จบมหากาพย์ค่าโง่ทางด่วน กทพ.-บีบีซีดี รอบ 2 “โฆษกอัยการ” เผย 22 มิ.ย.ศาลฎีกาตัดสิน กทพ. ชนะคดี ไม่ต้องจ่าย 9.6 พันล้าน ชดใช้เงินเพิ่มก่อสร้างทางด่วนบางนา-บางปะกงปี 38 ให้บีบีซีดี ศาลชี้ ไม่มีสิทธิเรียกราคาคงที่เพิ่มเติมฐานลาภ กทพ.มิควรได้ เหตุการณ์ทำสัญญาจ้างเหมาสร้างทางด่วนไม่สุจริตแต่ต้นขัดกฎหมายความสงบเรียบร้อยของประชาชน เมื่อวันที่ 29 มิ.ย.60 ร.ท.สมนึก เสียงก้อง โฆษกสำนักงานอัยการสูงสุด เปิดเผยถึงกรณี พนักงานอัยการสำนักงานคดีแพ่ง แก้ต่างสู้คดีให้การทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) ชนะคดีในชั้นศาลฎีกาทำให้รัฐไม่ต้องจ่ายเงินจำนวน 9,683 ล้านบาทเศษ กรณีกิจการร่วมค้าบีบีซีดี คู่สัญญาสัมปทานก่อสร้างทางด่วน ยื่นฟ้องสืบเนื่องจากการก่อสร้างโครงการทางด่วนสายบางนา - บางพลี – บางปะกง เมื่อปี 2538ว่า ได้รับแจ้งจากนางอัมราวดี ศัลยพงษ์ อธิบดีอัยการสำนักงานคดีแพ่งว่า เมื่อวันที่ 22 มิ.ย.ที่ผ่านมา ศาลแพ่งได้อ่านคำพิพากษาศาลฎีกาหมายเลขดำที่ 1190/2560 ที่กิจการร่วมค้าบีบีซีดี ได้เป็นโจทก์ ยื่นฟ้อง กทพ. เป็นจำเลย ต่อศาลแพ่งที่เป็นศาลชั้นต้นในคดีหมายเลขดำที่ 721/2551 เรื่องมูลลาภมิควรได้ จำนวนทุนทรัพย์ 9,683,686,389.76 บาท โดยศาลฎีกา ได้พิพากษายกฟ้อง เท่ากับ กทพ. จำเลย ชนะคดี โดยโฆษกสำนักงานอัยการสูงสุด ได้ย้อนความเป็นมาของคดีนี้ว่า เมื่อปี 2538 กทพ.จำเลย ได้ว่าจ้างกิจการ ร่วมค้าบีบีซีดี โจทก์ และบริษัท ช.การช่าง จำกัด (มหาชน) ก่อสร้างโครงการทางด่วนสายบางนา - บางพลี – บางปะกง วงเงินตามสัญญา 25,192,950,000 บาท โดยได้ก่อสร้างแล้วเสร็จ และ กทพ.ได้ชำระค่าก่อสร้างตามสัญญาแล้ว แต่ต่อมาปี 2543 กิจการร่วมค้าบีบีซีดี โจทก์ และ บมจ. ช.การช่างได้ให้ กทพ.จำเลย ชำระเงินค่าคงที่ที่เพิ่มขึ้นจากสัญญาอีกจำนวน 6,039,893,254 บาท แต่ กทพ.ปฏิเสธ ต่อมากิจการร่วมค้าบีบีซีดี โจทก์คดีนี้ กับ บมจ. ช.การช่าง จึงได้ยื่นข้อเรียกร้องดังกล่าวให้อนุญาโตตุลาการวินิจฉัย ต่อมาวันที่ 20 ก.ย.44 อนุญาโตตุลาการได้ชี้ขาดให้ กทพ.ชำระเงินจำนวนดังกล่าว พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปีนับแต่วันที่ 15 ม.ค.43 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ ซึ่ง กทพ.ได้ปฏิเสธคำชี้ขาดดังกล่าวตามมติคณะรัฐมนตรี ต่อมาเมื่อวันที่ 1 พ.ค.45 กิจการร่วมค้าบีบีซีดี กับบมจ. ช.การช่าง ได้ยื่นคำร้องต่อศาลแพ่งกรุงเทพใต้ ให้พิพากษาบังคับตามคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการ ซึ่งศาลแพ่งกรุงเทพใต้ ได้พิพากษาให้ฝ่ายกิจการร่วมค้าบีบีซีดี ชนะคดีและบังคับให้เป็นไปตามคำวินิจฉัยของ อนุญาตโตตุลาการ โดยพนักงานอัยการ ได้ยื่นอุทธรณ์คำพิพากษาของศาลแพ่งกรุงเทพใต้ดังกล่าว ไปยังศาลฎีกาตามขั้นตอนของกฎหมายแล้วต่อมาศาลฎีกา จึงมีคำพิพากษาที่ 7277/2549 ให้ กทพ.