“....ไทยแลนด์ ปู๊น ปู๊นนน” เสียงเชียร์ประเทศไทยที่ดังกระหึ่มเช่นนี้ เชื่อว่าเราทุกคนต่างคุ้นเคยกันเป็นอย่างดี เพราะนี่คือสัญญานที่บ่งบอกว่า ณ นาทีนั้น กำลังมี “ตัวแทน” ของประเทศไทยยืนอยู่บนเวทีการแข่งขัน เพื่อปฏิบัติหน้าที่สร้างชื่อเสียงและเกียรติภูมิให้กับประเทศของเราอยู่ โดยวันที่ 6-15 กรกฎาคม 2560 ถือเป็นอีกช่วงเวลาสำคัญที่เราต้องลุกขึ้นมาให้กำลังใจแก่ 4 เด็กไทยซึ่งเป็นตัวแทนของประเทศในการแข่งขัน “เคมีโอลิมปิก” ครั้งที่ 49 ที่ประเทศไทยได้รับเกียรติจากนานาชาติให้เป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันที่ มหาวิทยาลัยมหิดล วิทยาเขตศาลายา อ.พุทธมณฑล จ.นครปฐม โดยมีกระทรวงศึกษาธิการ สถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.) มูลนิธิส่งเสริมโอลิมปิกวิชาการ และพัฒนามาตรฐานวิทยาศาสตร์ศึกษา ในพระอุปถัมภ์สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ (สอวน.) สมาคมเคมีแห่งประเทศไทย ในพระอุปถัมภ์สมเด็จพระเจ้าลูกเธอเจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารรี และมหาวิทยาลัยมหิดล เป็นองค์กรหลักจัดงาน ที่สำคัญ การแข่งขันครั้งนี้ ยังเป็นวาระสำคัญที่จะได้เฉลิมพระเกียรติ ศาตราจารย์ ดร.สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี ผู้ทรงเป็น “เจ้าฟ้านักวิทยาศาสตร์” ในฐานะศาสตราจารย์ด้านเคมีที่มีชื่อเสียงของโลก ในวโรกาสทรงเจริญพระชนมายุครบ 60 พรรษา ในวันที่ 4 กรกฎาคม 2560 อีกด้วย นอกจากนี้ยังได้รับพระมหากรุณาธิคุณจาก สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินทรงเปิดการแข่งขัน ณ มหิดลสิทธาคาร มหาวิทยาลัยมหิดล วิทยาเขตศาลายา ในวันที่ 7 กรกฎาคม 2560 โดยมีเยาวชนจาก 76 ประเทศ ผู้สังเกตการณ์ 3 ประเทศ พร้อมกรรมการฝ่ายต่างๆ มาเข้าร่วมไม่ต่ำกว่า 600 คน สำหรับ 4 เยาวชนที่จะเป็นตัวแทนของประเทศไทย ประกอบด้วย 1) นายบวรทัต บุญรักษ์ โรงเรียนมหิดลวิทยานุสรณ์ 2) นายปภาภัทร์ ดิสนีเวทย์ โรงเรียนหิดลวิทยานุสรณ์ 3) นายวริศ จันทรานุวัฒน์ โรงเรียนสาธิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ฝ่ายมัธยม และ 4) นางสาวอภิสรา กวียานันท์ โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา โดย บวรทัต กล่าวว่า รู้สึกภูมิใจที่ได้เป็นตัวแทนประเทศไทย ซึ่งจะพยายามอย่างเต็มที่ อย่างไรก็ตาม โดยส่วนตัวมองว่า การได้เหรียญอะไรคงไม่สำคัญขอแค่ได้ทำอย่างเต็มที่ก็พอใจ และสิ่งที่สำคัญ คือ การแข่งขันครั้งนี้ทุกคนไม่ใช่คู่แข่งขัน แต่จะเป็นเพื่อนกัน ได้แลกเปลี่ยนความรู้กันทั้งในวันนี้ และอนาคตต่อๆไป ขณะที่ ปภาภัทร์ บอกว่า ดีใจที่ได้เป็นตัวแทนของประเทศลงแข่งขัน “เคมีโอลิมปิก” และจะพยายามอย่างเต็มที่เช่นกัน โดยที่ผ่านมามีการเตรียมตัวมาอย่างดีทั้งจากการอ่านหนังสือ ฝึกหัดทำข้อสอบเก่า รวมถึงมีอาจารย์มาคอยให้ความรู้เสริม ซึ่งมั่นใจว่าจะสามารถทำข้อสอบในการแข่งขันได้ เช่นเดียวกับ วริศ ที่เปิดเผยว่า มีการเตรียมตัวมาอย่างดีทั้งการอ่านหนังสือและฝึกปฏิบัติในห้องแลป ทำให้ที่ผ่านมาอาจมีบางจังหวะที่รู้สึกเหนื่อยบ้าง แต่ก็สามารถจัดการได้ ด้วยการแบ่งเวลาพักผ่อนให้สมองหายตึงเครียด โดยเวลานี้มีความพร้อมอย่างเต็มที่ในการลงแข่งขัน ส่วน “อภิสรา” นักเรียนหญิงหนึ่งเดียวของตัวแทนประเทศไทยครั้งนี้ กล่าวว่า อยากขอบคุณอาจารย์ทุกท่านที่ช่วยชี้แนะทั้งในเรื่องวิชาการและเรื่องอื่นๆ รวมทั้งพี่ๆจาก สสวท. พ่อ และแม่ ที่ดูแลเป็นกำลังใจมาตลอด การแข่งขันครั้งนี้นอกจากจะมีความมั่นใจและรับปากว่าจะทำอย่างเต็มที่แล้ว ยังหวังว่าบรรยากาศของการแข่งขันจะช่วยกระตุ้นให้คนที่ไม่ชอบวิชาวิทยาศาสตร์เพราะอาจมองว่าเป็นเรื่องยากได้หันมาสนใจวิชานี้ เพราะมั่นใจว่า ถ้าได้เข้ามาเรียนรู้จริงๆ จะรู้ว่าไม่ยากอย่างที่คิด และทุกคนจะชอบวิชานี้ สุดท้ายนี้ ขอเชิญชวนคนไทยทุกคน มาร่วมเชียร์และส่งแรงใจให้กับผู้แทนประเทศไทยทั้ง 4 คน ให้ประสบความสำเร็จในการแข่งขัน โดยสามารถติดตามข่าวสารได้จากเว็บไซต์ http://icho2017.sc.mahidol.ac.th และเฟสบุ๊ค https://www.facebook.com/icho2017 ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป