สัมภาษณ์นายกิจจา ผลภาษี ที่ปรึกษาสำนักงานกปร. (2) “สายพระเนตรกว้างไกล ก่อกำเนิดสายน้ำ หล่อเลี้ยงชีวิตราษฏร” โครงการต่างๆเกิดขึ้นอีกมากมาย อย่างเช่น ศูนย์ศึกษาการพัฒนาอันเนื่องมาจากพระราชดำริต่างๆ เช่น ศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยฮ่องไคร้ฯจังหวัดเชียงใหม่ ศูนย์ศึกษาการพัฒนาภูพานฯจังหวัดสกลนคร ศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยทรายฯจังหวัดเพชรบุรี ศูนย์ศึกษาการพัฒนาอ่าวคุ้งกระเบนฯจังหวัดจันทบุรี ศูนย์ศึกษาการพัฒนาพิกุลทองฯจังหวัดนราธิวาส และศูฯย์ศึกษาการพัฒนาเขาหินซ้อนฯจังหวัดฉะเชิงเทราก็ได้เกิดขึ้นมา บางแห่งกรมชลประทานก็เข้าไปรับผิดชอบ อย่างเช่น ศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยฮ่องไคร้อันเนื่องมาจากพระราชดำริ ศูนย์ศึกษาการพัฒนาภูพานอันเนื่องมาจากพระราชดำริ บางแห่งกรมชลประทานก็เข้าไปเป็นผู้สนับสนุน ที่จะร่วมทำงาน อย่างเช่น ศูนย์ศึกษาการพัฒนาอ่าวคุ้งกระเบน อันเนื่องมาจากพระราชดำริ ศูนย์ศึกษาการพัฒนาพิกุลทองอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยทรายอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ต่างๆเหล่านี้ งานก็ได้ดำเนินการสืบเนื่องมา โครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริก็ได้ขยายออกไปมากมาย มีกว่า 4,000 โครงการ มีโครงการเกี่ยวกับเรื่องน้ำประมาณ 3,000 กว่าโครงการแล้ว “การทรงงานของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่9 ที่พสกนิกรไม่เคยรู้” การทรงงานของพระองค์ท่านมีความมุ่งมั่น ก่อนที่พระองค์จะลงพื้นที่ต่างๆ พระองค์จะทรงศึกษาข้อมูลต่างๆอย่างแน่ชัดเลย พร้อมกับในด้านข้อมูลจากราษฎร ซึ่งเราจะเห็นภาพพระองค์ลงในพื้นที่ไปสัมผัสกับชาวบ้าน ทรงไปตรัสถามข้อมูลต่างๆเกี่ยวกับเรื่องน้ำ เรื่องดิน เรื่องพืช เรื่องป่า ทุกเรื่องพระองค์ก็ทรงเอามารวมกัน ส่วนไหนที่จะแยกออกไปในงานด้านต่างๆ ก็แยกออกไป ซึ่งต่อมาเราเรียกว่าเป็น “ศาสตร์ของพระราชา” สำหรับโครงการเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ฯพระองค์ทรงติดตามได้ศึกษา และมีพระราชดำริให้ก่อนที่จะเริ่มโครงการไม่ต่ำกว่า 30 ปี พอเริ่มโครงการขึ้นมาได้ พระองค์ก็ทรงติดตามเรื่องปัญหาที่ดินต่างๆที่เกิดขึ้น การที่เราไปชดเชยราษฎรที่เดือดร้อนจากการเวนคืนที่ดินมาใช้ พระองค์ ได้ทรงติดตามเกี่ยวกับเรื่องสถานการณ์ต่างๆที่มีความไม่เข้าใจบางเรื่องในตอนนั้น แต่ก็ไม่ใช่เรื่องใหญ่ เราก็พยายามแก้ ผู้ว่าราชการจังหวัดลพบุรี (ในขณะนั้น) กับกรมชลประทาน ร่วมมือกันอย่างใกล้ชิดมาก ลงไปในพื้นที่ที่จะไปแก้ไข เกิดปัญหาราษฎรเรื่องใดขึ้นมา ก็จะมาประชุมที่จะมาแก้ไขโครงการเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ฯ มีพระราชดำริให้หลายอย่าง แต่พระองค์ทรงเน้นย้ำเสมอ “อย่าให้ราษฎรของฉันเดือนร้อน” เรื่องนี้เป็นจุดสำคัญมาก เราก็ได้สนองพระราชดำริ อย่างเช่น เรื่องการชดเชยค่าที่ดินเมื่อก่อนนี้ต้องมีคณะกรรมการ โดยมีผู้ว่าราชการจังหวัด หรือรองผู้ว่าราชการจังหวัด ที่ได้รับมอบหมายเป็นประธาน และก็มีคณะกรรมการต่างๆ ก็มีกรมชลประทาน กรมที่ดิน นายอำเภอ ส่วนต่างๆ เข้ามาร่วมพิจารณาราคาที่จะต้องชดเชย เมื่อก่อนในระเบียบ ข้อกำหนดต่างๆที่ได้วางเอาไว้ค่อนข้างที่จะเข้มงวด ที่จะพิจารณาเรื่องค่าชดเชย แต่สำหรับโครงการเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ฯเราได้มีการยกเว้นหลายเรื่อง อย่างเช่น การจ่ายค่าที่ดิน เราสามารถจ่ายได้ทั้งผู้ที่มีเอกสารสิทธิ์ และผู้ที่ไม่มีเอกสารสิทธิ์ แต่ครอบครองที่ดินนั้น ราคาอาจจะไม่เท่าเทียมกัน แต่เราก็มีการชดเชยให้ อันนี้คือข้อแรก ข้อที่ 2 เรามอบค่าชดเชยให้กับบ้านเรือน ต้นไม้ ผลไม้ อะไรต่างๆที่ชาวบ้านได้ปลูกไว้ที่มีอยู่ในที่ดิน ข้อที่ 3 เราต้องจัดหาที่ดินที่เขาสามารถย้ายจากพื้นที่ที่เราเวนคืนเข้าไปอยู่ โดยการที่เราต้องจัดสรรที่อยู่ให้ด้วย ถ้าเขาไม่เอา อยากจะไปอยู่ที่อื่น เราก็สามารถเปลี่ยนเป็นเงินค่าชดเชยให้เขาต่างหาก จะเห็นว่าโครงการเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ฯเราชดเชยให้เขาถึง 3 อย่าง 3 อย่างดังกล่าวนี้เราไม่เคยทำมาก่อน หลังจากที่เราทำแล้ว โครงการนี้ก็ค่อยๆแก้ไขปัญหาอุปสรรคต่างๆจนสำเร็จ “เอกกษัตริย์แห่งการบริหารจัดการน้ำ ทรงใช้เขื่อนป่าสักฯสอนผู้ว่าฯแก้ปัญหาน้ำท่วม” ตอนนั้นผมจำได้นายสวัสดิ์ วัฒนายากร อดีตอธิบดีกรมชลประทาน คิดว่าถ้าประมูลจ้างเหมาจะช้า เราต้องการสร้างให้เสร็จที่จะฉลองครบรอบ 72 พรรษาให้ทัน ก็เลยตัดสินใจสร้างเอง โดยรับความช่วยเหลือจากทหารช่างบางส่วน ทำให้งานสำเร็จลุล่วงทัน แล้วก็สามารถประหยัดเวลาค่าก่อสร้างได้มาก เมื่อก่อนงานกรมชลประทานเป็นลักษณะงานทำเองเป็นส่วนใหญ่ ต่อมารัฐบาลหลายสมัยในช่วงนั้นก็พยายามที่จะให้บริษัทผู้รับเหมาเข้ามารับงาน โดยการให้กรมชลประทานลดงานทำเองลง แล้วก็แบ่งเป็นงานประมูลจ้างเหมา ซึ่งงานนี้ถ้าพูดถึงแล้วก็มีทั้งส่วนดีและส่วนเสีย (อ่านต่อ)