้ำกินน้ำใช้ที่พอเพียง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในการทำเกษตรกรรมและการอุตสาหกรรม พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ทรงมีสายพระเนตรยาวไกลทรงเล็งเห็นปัญหานี้มาก่อนหน้าหลายสิบปี จึงได้พระราชทานแนวพระราชดำรัสและโครงการตามพระราชดำริไว้เพื่อให้คนไทยสามารถที่จะพ้นวิกฤติน้ำมาได้ และนี่คือหนึ่งเสียงของผู้สนองงานในหลวงรัชกาลที่ 9 เกี่ยวกับการบริหารจัดการน้ำ “น้ำ” “จุดเริ่มต้นการสนองพระราชดำริ จุดเริ่มต้นคือมีปัญหาเกี่ยวกับเรื่องน้ำมาก่อน กรมชลประทานก็เข้ามาสนองเบื้องพระยุคลบาท ในการที่จะสนองพระราชดำริเกี่ยวกับเรื่องน้ำ เมื่อก่อนน้ำมีปัญหามาก ตั้งแต่สมัยสำนักงานกปร.ยังไม่ก่อตั้ง กรมชลประทานโดยอธิบดีตั้งแต่ สมัยอธิบดี แสวง พูนสุข พอมีปัญหาเกี่ยวกับเรื่องน้ำ ซึ่งช่วงนั้นเป็นช่วงระหว่างปี 2518 ที่มีงานเกี่ยวกับพัฒนาแหล่งน้ำเข้ามา ท่านอธิบดีก็ได้ตามเสด็จที่จะไปสนองนโยบายเรื่องน้ำ งานเพิ่งเริ่มต้นตอนนั้นก็คงยังไม่มีอะไรมากมาย ต่อมาจากอธิบดีแสวง พูนสุข มาถึง อธิบดีมนัส ปิติวงษ์ ท่านก็เริ่มที่จะติดตาม ตอนนั้นก็มีพระตำหนักภูพิงค์ พระตำหนักภูพาน พระตำหนักทักษิณ และพระตำหนักวังไกลกังวลนั้นมีมานานแล้ว พระองค์ก็เสด็จฯทุกภาคเกือบประจำทั้งปี ช่วงนั้นกรมชลประทานก็ได้เริ่มที่เข้ามาสนองพระราชดำริเกี่ยวกับโครงการพัฒนาแหล่งน้ำต่างๆ ที่ออกมา รวมทั้งโครงการประจำปีของกรมชลประทานเองเพื่อแก้ไขปัญหาต่างๆที่เกิดขึ้น “อย่าให้ราษฎรของฉันเดือดร้อน” โครงการแรกคงจะจำกันได้เป็นโครงการอ่างเก็บน้ำเขาเต่าอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ตั้งแต่สมัยอธิบดีชูชาติ กำภู ซึ่งนานมากแล้ว ช่วงนั้นก็มีเฉพาะโครงการอ่างเก็บน้ำเขาเต่าฯและก็มีโครงการอื่นๆเกี่ยวกับถนน เกี่ยวกับอะไรต่างๆ ขึ้นมา งานพัฒนาแหล่งน้ำมีเพิ่มขึ้นมามากก็ตอนสมัยหลังแล้ว ตั้งแต่ปี 2518 ต่อจากนั้นมาเราก็ขยายงานออกไปตามภาคต่างๆ อย่างเช่น จังหวัดแม่ฮ่องสอน ตอนนั้นผมได้พบ ดร.สุเมธ ตันติเวชกุล ที่จังหวัดแม่ฮ่องสอน สำนักงานกปร.ก็มีโครงการเกิดขึ้นมา กรมชลประทานกับสำนักงานกปร. ก็เริ่มที่จะทำงานกันอย่างใกล้ชิด ช่วงนั้นผมย้ายมาเป็นผู้อำนวยการสำนักงานชลประทานที่ 9 คุมภาคตะวันออกทั้งหมด โครงการที่ผมเข้าไปเกี่ยวข้องในช่วงนั้นก็มีศูนย์ศึกษาการพัฒนาเขาหินซ้อนอันเนื่องมาจากพระราชดำริ โครงการพัฒนาพื้นที่รอบวัดญาณสังวรารามวรมหาวิหารฯ พร้อมทั้งโครงการพัฒนาที่ราบเชิงเขาจังหวัดปราจีนบุรีฯ โครงการศูนย์บริการการพัฒนาปลวกแดงฯ จังหวัดระยอง และมีโครงการต่างๆ เริ่มทยอยเข้ามามากมาย พอย้ายเข้ามาอยู่ในกรมชลประทาน ทางกรมก็ให้รับผิดชอบงานอื่นๆ กรมชลประทานได้ตั้งสำนักงานกิจกรรมพิเศษ ซึ่งจะสนองงานโครงการพระราชดำริขึ้นมา ก็จะเห็นว่าตอนนั้นมีท่านอธิบดีเล็ก จินดาสงวน ต่อมาก็ ท่านปราโมทย์ ไม้กลัด ท่านสุพจน์ รุจิรกุล ตามมา เจ้าหน้าที่ต่างๆมีหน้าที่รับผิดชอบในการที่จะติดตามโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ส่วนคนอื่นก็ทำงานตามหน้าที่ คือผู้ปฏิบัติ อย่างเช่น โครงการเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์อันเนื่องมาจากพระราชดำริ พอผมเข้ามาเป็นรองอธิบดี ก็เริ่มเข้ามาเกี่ยวข้องกับโครงการนี้ ในการจัดหาที่ดิน การแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของราษฎร พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ทรงรับสั่งไว้ทรงเป็นห่วงมาก พระองค์เคยรับสั่งว่า “อย่าให้ราษฎรของฉันเดือนร้อนในการก่อสร้าง” งานต่างๆเหล่านี้ทำให้งานของกรมชลประทานต้องเข้าไปอย่างเข้มข้น เข้าไปสัมผัสใกล้ชิด เข้าไปแก้ไขปัญหา เข้าไปสนองพระราชดำริต่างๆที่เกิดขึ้นมา (อ่านต่อ)