พระมหากรุณาธิคุณสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 10 สายน้ำสร้างสุขสู่ชาวต.ยางหักอ.ปากท่อ จังหวัดราชบุรี เมื่อวันที่ 10 เมษายน 2534 สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูรครั้งดำรงพระอิสริยยศสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯสยามมกุฎราชกุมาร ได้เสด็จพระราชดำเนินไปทรงเยี่ยมราษฎรและทอดพระเนตรพื้นที่บริเวณโครงการอุทยานเฉลิมพระเกียรติไทยประจัน บ้านไทยประจัน ตำบลยางหัก อำเภอปากท่อ จังหวัดราชบุรี และโครงการสวนป่าสิริกิติ์ บ้านห้วยม่วง ตำบลตะนาวศรี อำเภอสวนผึ้ง จังหวัดราชบุรี ได้พระราชทานพระราชดำริให้พิจารณาโครงการและก่อสร้างแหล่งน้ำเพื่อช่วยเหลือราษฎรให้มีน้ำในการเพาะปลูก และการอุปโภค บริโภค สำนักงานคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ (สำนักงาน กปร.) กรมชลประทาน และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ดำเนินการสนองพระราชดำริ โครงการก่อสร้างอ่างเก็บน้ำในพื้นที่ตำบลยางหัก อำเภอปากท่อ จังหวัดราชบุรี จำนวน 5 แห่งประกอบด้วย อ่างเก็บน้ำบ้านไทยประจันอันเนื่องมาจากพระราชดำริอ่างเก็บน้ำบ้านพุกรูดอันเนื่องมาจากพระราชดำริอ่างเก็บน้ำห้วยพุกรูดอันเนื่องมาจากพระราชดำริอ่างเก็บน้ำเขาหัวแดงอันเนื่องมาจากพระราชดำริและ อ่างเก็บน้ำหินสีตอนบนอันเนื่องมาจากพระราชดำริ เมื่อวันที่ 15 มิถุนายน 2560 ที่ผ่านมานายจรัลธาดา กรรณสูต องคมนตรี พร้อมคณะฯ ติดตามการดำเนินงานการบริหารจัดการน้ำของโครงการพัฒนาแหล่งน้ำอันเนื่องมาจากพระราชดำริในพื้นที่ตำบลยางหัก อำเภอปากท่อ จังหวัดราชบุรี จากพระมหากรุณาธิคุณในสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณบดินทรเทพยวรางกูร อ่างเก็บน้ำบ้านไทยประจันฯลักษณะทำนบดิน ความจุ 60,000 ลูกบาศก์เมตร สามารถช่วยเหลือพื้นที่เพาะปลูก จำนวน 1,300 ไร่ และเพื่อการอุปโภคบริโภค จำนวน 150 ครัวเรือน อ่างเก็บน้ำบ้านพุกรูดฯ เป็นเขื่อนดิน ความจุ 585,280 ลูกบาศก์เมตร ช่วยเหลือพื้นที่เพาะปลูกจำนวน 1,600 ไร่ สำหรับอุปโภคบริโภค จำนวน 320 ครัวเรือน อ่างเก็บน้ำห้วยพุกรูดฯเป็นเขื่อนดิน ความจุ 270,750 ลูกบาศก์เมตร ช่วยเหลือราษฎรในการอุปโภคบริโภค จำนวน 130 ครัวเรือน นอกจากนี้ ยังใช้เพื่อการทำประปาของหมู่บ้าน อ่างเก็บน้ำเขาหัวแดงฯเป็นทำนบดิน ความจุ 612,000 ลูกบาศก์เมตร ช่วยเหลือพื้นที่เพาะปลูก จำนวน 1,000 ไร่ และเพื่ออุปโภคบริโภค จำนวน 308 ครัวเรือน และอ่างเก็บน้ำหินสีตอนบนฯเป็นทำนบดิน ความจุ 1,064,000 ลูกบาศก์เมตร ช่วยเหลือพื้นที่เพาะปลูก จำนวน 1,700 ไร่ สำหรับอุปโภคบริโภคจำนวน 200 ครัวเรือน ปัจจุบันอ่างเก็บน้ำทั้ง 5 แห่ง มีสภาพสมบูรณ์สามารถช่วยเหลือราษฎรตำบลยางหักได้อย่างทั่วถึง มีการบริหารจัดการน้ำที่มีประสิทธิภาพอันเกิดจากการรวมกลุ่มผู้ใช้น้ำอย่างเข้มแข็งของราษฎร รวมถึงการให้ความร่วมมือกับเจ้าหน้าที่ในการดูแลรักษาสภาพพื้นที่ของอ่างเก็บน้ำและระบบส่งน้ำทำให้อ่างเก็บน้ำทั้ง 5 แห่ง ที่เกิดจากพระมหากรุณาธิคุณได้สร้างประโยชน์สุขให้กับราษฎรสมดังพระราชปณิธานที่จะทรงรักษา สืบสาน ต่อยอดการพัฒนาโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริให้บังเกิดประโยชน์สุขกับประชาชนสืบไป นายจันทร์ ทองหวี ประธานกลุ่มผู้ใช้น้ำอ่างเก็บน้ำบ้านพุกรูด สมาชิก อบต. หมู่4 ตำบลยางหัก อำเภอปากท่อ จังหวัดราชบุรีเปิดเผยว่า เมื่อก่อนในพื้นที่ทำมาหากินลำบากมาก เพราะไม่มีแหล่งเก็บกักน้ำ น้ำกินน้ำใช้ โดยจะต้องขุดบ่อน้ำรวมขึ้นมาทั้งหมู่บ้าน ซึ่งจะต้องไปตักน้ำแล้วหาบกลับมาใช้ที่บ้านส่วนน้ำเพื่อการเพาะปลูกก็ไม่มี การเพาะปลูกพืชต่างๆ จึงไม่ได้ผล ราษฎรส่วนใหญ่จึงต้องปลูกพืชแบบทนแล้งจำพวก ข้าวโพด ฝ้าย เท่านั้น อย่างอื่นปลูกไม่ได้ เพราะไม่มีแหล่งน้ำ ผลผลิตบางปีก็ได้สมบูรณ์บางปีก็ไม่ได้ผลผลิตเลยเพราะต้องขึ้นอยู่กับดินฟ้าอากาศเป็นสำคัญ ส่วนนายหนู ทองหวี ราษฎร หมู่ที่ 4 ตำบลยางหัก อำเภอปากท่อ จังหวัดราชบุรี ซึ่งเป็นผู้ทำหน้าที่ในการปิดเปิดประตูส่งน้ำภายใต้การบริหารจัดการน้ำของคณะกรรมการกลุ่มผู้ใช้น้ำ ตำบลยางหัก เปิดเผยว่า ตั้งแต่มีอ่างเก็บน้ำแห่งนี้ขึ้นมา ได้มีการเก็บกักน้ำเพื่อการใช้ประโยชน์ของชุมชน ทำให้ทุกอย่างดีขึ้น มีการเพาะปลูกได้รับผลผลิตที่ดีจำนวนมาก ซึ่งหลายคนในหมู่บ้านได้เข้าอบรมการใช้ชีวิตและประกอบอาชีพตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงฯที่ศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยทรายอันเนื่องมาจากพระราชดำริ จังหวัดเพชรบุรี กลับมาก็นำแนวทางการทำเกษตรแบบผสมผสานมาปฏิบัติใช้ ซึ่งได้รับผลผลิตจากพืชที่ปลูก มีพริก มะกรูด เงาะ มะม่วง ทุเรียน ทำให้ทุกวันมีกินมีใช้และมีรายได้อย่างต่อเนื่อง “ผมเป็นคนเปิดและปิดประตูระบายน้ำ ตอน 6 โมงเช้าเปิดเพื่อส่งน้ำเข้าแปลงเพาะปลูกของราษฎรในพื้นที่ แล้วปิดตอน 5 โมงเย็น เพื่อประหยัดน้ำในอ่างไว้ใช้ได้ตลอดทั้งปี จนกว่าฤดูฝนปีต่อไปจะเข้ามาเติมน้ำลงอ่างเพิ่มเติม”นายหนู ทองหวีกล่าวด้วยรอยยิ้ม มีข้อมูลว่ากลุ่มผู้ใช้น้ำอ่างเก็บน้ำบ้านพุกรูด จะมีการประชุมทุกเดือนเพื่อรับทราบสถานะและปริมาณน้ำในอ่าง พร้อมชี้แจงรายละเอียดต่างๆ ในการบริหารจัดการน้ำในรอบเดือนให้แก่คณะกรรมการ ตลอดถึงแนวทางในการใช้น้ำอย่างมีคุณภาพและประหยัดสูงสุดแก่ชุมชนเพื่อให้เพียงพอกับแปลงเพาะปลูกจำนวนพันกว่าไร่ของพื้นที่ปัจจุบันปริมาณน้ำเพียงพอต่อความต้องการใช้ของราษฎรในพื้นที่