อนุรักษ์วัฒนธรรมท้องถิ่นวิถีลาวเวียง “นำเอาจุดเด่นในหมู่บ้านมาเชื่อมโยงกับถนนสายวัฒนธรรมเพื่อให้นักท่องเที่ยวได้สัมผัสวิถีชีวิตชาวลาวเวียง โดยมีกลุ่มโฮมสเตย์จำนวน 22 หลัง ไว้รองรับนักท่องเที่ยว ซึ่งแต่ละหลังจะขนาดแตกต่างกัน กระจายกันไปตามหมู่บ้าน ซึ่งผู้ที่มาพักโฮมสเตย์นอกจากจะได้มาชมวิถีชีวิตของคนที่นี่แล้ว ยังจะได้ชิมอาหารพื้นบ้านตามแบบฉบับของชาวลาวเวียง” ชุมชนหาดสองแคว ต.หาดสองแคว อ.ตรอน จ.อุตรดิต์ มีบรรพบุรุษมาจากลาวเวียงจันทร์ ยืนยันได้จากภาษาพูด ประเพณีอันเก่าแก่อันเป็นเอกลักษณ์ รวมทั้งอาหารและขนมท้องถิ่นของชาวลาวเวียง ซึ่งจากคำบอกเล่าของคนเฒ่าคนแก่ได้กล่าวว่า บรรพบุรุษของตนถูกกวาดต้อนมาจากเมืองลาวเวียงจันทร์ ในฐานะเชลยศึกสงคราม แรกเริ่มถูกส่งเข้ามาตั้งหลักแหล่งอยู่บนฝั่งตะวันตกของแม่น้ำน่านที่หมู่บ้านกองโค ต.คอรุม อ.พิชัย จ.อุตรดิตถ์ ในปัจจุบัน เมื่อชุมชนขยายใหญ่ขึ้นจึงขยายขึ้นไปทางทิศเหนือตามแม่น้ำน่าน ถึงเขตบ้านแก่งเกิดป็นชุมชนเล็กๆได้แก่ บ้านวังสะโม บ้านหาดสองแคว บ้านเด่นสำโรง และบ้านวังแดง น.ส.วิภาพร ชันยาสูบ ผู้ใหญ่บ้าน หมู่ 2 บ้านหาดสองแคว ต.หาดสองแคว อ.ตรอน เล่าว่า สิ่งเดียวที่จะอนุรักษ์วัฒนธรรมของชาวลาวเวียงให้อยู่คู่กับชุมชนไปตลอดจะต้องมีกิจกรรมที่บอกเล่าเรื่องราวของชาว ต.หาดสองแคว จึงเกิด “ถนนสายวัฒนธรรมลาวเวียงหาดสองแคว” โดยจัดขึ้นทุกวันศุกร์ ในสัปดาห์แรกของเดือน ความยาวของถนนอยู่ประมาณ 600 เมตร ภายในงานมีร้านค้าตลอด2 ข้างทางประมาณ จำนวน100 ร้าน จำหน่ายสินค้าในชุมชน เช่น ผ้าทอ กล้วย มะม่วงแปรรูป ข้าวเกรียบกุ้ง ขนมงาตัด หัวปลีทอด แกงหยวก น้ำพริกปลาร้า แกงโอ๊ะเอ๊ะ อั่วบักเผ็ด แจ่วและผักต้ม เป็นต้น “ที่นี่ใช้ความเป็นวิถีชีวิตและวัฒนธรรม การแต่งกาย ภาษา ซึ่งเป็นเอกลักษณ์ที่เหมือนกันหมด ดังนั้นร้านค้าที่มาจำหน่ายภายในถนนสายวัฒนธรรมฯ จะเป็นคนในชุมชนเท่านั้น เราไม่ได้เปิดพื้นที่ให้แม่ค้าภายนอกเข้ามาขาย เนื่องจากพี่น้องในชุมชนมีด้วยกัน 7 หมู่บ้าน แต่ละหมู่บ้านก็มีของดี เช่น ทำอาหารอร่อย แปรรูปผลไม้ มีกลุ่มอาชีพ ภูมิปัญญาท้องถิ่นที่สามารถทำงานประดิษฐ์ฝีมือได้ ซึ่งจะเป็นช่องทางกระจายและจำหน่ายสินค้าในชุมชน อันเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจในพื้นที่” ได้นำเอาจุดเด่นในหมู่บ้านมาเชื่อมโยงกับถนนสายวัฒนธรรมเพื่อให้นักท่องเที่ยวได้สัมผัสวิถีชีวิตชาวลาวเวียง โดยมีกลุ่มโฮมสเตย์จำนวน 22 หลัง รองรับบริการนักท่องเที่ยว ซึ่งแต่ละหลังจะขนาดแตกต่างกัน กระจายไปตามหมู่บ้าน ซึ่งผู้ที่มาพักโฮมสเตย์นอกจากจะได้มาชมวิถีชีวิตของคนที่นี่แล้ว