อาจารย์และนักศึกษาปริญญาโท คณะแพทยศาสตร์ มช. ค้นพบประสิทธิภาพไล่ยุงของสารสกัดเหง้าโกฐหัวบัว จากการคัดกรองพืชสมุนไพรพื้นบ้าน 15 ชนิด ที่สามารถใช้ป้องกันยุงกัด ทดแทน DEET ซึ่งเป็นสารเคมีสังเคราะห์ ซึ่งในอนาคตสามารถนำไปพัฒนาเป็นสารไล่ยุงธรรมชาติชนิดใหม่ ที่มีความปลอดภัยต่อผู้ใช้   ผศ.ดร.อนุลักษณ์ จันทร์คำ อาจารย์ประจำภาควิชาปรสิตวิทยา คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ (มช.) พร้อมทีมวิจัยและนักศึกษาปริญญาโท-เอก ของภาควิชาฯ ได้ทำการศึกษาวิจัยเรื่องยุงพาหะนำโรค และผลิตภัณฑ์ธรรมชาติในการควบคุมและป้องกันยุงพาหะนำโรคมาโดยตลอด สำหรับงานวิจัยครั้งนี้คัดเลือกพืชสมุนไพร 15 ชนิด ได้แก่ ส้มป่อย มะตูม โกฐสอ คำแสด สาบเสือ อัญชัน คาวพลู ผกากรอง โกฐหัวบัว แมงลัก โหระพา โกฐน้ำเต้า โกฐกระดูก แฝกหอม และกระทือ มาสกัดน้ำมันหอมระเหยโดยการกลั่นด้วยไอน้ำ และสกัดด้วยตัวทำละลายเคมีได้เป็นสารสกัดเอทานอลและสารสกัดเฮกเซน จากนั้นคัดกรองประสิทธิภาพการป้องกันยุงกัด ของน้ำมันหอมระเหยและสารสกัดจากพืชดังกล่าวกับยุงลายบ้าน โดยใช้คนเป็นเหยื่อล่อ จากผลการทดลองพบว่า สมุนไพรที่มีประสิทธิภาพไล่ยุงสูงสุด คือ สารสกัดเฮกเซนจากเหง้าโกฐหัวบัว ที่มีระยะเวลาป้องกันยุงกัดเท่ากับ 6.5 ชั่วโมง ถือว่ามีประสิทธิภาพเทียบเท่ากับ DEET ซึ่งเป็นสารเคมีไล่ยุงมาตรฐานที่นิยมใช้และมีวางขายแพร่หลายตามท้องตลาด โดยการทดลองครั้งนี้ DEET สามารถป้องกันยุงกัดได้นาน 6.25 ชั่วโมง ตลอดระยะเวลาที่ทำการศึกษาไม่พบอาการระคายเคือง หรืออาการแพ้ใดๆ ในอาสาสมัครที่เข้ารับการทดสอบ ในอนาคตคาดว่าจะสามารถพัฒนาสารสกัดจากเหง้าโกฐหัวบัว เพื่อผลิตเป็นสารไล่ยุงทางเลือกจากธรรมชาติ ที่มีประสิทธิภาพและมีความปลอดภัยสูง สามารถใช้ทดแทนสารเคมีไล่ยุงชนิดต่างๆ โดยเฉพาะ DEET ที่มีอยู่ในท้องตลาดปัจจุบันได้ และขณะนี้คณะผู้วิจัยได้นำสารสกัดจากเหง้าโกฐหัวบัวมาทำเป็นผลิตภัณฑ์เรียบร้อยแล้ว และกำลังอยู่ในระหว่างขั้นตอนการยื่นขอจดสิทธิบัตร