ทีมนักวิจัยมหาวิทยาลัยพะเยา (มพ.) นำโดยว่าที่ร้อยตรี ดร.ฉัตรมงคล สุวรรณภูมิ อาจารย์ประจำสาขาการประมง คณะเกษตรศาสตร์และทรัพยากรธรรมชาติ ผู้ค้นพบ “กบหัวโตหลงชวน และกบหนองเล็กเชียงใหม่” กบสายพันธุ์ใหม่ที่มีความแตกต่าง ทั้งลักษณะทางสัณฐานวิทยาและทางพันธุ์กรรม คณะวิจัยได้ทำงานร่วมกับนักวิจัยจาก Kunming Institute of Zoology (CAS) ประเทศจีน ลงพื้นที่เก็บตัวอย่างกบหัวโตหลงชวน (Longchuan big-headed frog) ได้จากลำห้วยในป่าเขตเมืองหลงชวน ทางทิศตะวันตกของมณฑลยูนาน ประเทศจีน โดยการกระจายพันธุ์สามารถพบในตะวันตกของมณฑลยูนาน และชายแดนระหว่างจีนและเมียนมา “สำหรับกบหัวโตหลงชวน ที่ค้นในประเทศจีนนั้น หากดูด้วยตาเปล่าอาจจะมองว่าเหมือนกบในสกุล Limnonectes ทั่วๆไป แต่ด้วยลักษณะทางพันธุกรรมที่โดดเด่น ซึ่ง เป็นความพิเศษและบ่งบอกว่ากบดังกล่าว เป็นชนิดใหม่และครั้งแรกที่มีการค้นพบ ส่วนกบที่ค้นพบครั้งแรกในประเทศไทย คือ กบหนองเล็กเชียงใหม่ (Chiang Mai Rain-Pool Frog) เป็นกบที่มีความแตกต่างกับกบชนิดอื่นๆในสกุล Fejervarya ทั้งลักษณะทางสัณฐานวิทยา พันธุกรรม และเสียงร้อง สำหรับแหล่งที่อยู่อาศัยของกบหนองเล็กเชียงใหม่ ปัจจุบันเราพบการกระจายพันธุ์เฉพาะ บ้านม่อนจอง อ.อมก๋อย จ.เชียงใหม่ เท่านั้น กบทั้ง 2 สายพันธุ์ใหม่นี้ ถือเป็นแหล่งอาหารโปรตีนในชุมชมท้องถิ่น ซึ่งยังไม่มีการเพาะเลี้ยงในเชิงพาณิชย์ แต่ซึ่งสิ่งที่ต้องทำจากนี้ โดยเฉพาะในส่วนของกบหนองเล็กเชียงใหม่ พบแถวหนองน้ำต่างๆ อาจจะได้รับสารพิษจาก สารเคมีและยาฆ่าแมลง ที่เกิดจากกิจกรรมของชาวชุมชน ซึ่งมีความเสี่ยงอย่างมากต่อการสูญพันธุ์ ดังนั้น ต้องให้ความรู้ประชาชนเกี่ยวกับกบสายพันธุ์นี้ ในแง่มุมของการใช้ประโยชน์ควบคู่กับการอนุรักษ์ต่อไปเช่นกัน "แม้จะยังไม่มีการนำมาใช้ในเชิงพาณิชย์ แต่ถือเป็นองค์ความรู้ด้านการศึกษาความหลากหลายทางชีวภาพและสิ่งแวดล้อมที่บ่งบอกถึงความอุดมสมบูรณ์ของประเทศ รวมถึงยังทำให้ได้มีศึกษาพันธุกรรมสัตว์ใหม่ๆ อีกด้วย ซึ่งการค้นพบเหล่านี้ มีประโยชน์ต่อวงการศึกษาไทย งานวิจัยของไทย รวมถึงพัฒนาเป็นแหล่งโปรตีนต่อยอดไปสู่การเกษตร และการส่งเสริมรายได้ อาชีพให้แก่คนไทย" นักวิจัย กล่าวทิ้งท้าย -------------------