ชนะคดี ไม่ต้องจ่ายเงินค่าคงที่ที่เพิ่มขึ้นจากสัญญาอีกจำนวน 6,039,893,254 บาทให้กับโจทก์ โดยศาลฎีกาวินิจฉัยว่าการทำสัญญาจ้างเหมาออกแบบรวมก่อสร้างทางด่วนนั้น เกิดจากการกระทำโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายอันเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชน จึงไม่มีผลผูกพัน กทพ. หากบังคับคดีให้ปฏิบัติตามคำวินิจฉัยชี้ขาดของอนุญาโตฯนั้น ย่อมเป็นการขัดต่อความสงบเรียบร้อย ของประชาชน โดยหลังจาก กิจการร่วมค้าบีบีซีดี แพ้คดีดังกล่าวแล้ว เมื่อวันที่ 11 ก.พ.51 กิจการร่วมค้าบีบีซีดี ก็ได้ยื่นฟ้อง กทพ. เป็นคดีใหม่ต่อศาลแพ่งในคดีหมายเลขดำที่ 72/2551 ในมูลคดีลาภมิควรได้ทุนทรัพย์ 9,683,686,389.76 บาท โดยศาลแพ่งที่เป็นศาลชั้นต้นได้มีคำพิพากษาเมื่อวันที่ 15 ก.ย.54 ให้ กทพ.แพ้คดี ให้ชำระเงินจำนวน 5,000 ล้านบาทพร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปีนับแต่วันที่ 15 ก.พ.50 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ ให้แก่กิจการร่วมค้าบีบีซีดี โจทก์ และให้ กทพ.ชำระค่าฤชาธรรมเนียมพร้อมค่าทนาย แทนกิจการร่วมค้าบีบีซีดี โจทก์อีกด้วยจำนวน 300,000 บาท ซึ่งพนักงานอัยการสำนักงานคดีแพ่ง ก็ได้ยื่นอุทธรณ์ให้กับ กทพ. คัดค้านคำพิพากษาศาลแพ่งดังกล่าว และต่อมาในวันที่ 27 ธ.ค.56 ศาลอุทธรณ์ได้พิพากษากลับยกฟ้อง โดยกิจการร่วมค้าบีบีซีดี โจทก์ ได้ยื่นฎีกาคัดค้านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ดังกล่าว กระทั่งเมื่อวันที่ 22 มิ.ย.มีการอ่านคำพิพากษาศาลฎีกาที่ยืนตามศาลอุทธรณ์โดยให้ยกฟ้องคดี ร.ท.สมนึก โฆษกสำนักงานอัยการสูงสุด กล่าวว่า การตัดสินที่ให้ กทพ.ชนะคดีดังกล่าว ศาลฎีกาได้วินิจฉัยโดยสรุปว่า พฤติการณ์ของกิจการร่วมค้าบีบีซีดี โจทก์ กับพวกถือได้ว่าโจทก์กับพวกทำสัญญาจ้างเหมาออกแบบรวมก่อสร้างกับ กทพ.จำเลย โดยไม่สุจริตมาตั้งแต่ต้น โจทก์จึงมีส่วนร่วมในการกระทำโดยมิชอบด้วยกฎหมายอันเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชนเป็นผลให้สัญญาจ้างเหมาออกแบบรวมก่อสร้างไม่มีผลผูกพันจำเลย แม้โจทก์กับพวก จะทำงานตามสัญญาจนเสร็จสิ้น และจะส่งมอบโครงการทางด่วน โดยมีราคาคงที่เพิ่มเติมในภายหลังก็ตาม ราคาคงที่เพิ่มเติมดังกล่าวก็ถือว่าโจทก์กระทำเพื่อชำระหนี้เป็นการอันฝ่าฝืนข้อห้ามตามกฎหมาย โจทก์จึงไม่มีสิทธิเรียกราคาคงที่เพิ่มเติมและค่าดอกผลจากจำเลยฐานลาภมิควรได้ ตามมาตรา 411 “ การที่พนักงานอัยการสำนักงานคดีแพ่ง เข้าไปแก้ต่างต่อสู้คดีให้กับ กทพ.จนชนะคดีดังกล่าว ถือเป็นการปฏิบัติภารกิจหน้าที่ในฐานะทนายแผ่นดินในการที่จะรักษาผลประโยชน์ของรัฐ จากการแก้ต่างและสู้จนชนะในชั้นศาลฎีกาเป็นผลทำให้รัฐไม่ต้องจ่ายเงิน จำนวน 9,683 ล้านบาทเศษ” โฆษกสำนักงานอัยการสูงสุด กล่าวและว่า สำหรับคดีของ กทพ.กับ บีบีซีดี ในส่วนนี้จึงถือว่าสิ้นสุดตามคำพิพากษาของศาลฎีกาแล้ว