ยังได้ชิมอาหารพื้นบ้านตามแบบฉบับของชาวลาวเวียงและได้ท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ริมน่าน ปั่นจักรยานเที่ยวชมหมู่บ้าน ทำบุญไหว้พระที่วัดหาดสองแคว ชมพิพิธภัณฑ์วัดหาดสองแคว ซึ่งเป็นวัดที่บันทึกตำนานเรื่องเล่าเมืองตาชูชก และเก็บรักษาวัตถุโบราณไว้เป็นศูนย์เรียนรู้ให้ชนรุ่นหลัง นอกจากนี้นักท่องเที่ยวได้เที่ยวชมไร่นาสวนผสมในพื้นที่ เช่น กล้วย และมะม่วงโชคอนันต์ที่ขึ้นชื่อของที่นี่ มีผลผลิตออกสู่ตลาดทั้งปี ศูนย์เพาะกล้าพันธุ์ไม้จำหน่าย และไปดูต้นยางขนาดใหญ่ เป็นต้น ผู้ใหญ่บ้าน หมู่ 2บ้านหาดสองแคว บอกว่า ในช่วงเช้าตรู่นักท่องเที่ยวจะได้ใส่บาตรพระร่วมกับคนเฒ่าคนแก่ ซึ่งการใส่บาตรยามเช้าของคนหาดสองแควไม่ธรรมดาเหมือนที่อื่นๆ เพราะเป็นการ “ตักบาตร หาบจังหัน” หรือ ประเพณีการหาบสาแหรก เป็นประเพณีท้องถิ่นที่สืบทอดจากบรรพบุรุษ โดยชาวบ้านจะตักข้าวใส่บาตรพระเพียงอย่างเดียว ส่วนสำรับอาหารคาว-หวานจะใส่ภาชนะแล้วตั้งจานไว้หัวตอหรือแป้นวางหน้าบ้านแล้วชาวบ้านที่หาบสาแหรกผ่านนำสำรับที่วางไว้หาบติดสาแหรกของตนตามพระไปยังวัด เมื่อพระฉันเรียบร้อย คนหาบสาแหรกก็จะนำภาชนะไปส่งยังบ้านที่เป็นเจ้าของ “จากการนำจุดเด่นของหมู่บ้านมาเชื่อมโยงกับถนนสายวัฒนธรรมดังกล่าว ส่งผลให้มีนักท่องเที่ยวที่เข้าพักโฮมสเตย์เพิ่มขึ้น เฉลี่ย จำนวน3 คณะต่อ 1 เดือน ซึ่งถือว่าประสบความสำเร็จระดับหนึ่ง อย่างไรก็ตามค่าใช้จ่ายที่พักโฮมสเตย์บ้านหาดสองแควนั้น ราคา 350 บาท ต่อคนต่อคืน ราคานี้รวมที่พัก อาหารเช้า/เย็น และอาหารใส่บาตร โดยแต่ละบ้านทางกลุ่มโฮมสเตย์หัก 20% เพื่อนำมาใช้ในการพัฒนากลุ่มโฮมสเตย์ต่อไป” เนื่องจากอาชีพหลักของชาวบ้านที่นี่ส่วนใหญ่ทำนาและทำสวน โดยเฉพาะหมู่ 2 บ้านหาดสองแคว มีจำนวนผู้สูงอายุจำนวนมากและกำลังเข้าสู่หมู่บ้านสูงวัย บางส่วนคนที่มีที่ดินจะปล่อยใช้คนอื่นเช่าแล้วเก็บค่าเช่าอยู่บ้าน ส่วนคนที่ว่างงานก็จะเหงาอยู่บ้านคนเดียว ประกอบกับลูกหลานไปทำงานต่างถิ่น ซึ่งจะมีความเสี่ยงที่จะเกิดปัญหาทางด้านสุขภาวะในอนาคต จากปัญหาดังกล่าวจึงมีการรวมกลุ่มผู้สูงอายุในหมู่บ้านเพื่อมาฝึกอาชีพและรวมกลุ่มอาชีพเพื่อสร้างงานสร้างรายได้ให้แก่ตนเอง ผู้ใหญ่บ้าน หมู่ 2บ้านหาดสองแคว ทิ้งท้ายว่า จุดเด่นของที่นี่คือการดูแลลูกบ้านในลักษณะระบบเครือญาติโดยเน้นให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการแสดงออก ทั้งการทำกิจกรรม และการรวมกลุ่มอาชีพ เพื่อให้เกิดความรักความสามัคคีกันในหมู่บ้าน ส่งผลให้เกิดพลังชุมชนเพื่อพัฒนาชุมชนของตนเอง ทีมข่าวภูมิภาค