26 ก.ค.นี้"ดร.กมล"เตรียมชี้แจงแผนการศึกษาชาติต่อ 11 กระทรวง สกศ.ตั้งอนุกรรมการฯ 6 ชุด รับ 6 ยุทธศาสตร์ ดร.กมล รอดคล้าย เลขาธิการสภาการศึกษา (สกศ.) เปิดเผยว่า หลังจากเดินสายแถลงแผนการศึกษาแห่งชาติ (พ.ศ.2560-2579) ครบ 4 ภูมิภาคแล้ว สิ่งที่ สกศ.จะต้องดำเนินการต่อไป คือ การส่งแผนการศึกษาแห่งชาติ ให้หน่วยงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องไปดำเนินการ โดยมี พล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง รองนายกรัฐมนตรี กำกับดูแลให้เป็นไปตามแผน เนื่องจากตามกรอบการขับเคลื่อนแผนการศึกษาแห่งชาติ ที่คณะรัฐมนตรี(ครม.) อนุมัตินั้น มีข้อกำหนดให้แผนการศึกษาแห่งชาติ ปรากฏเป็นรูปธรรมใน 3 เรื่อง ดังนี้ 1.ให้มีการปรับปรุงแก้ไขแผนฯ ตามที่หน่วยงานต่าง ๆ เสนอมา 2.ให้ส่งแผนฯ ที่มีการปรับปรุงแล้ว ให้หน่วยงานต่างๆ อย่างน้อย 11กระทรวง และ 53 หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการศึกษาไปดำเนินการตามแผนฯ และ 3.ให้รองนายกรัฐมนตรี กำกับดูแลมีการดำเนินการตามแผนที่วางไว้ ดร.กมล กล่าวต่อไปว่า ขณะนี้การดำเนินการในขั้นตอนที่ 1 การปรับปรุงและแถลงแผนการศึกษาแห่งชาติ 4 ภูมิภาคเรียบร้อยแล้ว ขั้นตอนต่อไปคือ ส่งให้หน่วยงานต่างๆ ไปดำเนินการโดยมีรองนายกรัฐมนตรีกำกับดูแล ซึ่งในวันที่ 26 ก.ค.60 นี้ สกศ.จะจัดประชุมหน่วยงานหลักที่เกี่ยวข้องอย่างน้อย 11 กระทรวง เพื่อชี้แจงว่าแผนแต่ละเรื่องเกี่ยวข้องกับหน่วยงานนั้น ๆ อย่างไร และต้องดำเนินการอย่างไรบ้าง เช่น สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ต้องจัดสอนสะเต็มศึกษา กี่โรงเรียน ต้องทำเรื่องการอ่านออกเขียนได้ การสอนภาษาอังกฤษระดับไหน, สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา(สอศ.) ต้องจัดทวิภาคีเท่าไหร่ หรือองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น(อปท.) ต้องจัดศูนย์เด็กก่อนเกณฑ์ที่ได้มาตรฐานจำนวนกี่ศูนย์ ซึ่งเรื่องเหล่านี้มีรายละเอียดที่ได้ตกลงกันไว้ก่อนหน้าแล้วว่าแต่ละเรื่องใครจะเป็นผู้รับผิดชอบ ซึ่งแต่ละหน่วยรับรู้แล้วว่าตนเองจะต้องทำอะไร เพื่อจะตั้งงบฯ รอไว้ "การขับเคลื่อนแผนการศึกษาแห่งชาติ ในขั้นตอนต่อไป จะเป็นการขับเคลื่อนผ่านคณะกรรมการสภาการศึกษา ซึ่งจะมีการแต่งตั้งในเร็วๆ นี้ จากนั้นจะแต่งตั้งคณะอนุกรรมการอย่างน้อย 6 ชุด ตาม 6 ยุทธศาสตร์ ของแผนการศึกษาแห่งชาติ ประกอบด้วย 1.ยุทธศาสตร์ด้านความมั่นคง ผ่านการสร้างความเชื่อมั่นในกลุ่มประเทศอาเซียนและประชาคมโลก 2.ยุทธศาสตร์ด้านการสร้างความสามารถในการแข่งขัน 3.ยุทธศาสตร์ด้านการพัฒนาและเสริมสร้างศักยภาพคนของชาติ 4.ยุทธศาสตร์ด้านการสร้างโอกาส ความเสมอภาค และความเท่าเทียมกันทางสังคม 5.ยุทธศาสตร์ด้านการสร้างการเติบโตบนคุณภาพชีวิต ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และ 6.ยุทธศาสตร์ด้านการปรับสมดุลและการบริหาร โดยคณะอนุกรรมการ มีวาระ 4 ปี ทำหน้าที่ติดตามประเมินผล ว่าแต่ละหน่วยงานได้ทำตามยุทธศาสตร์ครบถ้วนหรือไม่ ทั้งนี้ คณะอนุกรรมการ อาจทำโครงการเสริมเพื่อเป็นการนำร่อง เป็นงานวิจัย หรือทดลอง เพื่อเป็นการหาองค์ความรู้สำหรับแนะนำหน่วยงานต่างๆ ด้วย" ดร.กมล กล่าว